xs
xsm
sm
md
lg

"มินิ คลับแมน" มากสะดวก-คงสนุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฟรงก์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว “มินิ” สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัว“เทรเวลเลอร์ คอนเซ็ปต์”รถแวกอนต้นแบบที่มากด้วยความอเนกประสงค์ พร้อมรูปลักษณ์สีสันแปลกตา ซึ่งในบริบทตอนนั้นยังเดาลำบากว่าบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป (บริษัทแม่มินิ) นำมาอวดโฉมเพื่อฉลองการครบรอบ 40 ปีของรุ่นเทรเวลเลอร์ หรือตั้งใจเอามาเรียกกระแสก่อนพัฒนาขายเสริมไปกับตัวถังแฮทช์แบ็ก และเปิดประทุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

จนคำตอบสุดท้ายมาเฉลยในงานมอเตอร์โชว์เดียวกันนี้ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว กับตัวถังแวกอน 5 ประตูนาม“คลับแมน”(CLUBMAN) ซึ่งจะว่าไปมินิเคยใช้ชื่อนี้ทำตลาดมาแล้วในช่วง ค.ศ. 1969-1982 (หลังจากรุ่นเทรเวลเลอร์,คันทรีแมนทำตลาดในช่วงทศวรรษ 60)

มินิ คลับแมน รหัส R55 ใช้พื้นฐานเดียวกับรุ่นแฮทช์แบ็ก 3 ประตู(R56) แต่ยืดตัวถังให้ยาวกว่า 24 เซนติเมตร ระยะฐานล้อเพิ่มอีก 5 เซนติเมตร โดดเด่นกับประตูทั้ง 5 บาน ที่ออกแบบมาให้ใช้งานเพื่อความสะดวกสูงสุด...ประตู 2 บานหลังเปิดกว้างแบบตู้กับข้าว ขนของ วางสัมภาระได้สบาย

ส่วนประตูเล็กๆด้านขวาที่มินิเรียกว่า Club Door การใช้งานคล้ายๆกับปิกอัพโอเพ่นแค็บ คือต้องเปิดประตูคนขับก่อน ขณะเดียวกันอาจดูตะขิดใจในช่วงแรกๆ เพราะการวางตำแหน่งประตูไว้ด้านขวา นั่นหมายถึงในประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาอย่างไทย(รวมถึงอังกฤษบ้านเกิด) ถ้าใครอยากสะดวกก็ต้องเข้า- ออกฝั่งคนขับ ซึ่งเป็นคนละด้านกับทางเท้า แล้วไปสุ่มเสี่ยงกับรถราบนท้องถนน (แต่ใครจะลงทางซ้ายหรือจอดในบ้านที่มิดชิดก็อีกเรื่อง) ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า Club Door มีไว้เพื่อใคร?

เข้าใจว่าการออกแบบรถยนต์หนึ่งคันต้องคำนึงปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญต้องตอบสนองการใช้งานได้สูงสุด แต่ในกรณีนี้ผู้เขียนมองว่า กำลังการผลิตมินิ 240,000 แสนคัน/ปี ณ โรงงานออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษนั้น 75% ถูกส่งไปขายกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แล้วตลาดหลักอย่างยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี หรือฟากอเมริกาล้วนเป็นการขับรถแบบพวงมาลัยซ้าย

ดังนั้นเมื่อตำแหน่ง Club Door อยู่ด้านขวา จึงถือว่าสมเหตุสมผลกับผู้โดยสารด้านหลัง ขณะเดียวกันตำแหน่งฝาถังน้ำมันก็ถูกออกแบบให้อยู่ด้านซ้ายแต่ไหนแต่ไร อาจเป็นหนึ่งเหตุผลทางวิศวกรรมที่ทำให้ประตูต้องย้ายไปอยู่ฝั่งตรงข้าม...สรุปพวกประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาต้องทำใจ และหวังใช้งาน Club Door ในสถานการณ์อื่นๆเช่น จอดในบ้านแล้วเปิดขนย้าย-บรรทุกสิ่งของหรือคน ก็ถือว่าได้อรรถประโยชน์เช่นกัน

สำหรับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายจุถึง 260 ลิตร และเพิ่มได้เป็น 930 ลิตร เมื่อพับเบาะนั่งด้านหลังแบบ 50:50 ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องพื้นที่ใช้สอย อย่างไรก็ตามการนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลังก็บอกตามตรงว่าไม่รู้สึกแตกต่างกับรุ่นแฮทช์แบ็กสักเท่าไหร่ ทั้งระยะเลครูม-เฮดรูม พอๆกัน คือไม่ได้กว้างขวางนั่งสบายมากมาย

ขณะที่การทดสอบ บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จัดแจงคลับแมนความแรงระดับ คูเปอร์ เอส รุ่นเกียร์อัตโนมัติมาให้ ซึ่งการนั่งหลังพวงมาลัยที่เพียบพร้อมด้วยปุ่มควบคุมเครื่องเสียง ครูสคอนโทรล พร้อมมาตรวัดความเร็ววงกลมโตตรงคอนโซลกลาง และแสดงรอบเครื่องยนต์หลังพวงมาลัย ยิ่งเพิ่มอารมณ์ให้อยากกระหน่ำคันเร่ง บังคับฝูงม้า 175 ตัวทะลวงแทรกไปบนท้องถนน

