xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯใต้จี้ “สมชาย” เร่งเครื่องSSB หวั่น 2 ปีทุนต่างชาติขนเงินหนีแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชยยศ สินเจริญกุล
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – หอฯภาคใต้จับตา “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” แสดงฝีมือขับเคลื่อนเมกะโปรเจกต์ใต้ลบคำสบประมาท “รัฐบาลแฟมิลี” หวั่นชักช้าเสียที “อีสเทิร์นซีบอร์ด” เต็มอีก 2 ปีข้างหน้าไม่ทัน “เซาเทิร์นซีบอร์ด” คลอด ต่างชาติหอบทุนแสนล้านย้ายฐานการผลิตออกจากไทยแน่ ประธานหอฯสงขลาเผยฮุบแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล, ท่าเรือน้ำลึก และระบบรถไฟรางคู่ลงใต้ล่างผงาดเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ด้านประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา ชี้ภาคใต้ตั้งถูกจุดยุทธศาสตร์มี 2 ฝั่งทะเลเป็นประตูสินค้าระหว่าง 2 ซีกโลกแต่รัฐยังไม่หนุนให้เกิด จี้ต้องเร่งทุ่มเมกะโปรเจกต์พัฒนาระบบลอจิสติกส์โดยด่วน เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ขณะที่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก(อีสเทิร์นซีบอร์ด )กำลังขยายตัวสู่เฟส 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีการคาดการณ์ว่าภายใน 2-3 ปีจะถึงขีดสูงสุดในการรองรับอุตสาหกรรม นับเป็นตัวเร่งให้เกิดโครงการเมกะโปรเจกต์ เซาเทิร์นซีบอร์ด (Southern Seaboard Development Plan: SSB) เกิดขึ้นในภาคใต้ให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมนับแสนล้านจากทุนต่างชาติที่การขยายตัวต่อจากภาคตะวันออก และเป็นประตูการค้า (Gateway) แห่งใหม่ระดับโลก ด้วยสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) และท่าเรือน้ำลึกเชื่อมโยงระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย พร้อมระบบคมนาคมขนส่งร่วมแบบผสมผสาน เพื่อช่วยย่นระยะการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามันของไทย เพื่อเชื่อมโยงเอเชียตะวันออกและอินโดจีน เข้ากับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รวมทั้งยุโรป

พลันมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนโยบายและเร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เกมการเมือง กลับมีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีชุดใหม่ท่ามกลางปัญหาการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพ ซึ่งในมุมมองของนักธุรกิจในพื้นที่ที่มีต่อท่าทีของรัฐบาล ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่แปรปรวนเช่นนี้ ต่างแสดงความเป็นห่วงต่อโครงการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ดร.สุรชัย จิตภักดีบดินทร์ รองประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ IMT-GT และประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จากการประชุมหอการค้า 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีมติเห็นชอบให้มีการสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ระยะทาง 150 กิโลเมตร ซึ่งเป็นงานโครงสร้างระดับประเทศ ที่จะเชื่อมการคมนาคมระหว่างอ่าวไทย-อันดามัน พร้อมด้วยการขนส่งระบบรางคู่จากรุงเทพฯ ระบบส่งท่อใต้ดินระยะทาง 140 กิโลเมตร รองรับการขนส่งน้ำมันดิบมากลั่นยังนิคมอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ของสงขลาและท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล เป็นจุดขึ้นลงสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งมาป้อนสู่อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ยุทธศาสตร์สำคัญของการเชื่อมโยงระบบลอจิสติกส์ของภาคใต้ ที่ตอนนี้ยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนจากภาครัฐ
สำหรับปัญหาทางการเมืองที่มีความวิตกถึงอายุของรัฐบาลว่า จะส่งผลต่อการสานต่อโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและต้องเร่งดำเนินการก่อนนักลงทุนถอนตัวออกจากประเทศไทย ดร.สุรชัย กล่าวว่า ตอนนี้นักธุรกิจกำลังจับตามองดูการทำงานของรัฐบาลอยู่ และไม่ว่าใครจะเข้ามาขอให้ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน จริงจังต่อการบริหารบ้านเมือง สนใจประเทศชาติ และเป็นที่พึ่งของคนทั้งประเทศ และหอการค้าฯ จะเดินหน้าผลักดันโครงการต่างๆ ให้เดินหน้าต่อไป

