xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ทอคโดหรือทาเคชิมา : ประเด็นร่วมของไทย

เผยแพร่:   โดย: ทรายแก้ว ทิพากร

ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2008 นี้ เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดนที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ต่างฝ่ายต่างก็มีหลักฐานมีเหตุผลที่สามารถนำมาอ้างความเป็นเจ้าของกัน ดินแดนที่กล่าวนี้ก็คือเกาะทอคโด (Tokdo หรือ Dokdo) ในภาษาเกาหลี หรือเกาะทาเคชิมา (Takashima) ในภาษาญี่ปุ่น แต่เพื่อความเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด เอกสารจากหลายแหล่งจึงเรียกชื่อเกาะนี้ว่า ลีอังคอร์ท (Liancourt Rocks) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นโดยลูกเรือลีอังคอร์ท ซึ่งเป็นเรือล่าปลาวาฬของฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาพบเกาะนี้ และได้บันทึกไว้ในแผนที่เมื่อปี 1849

ทอคโดหรือทาเคชิมาเป็นหมู่เกาะเล็กๆ อยู่ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ คืออยู่ห่างจากดินแดนตะวันออกสุดของเกาหลีใต้ 87 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากดินแดนของญี่ปุ่น 157 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะ เรียกว่าเกาะตะวันตกและเกาะตะวันออก ทั้งในภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลี นอกนั้นเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยกระจัดกระจายอยู่อาณาบริเวณทั้งหมดประมาณ 187,450 ตารางเมตร หมู่เกาะเหล่านี้เกิดจากเถ้าถ่านภูเขาไฟซึ่งผุกร่อนได้อย่างรวดเร็ว จึงมีลักษณะเป็นหินภูเขาไฟ มีดินอยู่ชั้นบนเพียงเล็กน้อย

และเนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่พอเพียง จึงมีสัตว์และพืชบางชนิดเท่านั้นที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ก็มีความพยายามที่จะปลูกต้นไม้บนเกาะนี้ เพื่อให้ดินแดนนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นเกาะตามมาตรฐานสากล (หากเป็นโขดหินที่ต้นไม้ขึ้นไม่ได้ เรียกว่าเป็น “โขดหิน” : reef) .ในปัจจุบันหมู่เกาะนี้อยู่ภายใต้การดูแลของเกาหลีใต้ ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่หมุนเวียนกันเข้าไปประจำอยู่จำนวนเล็กน้อย เช่น เจ้าหน้าที่ด้านการประมง มีการสร้างประภาคารและมีเจ้าหน้าที่ประจำประภาคาร และมีประชากรชาวเกาหลีอาศัยอยู่ 2 คน ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงถึงการมีอธิปไตยเหนือดินแดนนี้ของเกาหลี

ตั้งแต่ปี 1954 ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาสันติภาพแล้ว ความขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะนี้ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ก็เกิดขึ้นตลอดมา ได้มีเรือของชาวญี่ปุ่นล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณหมู่เกาะ ทำให้เรือของเกาหลีต้องออกมาขับไล่ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ ได้สร้างที่พัก สร้างประภาคาร เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเหนือหมู่เกาะ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประท้วงการกระทำดังกล่าว ในทศวรรษ 2000 นี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ริเริ่มการสำรวจเป็นเวลา 10 ปีเพื่อค้นหาแหล่งพลังงานที่พื้นทะเลตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา

ในส่วนของญี่ปุ่น ในปี 2005 ซึ่งเป็นปีที่มีการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปีของการปรับความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น สภาจังหวัดชิมาเน (ซึ่งควรจะเป็นผู้ดูแลหมู่เกาะทาเคชิมา ในความเข้าใจของญี่ปุ่น) ได้ออกระเบียบประกาศให้วันที่ 22 กุมภาพันธ์เป็นวันทาเคชิมา (Takeshima Day) ทั้งๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษระหว่างกัน ในเดือนต่อมายังมีเครื่องบินของหนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่นบินผ่านเข้าไปในบริเวณนั้นอีก เชื่อว่าเครื่องบินดังกล่าวตั้งใจจะเข้าไปถ่ายภาพ แต่ก็ทำให้เกาหลีใต้ต้องทำการประท้วง และส่งเครื่องบินของตนออกไปขับไล่

