ศูนย์ข่าวศรีราชา-ส.ว.ชลบุรี เผยการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกยังมีต่อเนื่อง แม้การลงทุนภาคอุตสาหกรรมโดยรวมชะลอตัว แต่อุตสาหกรรมหลักอย่างปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์มีการเคลื่อนไหวบ้าง เร่งรัฐบาลเดินหน้าโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลางก่อนพื้นที่อื่น เพื่อลดภาระค่าขนส่งจากตะวันออกเข้ากรุง เฟสแรกเสนอตั้งสถานีหลักที่เมืองพัทยา ก่อนขยายเฟส 2 สู่จังหวัดระยอง
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชลบุรี(ส.ว.)ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา เผยถึงภาพรวมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก ในช่วงครึ่งปีแรก 2551 ว่าแม้การลงทุนใหม่โดยเฉพาะการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ จะชะลอตัว แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ยังคงมีการขยายการลงทุน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GRP มีมากถึง 16.1% ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด รวมทั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรมทั้งในจังหวัดปราจีนบุรี นครนายกและสระแก้ว
นอกจากนี้ เมื่อสังเกตการเติบทางเศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรี พบว่า เป็นรองเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่สำคัญจังหวัดชลบุรี ยังมีการจัดเก็บภาษีมากถึง 10% ของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลที่มีจำนวน 1.6 ล้านล้านบาท จึงจำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ ในด้านการพัฒนาระบบการคมนาคมเชื่อมโยง จังหวัดชลบุรีและกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับศักยภาพการขนส่งของจังหวัดชลบุรี ที่ปัจจุบันมีท่าเรือน้ำลึกที่ติดอันดับโลก
“ผมในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบคมนาคมในจังหวัดชลบุรี ที่จะสามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นๆของภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร”
ข้อเรียกต่างๆ ประกอบด้วย 1.การพัฒนารถไฟรางคู่จาก LCD ลาดกระบัง ผ่านฉะเชิงเทราและกำลังพัฒนาสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีจุดตัดระหว่างรางรถไฟกับถนนหลายจุดในเขตอำเภอศรีราชา ส่งผลให้ระบบการจราจรติดขัด จึงขอให้มีการสร้างจุดตัดถนนและรางรถไฟในระดับที่ต่างกัน
2.บริเวณสี่แยกหน้าท่าเรือแหลมฉบัง ใต้สะพานยกระดับ พบว่า การจราจรโดยรถเทรลเลอร์บรรทุกตู้สินค้าติดขัด จึงขอให้มีการขยายผิวการจราจรเพื่อให้รถเทรลเลอร์ได้เลี้ยวเข้าท่าเรือได้อย่างสะดวก
3.เร่งรัดโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 7 มอเตอร์เวย์พัทยาให้เสร็จสมบูรณ์โดยด่วน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา
จี้รัฐผุดโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง
นายสุรชัย ยังเผยอีกว่าในอนาคตรัฐบาลมีแนวทางที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อใช้ในการขนส่งมวลชลลดการเดินทางโดยรถยนต์เข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อประหยัดการใช้พลังงานน้ำมัน โดยพื้นที่ภาคตะวันออก กำหนดให้มีการพัฒนาเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ที่มีระยะทาง 200 กิโลเมตร โดยจะเป็นการพัฒนาเส้นทางใหม่ และที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เขียนแผนผังการจอดรถยนต์ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นที่จอดรถยนต์ก่อนใช้ระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวแล้ว
“แผนจัดสร้างระบบขนส่งมวลชน รัฐบาลได้เขียนแผนดำเนินการกระจายทั่วประเทศ แต่สิ่งที่ต้องการเรียกร้อง คือให้ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกก่อน โดยในเฟสแรกให้เริ่มดำเนินการในเมืองพัทยา ส่วนเฟสที่ 2 จึงค่อยขยายพื้นที่พัฒนาไปสู่จังหวัดระยอง ซึ่งคาดว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อใดจะได้รับความร่วมมือในการเวนคืนพื้นที่ให้กับรัฐบาลอย่างแน่นอน” นายสุรชัย กล่าว