ทั้งนี้ หากรัฐบาลกล้าตัดสินใจเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมการลงทุนก่อสร้างในภาคใต้ก็จะทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจด้านปิโตรเลียมซึ่งจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมามากมาย การขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลกก็จะใช้ภาคใต้เป็นจุดผ่านโดยไม่ต้องแวะอ้อมเกาะปีนัง และประเทศสิงคโปร์

ด้านนายไชยยศ สินเจริญกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้นทุนลอจิสติกส์ได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 30% ของต้นทุนการผลิต เพราะภาคใต้ไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุน ซึ่งการสร้างสะพานเศรษฐกิจและท่าเรือน้ำลึกเชื่อมการขนส่งจากทะเลอันดามันและอ่าวไทย ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงที่ประเทศไทยจะทำไม่ได้ แม้แต่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งอยู่ปลายแหลมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ทั้งที่ตามภูมิศาสตร์แล้วไทยมีความเหมาะสมอยู่มาก หรือแม้แต่ประเทศมาเลเซียเองก็ยังผงาดเทียบเคียงสิงคโปร์ด้วยท่าเรือแห่งที่ 3 บริเวณปลายแหลมรัฐยะโฮร์

“ผมรู้สึกสงสารคนไทยและภาคใต้ ที่เราได้เกิดถูกที่ถูกทางแล้ว มีทรัพยากรมากมาย และมี 2 ฝั่งทะเลยาว แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้ให้เต็มศักยภาพ จึงน่าจะให้ความสำคัญพัฒนาเป็นจุดเชื่อมการขนส่ง ซึ่งจะไม่ได้หมายถึงการขนส่งแค่ในประเทศเท่านั้น แต่หมายถึงการขนส่งไปทวีปอื่นๆ แต่เสียดายที่ไทยยังไม่ได้ทำอะไรให้เกิดเป็นรูปธรรมเลย” นายไชยยศกล่าว

ขณะที่นายประสิทธิ์ แบ้สกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล (สะพานเศรษฐกิจ) ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่สร้างถนนเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ที่มาทางเรือจากฝั่งทะเลด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่ใช่มีประโยชน์ต่อ จ.สตูล เพียงเท่านั้นแต่มีประโยชน์ในภาคของเศรษฐกิจทั่วทั้งภาคใต้ มีผลต่อการขนส่งระหว่างฝั่งอันดามันไปยังฝั่งอ่าวไทย

ฝั่งอ่าวไทย คือที่ จ.สงขลา และฝั่งอันดามัน คือ จ.สตูล เป็นตัวเชื่อมกันระหว่างทะเลทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่สามารถทำมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย เช่น ไม้ยางพารา ยางพารา และอาหารทะเล ที่จะส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ ตนมองว่ายังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะไม่เคยเห็นรัฐบาลพูดถึงโครงการนี้ จะให้โอกาสรัฐบาลได้แสดงฝีมือก่อน แต่หอการค้าซึ่งเป็นภาคของเอกชนจะพยายามผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติในอนาคต หากโครงการเมกะโปรเจกต์นี้แล้วเสร็จ จะสามารถขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง จ.สตูล ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

นายจามร เจริญอภิบาล ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในขณะนี้รัฐบาลยังไม่นิ่ง เศรษฐกิจในประเทศก็ตกอยู่ในสภาวะลำบาก รัฐบาลต้องได้แสดงฝีมือเพื่อลบข้อครหาทางการเมืองต่างๆ ถึงการได้มาซึ่งตำแหน่ง และการทำหน้าที่ว่าจะเป็นเพื่ออดีตนายกรัฐมนตรีหรือประเทศชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของปากท้องของประชานชนในระดับรากหญ้า หากรัฐบาลยังคงสภาพอย่างนี้ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจก็จะกระทบไปหมด

ในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ลงมาสำรวจพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อจะขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ กระบี่-นครศรีธรรมราช ซึ่งค้างอยู่ให้เสร็จสมบูรณ์ โดยหอการค้าฯ นครศรีธรรมราชเองก็ได้ผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม น้ำมันปาล์ม ยางพารา ผลักดันให้มีการปลูกข้าวมากขึ้น เพราะ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวมากที่สุดในภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น