รัฐบาลฟื้นกองทุนหมู่บ้าน-โครงการเอสเอ็มแอล ดึงเงิน 110,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ผ่าน ธ.ก.ส.-แบงก์ออมสิน ยันมีเงินให้ผลาญอีกเพียบ
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะใช้เงินจากกองทุนหมู่บ้านเพิ่มเติม 80,000 ล้านบาท และเงินจากโครงการอยู่ดีมีสุขของรัฐบาลที่แล้ววงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นโครงการเอสเอ็มแอลเหมือนเดิม โดยจะดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน มั่นใจว่าเม็ดเงินจะเข้าถึงรากหญ้าภายในปีนี้ และเมื่อมีการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าแล้วจะมีการหมุนเวียนสร้างอาชีพและฟื้นกลับคืนสู่เศรษฐกิจภาพรวมได้
“รัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจระดับรากหญ้า จะต้องเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญระดับรากหญ้า ทำให้ประชาชนในชนบทมีปัญหา จึงต้องฟื้นโครงการกองทุนหมู่บ้านและเอสเอ็มแอลใหม่ โดยจะมีการเปลี่ยนชื่อจากโครงการอยู่ดีมีสุขกลับมาใช้เป็นเอสเอ็มแอล”
รมว.อุตสาหกรรม ยังกล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า จะให้ความสำคัญในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างรถไฟฟ้ารอบกรุงเทพฯและปริมณฑล รถไฟรางคู่ การพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ โดยได้หารือร่วมกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อสร้างระบบรางเข้าถึงพื้นที่กระจายสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อทำให้ระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ เพราะโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนสำคัญ มีการกระตุ้นให้เอกชนลงทุน
นอกจากนี้จะมีการหารือเพื่อขอเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในหลายจังหวัดที่มีศักยภาพนำมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะต้องมีระบบรางเข้าถึงเพื่อลดต้นทุนการผลิต มั่นใจว่าทางกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนการใช้พื้นที่ของ ร.ฟ.ท.ให้เกิดประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันจะผลักดันการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมภาคใต้ (เซาเทิร์น ซีบอร์ด) เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคใต้ ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องมีกระบวนการเพื่อเข้าไปชี้แจงและทำความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ให้มาสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาชุมชนมีความหวาดระแวงการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะมีตัวอย่างการลงทุนที่สร้างผลกระทบด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตมาจากเทคโนโลยีที่ไม่ทันสมัย