ต่อมาในปี 2006 เมื่อเกาหลีสนใจสำรวจหาพลังงานในพื้นที่รอบหมู่เกาะ ญี่ปุ่นก็สนใจที่จะส่งเรือยามฝั่งของตนออกไปสำรวจบ้าง แต่ก็ถูกเกาหลีขับออกไป ในปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้กำหนดแนวทางการเรียนการสอนของนักเรียนมัธยมต้นเสียใหม่ โดยกล่าวถึงเกาะทาเคชิมาว่าเป็นดินแดนของญี่ปุ่น แต่ในเรื่องของกรรมสิทธิ์ครอบครองนี้ยังเป็นประเด็นถกเถียงกับเกาหลีใต้อยู่ แนวการเรียนการสอนนี้ยังไม่ใช่ข้อกำหนดที่ตายตัว แต่เป็นคู่มือสำหรับครูและผู้ที่จะเขียนตำราเพื่อให้ความรู้แก่เด็กในกลุ่มวิชาสังคมวิทยา และเป็นแนวทางใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2012 เป็นต้นไป

เกาหลีใต้ได้ประท้วงเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรุนแรง มีชาวเกาหลีใต้ออกไปเผาธงชาติหน้าสถานทูตญี่ปุ่น และรัฐบาลยังได้เรียกทูตเกาหลีใต้กลับเป็นการชั่วคราวอีกด้วย

ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ในกรณีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากสงครามโลก ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาวุ่นวายจัดการเกี่ยวกับเขตแดนในบริเวณนี้ ความชัดเจนในเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนนี้เริ่มต้นในปี 1905 หลังจากที่ญี่ปุ่นชนะสงครามกับรัสเซีย และเข้ายึดหมู่เกาะนี้รวมทั้งเกาหลีไว้อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นเข้าปกครองเกาหลีอย่างเป็นทางการในปี 1910 เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามโลกและถูกควบคุมโดยฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐฯ มีคำสั่งให้ญี่ปุ่นคืนเกาะนี้ให้แก่เกาหลี แต่เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงซานฟรานซิสโก กลับไม่มีการพูดถึงเกาะนี้ รวมไปถึงดินแดนที่ญี่ปุ่นกำลังมีปัญหากับทั้งจีนและรัสเซียในปัจจุบัน (เกาะเซนกากุและดินแดนตอนเหนือ) ทั้งหมดนี้ก็ล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือ เป็นเงื่อนไขในสมัยสงครามเย็น
ความขัดแย้งนี้แม้จะมีจุดเริ่มมาตั้งแต่หลังสงครามโลก แต่ก็เพิ่งมาเป็นประเด็นที่ดูจะมีความรุนแรงตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นนี้เอง ไม่เฉพาะแต่เรื่องอธิปไตยเหนือเกาะเท่านั้น แม้แต่ชื่อของทะเลในบริเวณนั้นก็ยังมีการเรียกร้องให้เรียกชื่อต่างกัน ฝ่ายญี่ปุ่นเรียกทะเลที่อยู่ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีว่า ทะเลญี่ปุ่น (Sea of Japan) ส่วนเกาหลีเรียกร้องให้เรียกว่า ทะเลตะวันออก (East Sea)

ความสำคัญของปัญหาไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่าหมู่เกาะนี้เป็นของใคร หรือควรเป็นของใคร แม้หมู่เกาะนี้จะเป็นเพียงโขดหิน แต่ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็กำลังต่อสู้กันเพื่อครอบครองหมู่เกาะนี้อย่างแข็งขัน แน่นอนว่าการต่อสู้เพื่อบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องต่อสู้อย่างถึงที่สุด แต่สถานการณ์ต่อสู้ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นในช่วงหลังนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสชาตินิยมที่ถูกกระตุ้นขึ้นในยุคหลังสงครามเย็นซึ่งกำลังเกิดขึ้นไปทั่วเอเชีย

