xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.เตรียมพร้อมรับลอจิสติกส์ผ่านระบบราง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.ทลฉ.ระหว่างบรรยายผังการใช้ที่ดินของท่าเรือแหลมฉบัง รองรับจำนวนตู้สินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ศูนย์ข่าวศรีราชา -ทลฉ.เร่งเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ เพื่อประกอบการยกตู้สินค้าขึ้น-ลงรถไฟ( Single Rail Transfer Operator:SRTO) หลังบอร์ดการท่าเรือฯ ผ่านแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านหลัง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการขนส่งตู้สินค้าระบบรางและกิจกรรมตู้สินค้าเปล่า รองรับการไหลเวียนของจำนวนตู้สินค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายเฉลิมเกียรติ์ สลักคำ ผู้อำนวยการ ท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.) จังหวัดชลบุรี กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งระบบรางของท่าเรือแหลมฉบัง ว่า หลังจากคณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท.มีมติเห็นชอบแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่หลังท่าของ ทลฉ.จำนวน 600 ไร่โดยแบ่งออกเป็น 7 ส่วน และในส่วนที่ 4 เห็นชอบให้พัฒนาเป็นย่านขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ หรือ( Rail Related Container Yard) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งตู้สินค้าทางระบบรางและกิจกรรมตู้สินค้าเปล่า ซึ่งถือเป็นหัวใจในการบริหารการไหลเวียนตู้สินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต

ล่าสุด กทท.ยังมีมติให้ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นผู้ประกอบการยกตู้สินค้าขึ้น-ลงรถไฟ( Single Rail Transfer Operator:SRTO) และให้จัดสร้างการบริหารจัดการในรูปแบบหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ซึ่งการดำเนินงานในระยะสั้นจะเริ่มตั้งแต่การขออนุมัติงบประมาณทำการ และงบลงทุนเพิ่มเติม รวมทั้งการดำเนินการเช่าเครื่องมือยกขนตู้สินค้า การจัดหาอุปกรณ์อื่นๆเพื่อเติม ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เพื่อให้เริ่มเข้าไปถ่ายโอนกิจการจาก TLC มาประกอบการได้เองตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป จนกว่าการพัฒนาโครงการเต็มรูปแบบจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ประมาณเดือนมกราคม 2554
แผนผังพื้นที่ 600 ไร่ หลังท่า ทลฉ.ซึ่งถูกพัฒนาเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ
แผนประกอบการยกขนตู้สินค้าขึ้น-ลงรถไฟในระยะยาว จะมี 2 เฟส เฟสแรกเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 ต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 2553 และให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2554 (ประมาณเดือนธันวาคม 2553) เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการระบบรถไฟรางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2553 และจะเปิดใช้งานในต้นปี 2554

สำหรับเฟส 2 เป็นช่วงที่คาดว่าปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามาใช้บริการจะเพิ่มสูงขึ้น จนถึงระดับเกินกว่า 1 ล้านทีอียูต่อปี จึงจำเป็นต้องจัดซื้อเครื่องมือยกขน และขยายลานกองเก็บตู้สินค้า พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมให้เพียงพอ ต่อปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเริ่มต้นในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2557-2559

พัฒนาระบบ Hub and Spoke

นอกจากนั้นท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีแผนจัดตั้ง Hub เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าประจำภาค โดยประสานระบบการขนส่งให้เกิด Fully Utillzation และลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งยุทธศาสตร์ Hub and Spoke จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วย งานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการถไฟแห่งประเทศไทยและหน่วยงานระดับจังหวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของจุดรวบรวมสินค้าในจังหวัดต่างๆ ในการร่วมมือพัฒนาแผนงานและโครงงานแบบบูรณาการ เพื่อรวบรวมสินค้าในภาคต่างๆ เพื่อลำเลียงมาโดยทางรถไฟสู่ทางเรือต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น