ตีเกราะเคาะโมง!! ประชานิยมรากหญ้า ยุคสมัคร 1 เผยปี 51เตรียมอัดงบ 1.1 แสนล้าน เปลี่ยนชื่อ โครงการอยู่ดีมีสุข-คพพ.ยุคขิงแก่ ฟื้นเอสเอ็มแอล ต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน ภาค 2 ระบุ ออมสิน-ธ.ก.ส.มีเงินสนองนโยบายเพียบ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในปี 2551 รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เตรียมใช้งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินการในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้านภาค 2 และ โครงการเอสเอ็มแอล เนื่องจากช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญรากหญ้าน้อยจึงขาดเงินหมุนเวียนในระดับชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนไม่ขยายตัวนัก ขณะเดียวกันจะเปลี่ยนชื่อโครงการอยู่ดีมีสุขและโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (คพพ.) ของรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น เอสเอ็มแอล เหมือนเดิม รวมถึงปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพด้วยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
“ปัจจุบันมีคนพูดถึงแต่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า ระบบราง แก้ปัญหาน้ำ ซึ่งมีเงินลงทุนรวมหลายแสนล้านบาท แต่ทั้งหมดกว่าเม็ดเงินจะลงสู่ระบบต้องใช้เวลานาน เนื่องจากต้องรอการประกวดราคา การเซ็นต์สัญญากับผู้ชนะการประมูล แต่ในส่วนของเงินที่จะลงสู่ในระดับรากหญ้าเชื่อว่าจะลงถึงหมู่บ้านได้ภายในปีนี้ 1.1 แสนล้าน แบ่งเป็นกองทุนหมู่บ้าน 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการให้เงินต่อยอดอีกหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และเอสเอ็มแอล 30,000 ล้านบาท จะเอาเงินจากโครงการอยู่ดีมีสุข และ คพพ. ที่มีงบฯ รองรับอยู่แล้ว เพราะวัตถุประสงค์ของโครงการคล้ายกัน”
ทั้งนี้ งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท รัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารออมสินและธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะสถาบันการเงินทั้งสองแห่งยังมีสภาพคล่องเหลือมีมาก และที่สำคัญโครงการกองทุนหมู่บ้าน 1 ได้คืนเงินแก่ธนาคารหมดแล้ว
ส่วนกรณีที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะขอให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาทเพื่อปล่อยสินเชื่อธุรกิจระดับรากหญ้าของชุมชนตามนโยบายรัฐบาลนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะสนับสนุนเต็มที่ แต่หากกระทรวงการคลังไม่อนุมัติรัฐบาลจะหาแหล่งเงินกู้จากที่อื่นเพื่อปล่อยให้กับธุรกิจชุมชนในอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรม เตรียมหารือเรื่องนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม ร่วมกับกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม ในการเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อให้ ร.ฟ.ท.ให้การนิคมอุตสาหกรรมเช่าพื้นที่ในต่างจังหวัดที่เหมาะสมกับการลงทุน เพื่อขยายพื้นที่การลงทุนให้มากขึ้น เนื่องจาก รฟท.มีพื้นที่ว่างที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกมาก ซึ่งหากตกลงกันได้เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญจะสอดคล้องกับนโยบายที่จะให้ในปี 51-52 เป็นปีแห่งการลงทุนของประเทศไทย หลังจากที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติได้ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามจำนวนมากแล้ว
“รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวการลงทุน รวมถึงให้พื้นที่เชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะการขนส่งระบบราง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการได้”