หลังสตาร์ทพลันเสียงเครื่องยนต์เสนาะหู ผลักคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง D ออกตัวค่อยไล่ๆความเร็วขึ้นไป จังหวะเปลี่ยนเกียร์ยังทำได้ลื่นไหล พละกำลังเครื่องยนต์ 1600 ซีซี ถ่ายทอดผ่านเกียร์อัตโนมัติได้ฉับไว

บางช่วงบางตอนนึกสนุกลองเหยียบมิดคันเร่ง พลันเจ้าเทอร์โบแบบใบพัดก้นหอยคู่ (Twin-scrolled) ก็โอเวอร์บูสต์เรียกแรงบิดระดับ 260 นิวตันเมตร ออกมาตอบสนองแรงกดของฝ่าเท้าได้ทันอกทันใจ ซึ่งต้องชมเทคโนโลยีเครื่องยนต์ทั้ง ระบบฉีดน้ำมันตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้(Direct Injection) พร้อมวาล์วแปรผัน(Valve Tronic) ที่บีเอ็มดับเบิลยู และกลุ่มพีเอสเอ(เปอโยต์,ซีตรอง)พัฒนาร่วมกันด้วย

ด้านช่วงล่างยังเซ็ทมา หนึบแน่น มั่นใจในทุกระดับความเร็ว ยิ่งเมื่อก้าวไปถึง 120 กม./ชม.แล้ว คุณยังรู้สึกถึงการเป็นนาย ที่สามารถควบคุมยนตรกรรมระดับ 3 ล้านบาทได้อย่างเชื่องมือ เข้า-ออกโค้งสาดใส่ได้เต็มที่ ขณะที่พวงมาลัยสั่งการตรงไปตรงมา น้ำหนักแปรผันตามความเร็ว มุดซ้ายป่ายขวาคล่องตัว

อย่างไรก็ตามแม้คลับแมนจะพยายามรักษากลิ่นอายการขับสนุกสไตล์มินิเอาไว้ แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพที่เป็นตัวถังแวกอน และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นคูเปอร์ เอส แฮทช์แบ็ก เกือบๆ 80 กิโลกรัม ก็รู้สึกได้ถึงการถ่ายเทน้ำหนัก และบาลานซ์ของรถที่อย่างไรแล้วรุ่นแฮทช์แบ็ก ยังดูสมบูรณ์และขับสนุกกว่า

ด้านระบบความปลอดภัย ทั้งถุงลมนิรภัย 4 จุด ม่านนิรภัยด้านข้าง 2 ฝั่ง และดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม ABS กระจายแรงเบรก EBD ระบบควบคุมแรงเบรกขณะเข้าโค้ง (CBC-Cornering Break Control) ระบบควบคุมเสถียรภาพรถ(DSC-Dynamic Stability Control) ระบบป้องกันการไหลขณะออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Assist) ที่จะคอยสอดประสานการทำงานที่จะคอยประสานการทำงานให้ทุกการเดินทางเปี่ยมด้วยความมั่นใจ ด้านอัตราการซดน้ำมันเฉลี่ยของคูเปอร์ เอส คลับแมน มินิเคลมไว้ที่ 15 กิโลเมตรต่อลิตร

รวบรัดตัดความ...ปัจจุบันการแตกไลน์ตัวถัง หรือการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันในรถหลายรุ่นหลากยี่ห้อ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อควบคุมต้นทุน พร้อมเพิ่มทางเลือกความหลากหลาย...“มินิ”หลังกลับมาเกิดใหม่ภายใต้ร่มเงาบีเอ็มดับเบิลยู ก็ดำเนินแนวทางดังกล่าว

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า แบรนด์อังกฤษเจ้าของเยอรมันรายนี้ประสบความสำเร็จสูงถ้าวัดจากภาพลักษณ์ และยอดขายทั่วโลก ยิ่งได้“คลับแมน”เข้ามาเป็นอาวุธเสริม ทำให้แนวรุกขยาย จับกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น สำหรับเมืองไทยกับราคา 2.7-3.2 ล้านบาท(คูเปอร์-คูเปอร์ เอส)ถ้าพอใจแล้วเงินในกระเป๋าไม่เดือดร้อนใครก็ซื้อครับ เพราะรถแวกอน อเนกประสงค์ ขับสนุก มีไม่กี่คันในโลกหรอก


ข้อมูลทางเทคนิค มินิ คูเปอร์ เอส คลับแมน
เครื่องยนต์เบนซิน DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว
ความจุกระบอกสูบ(ซีซี)1598
กำลังสูงสุด(แรงม้า/รตน.)175/5,500
แรงบิดสูงสุด(นิวตันเมตร/รตน.)240/1,600-6,000
ระบบส่งกำลังอัตโนมัติ 6 สปีด
ความยาว(มม.)3,958
ความกว้าง(มม.)1,683
ความสูง(มม.)1,432
ระยะฐานล้อ(มม.)2,547
น้ำหนักรถเปล่า(กก.)1,280
ความจุถังน้ำมัน(ลิตร)50
ระบบกันสะเทือน หน้าแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง
ระบบกันสะเทือน หลังมัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง
ขนาดยางหน้า-หลัง205/45R17
ราคา(บาท)3,200,000

กำลังโหลดความคิดเห็น