ในสมัยสงครามเย็น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกา ในค่ายเสรีนิยม เพราะภัยคุกคามจากค่ายคอมมิวนิสต์เป็นภัยที่เห็นได้ชัดเจน ความเห็นใดที่แตกต่างไปจากการอยู่ร่วมค่ายเดียวกันอย่างสันติต้องถูกกดเก็บไว้เพื่อความมั่นคงของประเทศ แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง สำหรับเกาหลี ความจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมค่ายเดียวกันหมดไป ความเข้มงวดกวดขันในสังคมลดลงไป ความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังที่มีต่อญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง สามารถระบายออกมาได้ทางสื่อต่างๆ มีการค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสมัยสงครามกันมากขึ้น แล้วถ่ายทอดกันต่อๆ ไป ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนี้ ยิ่งเป็นการสร้างอารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้น

ไม่เฉพาะแต่ชาวเกาหลีในประเทศ ยังรวมไปถึงชาวเกาหลีในต่างประเทศ ทำให้รู้สึกว่าเกาหลีไม่ได้ถูกกระทำโดยชาวญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีมหาอำนาจอื่นๆ ที่เข้ามาวุ่นวายอยู่ในภูมิภาค ล้วนเป็นผู้กระทำต่อเกาหลี ทำให้เกาหลีต้องแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ และยังไม่สามารถรวมกันเข้ามาได้ ชาตินิยมของเกาหลีจึงเป็นความรู้สึกร่วมที่จะต่อต้านมหาอำนาจทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่ญี่ปุ่นเท่านั้น (ดังเช่นการประท้วงเกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ ก็เป็นการต่อต้านสหรัฐฯ ไม่ใช่การต่อต้านเนื้อวัว) เกาหลีใต้มองว่าความพยายามของญี่ปุ่นที่จะดึงเอาหมู่เกาะทอคโดกลับคืนไป เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิล่าอาณานิคมของญี่ปุ่นที่กลับฟื้นคืนมาอีก

ในส่วนของญี่ปุ่น ในยุคหลังสงครามเย็น สังคมญี่ปุ่นถูกผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ วัฒนธรรมของญี่ปุ่นถูกวัฒนธรรมของตะวันตกเข้ามาเบียด ปัญหาต่างๆ ทำให้วิถีชีวิตที่เคยมั่นคงในระบบเก่าๆ หมดไป ชาวญี่ปุ่นเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและหวนหาความเป็นญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่เช่นในสมัยก่อน ในปี 2001 นายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกเข้ามา นายจุนอิชิโร โคอิสุมิ ก็เป็นนักชาตินิยม นโยบายแบบชาตินิยมของโคอิสุมิทำให้เกาหลีและจีนประท้วงอย่างรุนแรง และทำให้ความสัมพันธ์กับสองประเทศนี้เสื่อมทรามลง นายกรัฐมนตรีคนต่อมาก็เป็นนักชาตินิยมเช่นเดียวกัน นโยบายด้านการศึกษาของนายอาเบะเป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งกับเกาหลีในครั้งนี้ นั่นคือนโยบายแก้ไขกฎหมายการศึกษาที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจในชาติมากขึ้น (Fundamental Law of Education) การแก้ไขคู่มือการเรียนการสอนในครั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว

ปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับประเทศไทยและกัมพูชา กล่าวคือ เป็นปัญหาที่เกิดจากการแทรกแซงในอดีตของมหาอำนาจนอกภูมิภาค เพื่อประโยชน์ของมหาอำนาจนั้นๆ แต่ผลร้ายที่เกิดขึ้นตกกระทบต่อประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคนั่นเอง ทำให้คู่กรณีต้องขัดแย้งกันในเรื่องที่ดูจะไม่สามารถตกลงกันได้ในอนาคตอันใกล้ ซ้ำร้ายกว่านั้น การปลุกปั่นเอาชาตินิยมขึ้นมา หวังจะให้เป็นการแก้ปัญหาให้เด็ดขาดลงไป ยิ่งทำให้ทางออกของปัญหาแคบลงไปอีก ทางออกที่ดีน่าจะเป็นการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักว่า สันติภาพระหว่างประเทศก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าบูรณภาพแห่งดินแดน

หมายเหตุ :
ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน website : http:www.thaiworld.org
กำลังโหลดความคิดเห็น