ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – หอการค้าเชียงใหม่เผยการลงทุนและการบริโภคครึ่งแรกปี 2551 ชะลอตัว ชี้สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นและเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เสนอแนวคิดพัฒนาเชียงใหม่แนะรัฐเร่งดันโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ พร้อมจัดกิจกรรม “สวนราชพฤกษ์” ดึงดูดนักท่องเที่ยว เผยยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าจะไม่ได้รับการตอบสนอง แม้จะเสนอต่อนายกฯไปแล้ว ขณะเดียวกันจี้รัฐเร่งออกกฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีก หวั่น “โมเดิร์นเทรด” รุกคืบกลืน “โชวห่วย” สูญพันธุ์
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยสรุปภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ว่า หลังการเลือกตั้งได้ส่งผลบวกทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าทุกหมวดมีการปรับขึ้น โดยเฉพาะหมวดอาหารและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการบริโภค ขณะที่ค่าเงินที่แข็งขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ด้านเงินฝากและสินเชื่อขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยทุนสำรองยังอยู่ในระดับสูง
ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่าจะมีสถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐ
ทั้งนี้ เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ประการแรกจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและผู้บริโภค โดยเฉพาะการทำให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความนิ่ง ซึ่งเห็นว่าทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งควรจะหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ไขปัญหา และควรปล่อยให้รัฐบาลได้ทำงาน ขณะเดียวกันเห็นว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการออกมาตรการบรรเทาปัญหาการบริโภคชะลอตัว และมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนที่ชะลอตัว รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการตลาดการส่งออก
สำหรับแนวคิดการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องผลักดันโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว เพื่อเป็นการสร้างจุดขายใหม่และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่
ขณะที่พื้นที่จัดงานพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ เห็นว่าควรจะต้องมีการจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ระดับประเทศที่ช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหากเป็นไปได้ควรจะต้องมีการจัดขึ้นภายในปีนี้ เพื่อไม่ให้พื้นที่แห่งนี้ “ตายซาก” เพราะมีการลงทุนไปมหาศาลแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์เท่าที่ควร
นอกจากนี้เห็นว่ารัฐควรจะมีการลงทุน ในการก่อสร้างรถไฟรางคู่ความเร็วปานกลาง เส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เพื่อใช้ประโยชน์ในการขนคนและขนส่งสินค้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะในภาวะที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตรฐานของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งมีการพัฒนาถนนเส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เป็นถนน 4 เลน และมีการพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในกลุ่มจังหวัดล้านนา
“แนวคิดการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในเรื่องของศูนย์ประชุมนานาชาติ การสร้างรถไฟรางคู่ และอื่นๆ ได้มีการเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ในการประชุมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2551 ซึ่งการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ภาคเอกชนเห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดัน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเช่นกันว่า แนวคิดต่างๆ ที่เสนอต่อนายกฯอาจจะกลายเป็นไฟไหม้ฟาง และแค่หวังผลทางการเมือง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคงจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่อย่างแน่นอน จึงมีความจำเป็นต้องผลักดันแนวคิดอย่างต่อเนื่อง” นายณรงค์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ต่อการขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ข้ามชาติว่า การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม ต้องปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากในปี 2544 ที่สัดส่วนระหว่างธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมกับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่อยู่ที่ 70% กับ 30% แต่ในปี 2551 ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่มีสัดส่วน 70% ส่วนธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมมีสัดส่วนเหลือเพียง 30%
จุดยืนของหอการค้าไม่ได้ปิดกั้นการขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม อยากให้ทั้งธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ข้ามชาติและธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กติกา และการดำเนินการด้วยจริยธรรมและธรรมาภิบาล โดยเสนอว่ารัฐควรจะต้องเร่งออกกฎหมายว่าด้วยการค้าปลีก เพื่อเป็นกรอบกติกาภายใต้หลักการค้าเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ในการกำกับดูแลการค้าปลีกให้มีความสมดุลและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ด้านนายเฉลิมชาติ นครังกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นราคาที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจทั่วโลก
ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่เห็นด้วยหากธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเห็นว่าจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมผู้ประกอบการมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่จะขาดสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาวะปัจจุบันก็ขายสินค้าและบริการได้น้อยอยู่แล้ว หากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระต้นทุน ที่อาจจะส่งผลให้ต้องมีการปลดคนงานหรือปิดกิจการลงได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียมากกว่า
ส่วนกรณีการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ข้ามชาติ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคภายใต้กรอบการค้าเสรี อย่างไรก็ตาม มองว่าการค้าเสรีก็จำเป็นจะต้องมีการกำหนดกติกาที่ช่วยปกป้องให้ธุรกิจท้องถิ่นสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วย จึงมองว่ามีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเร่งออกกฎหมายว่าด้วยการค้าปลีกออกมาบังคับใช้โดยเร็ว