ศูนย์ข่าวศรีราชา -กมธ.คมนาคม ยกพื้นที่ 82 จุดตัดในเขตอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นโมเดลศึกษาในการพัฒนาพื้นที่จุดตัด ที่จะมีการขยายเส้นทางรถไฟรางคู่กว่า 4 พันกิโลเมตรทั่วประเทศ โดย เฉพาะเส้นทางรถไฟหลังโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ถือเป็นจุดวิกฤตสุด เผยอีก 3 เดือนได้ข้อสรุปว่า รูปแบบการแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของที่ดินร่วม 3 หน่วยงานและในอนาคตหากจำเป็นจะต้องมีการก่อสร้างเส้นทาง OVER PART ก็จะทำประชาพิจารณ์ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน
วานนี้( 19 ส.ค.)นายจารึก อนุพงษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ได้นำคณะที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงข่ายระบบการคมนาคมทางบก ทางน้ำและทางอากาศ สำรวจพื้นที่จุดตัดบริเวณเส้นทางรถไฟรางเดี่ยว หลังโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีวิกฤตด้านการจราจรอย่างหนัก และในอนาคตยังจะมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ เพื่อขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังสู่คลังสินค้าในกรุงเทพฯ ตามแผนดูงานและเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาในหัวข้อ “ความพร้อมในการพัฒนาการบริหารจัดการและการบริการด้านโครงข่ายระบบขนส่ง ในเขตเมืองและการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก ”
นายจารึก เผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากเทศบาลเมืองศรีราชาและเทศบาลตำบลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่จะได้รับความเดือดร้อนด้านการจราจรเพิ่มขึ้น หากมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ เนื่องจากปัจจุบันแค่รถไฟรางเดี่ยว ก็เกิดปัญหารถติดบริเวณจุดตัดไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาก็จำเป็นจะต้องก่อสร้างเส้นทาง OVER PART ข้ามจุดตัด แต่การดำเนินงานกลับทำได้ยาก เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีเจ้าของร่วมถึง 3 หน่วยงาน คือ ด้านใต้อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลฯ ด้านเหนืออยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ส่วนพื้นที่ตรงกลางอยู่ในความดูแลของการรถไฟ แห่งประเทศไทย
“ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะให้เวลา 3 หน่วยงาน 3 เดือน จัดทำแผนดำเนินงานเพื่อกลับมาเสนอคณะกรรมาธิการฯ อีกครั้ง โดยกรมทางหลวง จะต้องทำแผนก่อสร้างทางข้าม ส่วนการรถไฟฯ จะทำแผนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ บริเวณจุดดังกล่าวจะเริ่มเมื่อใดและเสร็จเมื่อใด ขณะที่ 2 เทศบาลก็จะต้องจัดการหาพื้นที่ 2 ข้างทาง เพื่อใช้ดำเนินการ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพราะจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งหากมีการก่อสร้าง OVER PART จริง ก็จะทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนก่อน”
นายจารึก ยังเผยอีกว่าคณะกรรมาธิการฯ จะใช้พื้นที่อำเภอศรีราชา เป็นโมเดลศึกษาปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่จะมีการขยายเส้นทางรถไฟรางคู่ในระยะทางรวมกว่า 4 ,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ เนื่องจากอำเภอศรีราชา มีพื้นที่จุดตัดมากถึง 82 จุดตัด และแต่ละจุดตัดก็มีปัญหาจราจรมากน้อยแตกต่างกันไป ทั้งนี้หากในระยะ 3 เดือนที่กำหนดหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายสามารถหาแนวทางแก้ไขได้ ก็จะสอดคล้องกับการจัดตั้งงบประมาณ ที่จะเริ่มจัดทำกันในระหว่างเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ 2552 หลังจากนั้นก็จะกำหนดแผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลาง เพื่อขนคนในระยะทางรวม 250 กิโลเมตรเพื่อลดการเดินทางโดยรถยนต์ของประชาชนทั่วประเทศ
“เราจำเป็นจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ให้เสร็จโดยเร็ว เพราะ 20 ปีข้างหน้าการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังจะมีปัญหา เพราะแค่ปัจจุบันจำนวนตู้สินค้าที่ขนถ่ายก็มีอัตราเติบโตไม่น้อยกว่า 11% ต่อปีแล้ว และหากไม่เร่งจัดการอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 20 ปี ท่าเรือแหลมฉบังจะมีตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่าถึง 34 ล้านทีอียูต่อปีก็จะมีปัญหาแน่นอน” นายจารึก กล่าว