ศูนย์ข่าวศรีราชา -การท่าเรือแห่งประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำและระบบราง ลดต้นทุนขนส่งทางบกหลังราคาน้ำมันขยับตัวต่อเนื่อง พร้อมปรับโฉมการดำเนินงานสู่การเป็นท่าเรือที่มีการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ในชื่อโครงการ E-PORT ที่ได้รับเงินหนุน 600 ล้านบาท จากประเทศเดนมาร์ก คาดเห็นเป็นรูปธรรมในปี 2552
นางสุนิดา สกุลรัตนะ ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. เผยถึงการพัฒนาท่าเรือทั้ง 4 แห่งที่อยู่ในความดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ประกอบ ด้วยท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงของและท่าเรือระนองว่า นับจากปี 2551 เป็นต้นไป กทท.จะเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางน้ำและระบบรางเป็นนโยบายหลัก เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทางบกจากภาวะราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงอย่างตัวเนื่อง และลดปัญหาการจราจร ขณะเดียวกันยังมีแผนดำเนินงาน เพื่อรองรับนโยบายการบริหารงานที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาดูแล
ในส่วนของการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางน้ำนั้น กทท.ได้จัดสรรพื้นที่ 175 เมตร บริเวณติดด้านหน้าท่าเทียบเรือ A1 ให้เป็นท่าเรือชายฝั่ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับท่าเทียบเรือA 0 ของท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือชายฝั่งอยู่ก่อนแล้ว และหลังจากนี้ไปจะเข้ามาปรับแผนการขนส่งสินค้าทางน้ำในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เรือบาส ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าสามารถเข้ามาขนถ่ายสินค้ายังพื้นที่ดังกล่าวให้ได้ไม่น้อยกว่า 60 เที่ยวต่อเดือน และยังจะสนับสนุนให้มีการใช้การขนส่งสินค้าทางน้ำ ในเส้นทางระหว่างท่าเทียบเรือกรุงเทพ- แหลมฉบัง และท่าเทียบเรือในจังหวัดสุราษฏร์ธานี และท่าเทียบเรือแหลมฉบังให้มากขึ้นด้วย
สำหรับการพัฒนาระบบราง กทท.มีแผนพัฒนาระบบรางรถไฟมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท โดยในเดือนมิถุนายน 2551 จะเริ่มพัฒนารางขนถ่ายสินค้าในขั้นต้น ด้วยการจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการขนถ่ายสินค้าในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อให้สามารถรองรับตู้สินค้าจำนวน 2 พันทีอียู และในปี 2554 จะเริ่มดำเนินการทั้งระบบซึ่งจะเป็นการดำเนินงานหลังจากที่การพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ในท่าเรือแหลมฉบังแล้วเสร็จ
“การพัฒนาระบบรางของเราจะแบ่งเป็นเฟส ซึ่งในปี 2553 ระบบรางที่พัฒนามานานจะเข้ามาจ่อที่สถานีแหลมฉบัง ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟรางคู่ที่จะขนถ่ายสินค้าเชื่อมต่อจากคลังสินค้าลาด กระบัง มายังฉะเชิงเทราและเข้าสู่อำเภอศรีราชาก่อนจะถึงสถานีแหลมฉบัง ซึ่งโครงการพัฒนาการขนส่งสินค้าระบบรางเป็นแผนงานที่เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ”
นางสุนิดา ยังเผยถึงการปรับแผนดำเนินของท่าเรือต่างๆ ให้เข้าสู่ระบบ E-PORT ที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการนำเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ในการดูแลและจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้ทำเรื่องขอรับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท ไปยังประเทศเดนมาร์กและคาดว่าจะได้รับการตอบกลับมาในเร็วๆ นี้ โดยโครงการ E-PORT เน้นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากเรือสินค้า และการกำจัดคราบน้ำมันที่มากับเรือ เพื่อสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการดูแลแม่น้ำและท้องทะเลไทย ซึ่งในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ จะดูแลสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลอ่าวไทย
“ในส่วนของโครงการนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดกับการขนถ่ายสินค้าในท่าเรือกรุงเทพ และแหลมฉบังเป็นสำคัญ ในส่วนของท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนองนั้น เราจะจัดทำ โครงการกำจัดคราบน้ำมันที่มากับเรือ ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมในปี 2552 “ นางสุนิสา กล่าว