เอเยนซี – ครบรอบ 3 ปีการปฏิรูปค่าเงินของจีนที่เคยผูกกับดอลลาร์สหรัฐฯมาใช้ระบบตะกร้าเงิน สื่อแดนมังกรได้ชี้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนได้มีส่วนช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มความสมดุลในการค้าระหว่างประเทศอีกทั้งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม จีนยังจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนต่อไปในขณะที่ต้องยกระดับการตรวจสอบป้องกันการโจมตีค่าเงิน
นับตั้งแต่มีการปฏิรูปค่าเงินสกุลเหรินหมินปี้ หรือเงินหยวนมาจนถึงวันนี้ (21 ก.ค.) ก็ครบรอบ 3 ปีพอดี ในช่วง3ปีนี้ เงินหยวนได้เดินหน้าแข็งค่ารวมกันทั้งสิ้น 21% โดยสำนักข่าวซินหัวของจีนได้ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจของจีน กล่าวคือได้ยกระดับกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศจีน แต่ก็เน้นย้ำว่าในวันหน้ายังต้องเดินหน้าปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนต่อไป เพื่อให้รายรับและรายจ่ายของประเทศต่อนานาชาติเกิดความสมดุล
ในช่วง 3 ปีนี้ เงินหยวนของจีนได้แข็งค่าขึ้นมาก โดยเฉพาะในปีนี้ที่อัตราความเร็วได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยังผลให้ช่วงที่ผ่านมาจึงมีวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐหลายแห่งที่เริ่มตั้งคำถามว่า การแข็งค่าของเงินหยวนนั้นเร็วไปจนเริ่มเป็นการทำลายการส่งออกหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางการจีนยังออกข่าวยืนยันถึงความสำเร็จกับมาตรการที่ผ่านมา
โดยสำนักข่าวซินหัวได้รายงานว่า เมื่อพิจารณาจากภาพของเศรษฐกิจแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนได้ทำการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ พัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพในการกำหนดราคาในระบบการเงินและการบริหารจัดการความเสี่ยง และเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายควบคุมเศรษฐกิจมหภาคให้กับจีน
และแม้ว่าการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนจะทำให้วิสาหกิจส่งออกมีรายได้และมีกำไรน้อยลง รวมถึงมีศักยภาพในการแข่งขันน้อยลงทั้งยังมีความเสี่ยงมากขึ้น จนทำให้ปีที่แล้ววิสาหกิจส่งออกที่มีฐานอยู่ในบริเวณเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียงตามแนวชายฝั่งตะวันออกของจีน โดยเฉพาะธุรกิจเสื้อผ้าสิ่งทอที่ใช้แรงงานจำนวนมากนั้นต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตออกไปไม่น้อย ทว่าสิ่งที่ได้ตามมาก็คือการอาศัยการแข็งค่าของเงินหยวนในการปรับโครงสร้างและเพิ่มศักยภาพในการผลิตของสินค้าจีน
สำหรับประชาชนทั่วไป การปรับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ยังสามารถช่วยให้ราคาสินค้าบริโภคที่นำเข้าลดลง รวมไปถึงประชาชนจีนที่ออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือไปศึกษาในต่างประเทศก็จะจ่ายในราคาที่น้อยกว่าเดิม เท่ากับยกระดับในการบริโภคให้สูงขึ้น
สำนักข่าวซินหัวได้ระบุว่า ใน 3 ปีมานี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเฉลี่ยอยู่ที่เลข 2 หลัก และมีอัตราการว่างงานลดลงมาตลอด อีกทั้งยอดการส่งออกก็ไม่ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบนัก เพียงแต่อัตราการเติบโตชะลอตัวลงบ้าง แต่สิ่งที่ควรสังเกตก็คือ ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น มีการแกว่งตัวขึ้นลงในระดับที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ภายใต้ความซับซ้อนในระบบเศรษฐกิจ จีนเองนอกจากจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อไป อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับการฉวยโอกาสเก็งกำไรระยะสั้นและการโจมตีค่าเงินจากต่างชาติแล้ว ยังจะต้องพัฒนายกระดับการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน เพราะในขณะที่ต้องการจะสร้างสมดุลทางการค้ากับต่างประเทศ จีนเองก็จำเป็นต้องระวังป้องกันความปลอดภัยและเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงินภายในด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) ได้ประกาศปฏิรูปค่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2005 โดยยกเลิกการผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ และเปลี่ยนมาใช้ระบบตะกร้าเงิน ที่พิจารณาอุปสงค์อุปทานของตลาดแทน โดยจะปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีการควบคุม โดยในครั้งแรกที่ทำการปรับระบบก็มีการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าทันที 2%