xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากประชุมศก.ยุทธศาสตร์จีน-สหรัฐฯ จรดหมึกสัญญาพลังงาน-สิ่งแวดล้อม10ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายหวัง ฉีซันรองนายกรัฐมนตรีจีนจับมือกับเฮนรี พอลสันรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯหลังลงนามความร่วมมือด้านพลังงานที่วอชิงตัน
 
เอเยนซี – ปิดม่านลงแล้วสำหรับกการประชุมเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ 2 วันของจีน-สหรัฐฯ โดยบทสรุปในครั้งนี้ จีนกับสหรัฐฯได้หารือถึงวิธีการพัฒนาด้านการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ และได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 10 ปี และการเปิดจุดทดลองให้สถาบันการเงินบางประเภทไปให้บริการได้ และกำหนดการประชุมครั้งต่อจะเป็นเดือนธ.ค.ที่ปักกิ่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯเฮนรี พอลสันได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนว่า “ในสัญญาว่าด้วยการลงทุนจีน-สหรัฐฯ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยินดีในการต้อนรับการลงทุนจากทั้ง 2 ประเทศ และเจตนารมณ์ในการลงทุนด้วยความเสมอภาคและโปร่งใสต่อกัน”

ทั้งนี้ สหรัฐฯเคยลงนามในสัญญาการลงทุนรูปแบบนี้กับประเทศต่างๆเกือบ 40 ประเทศโดยสัญญาดังกล่าวมักจะมีการกำหนดหลักการและกฎที่สามารถยังประโยชน์ในด้านความสะดวกในการลงทุนในอีกประเทศ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดบนพื้นฐานของปัญหาที่มีอยู่ ในขณะที่จีนเองก็มีการลงนามในสัญญาลักษณะคล้ายคลึงกันกับอีกกว่า 100 ประเทศ

ที่ผ่านมา ทางสหรัฐฯอยากจะให้จีนยอมเปิดกว้างในด้านการลงทุนจากต่างชาติ ตั้งแต่ภาคการเงินไปจนถึงอุตสาหกรรม ในครั้งนี้พอลสันเองก็ได้กล่าวย้ำว่า “สหรัฐฯอยากจะให้มีการลงนามในด้านการลงทุนแบบครบวงจร ที่สามารถให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนในมาตรฐานที่สูง โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครองทางด้านกฎหมาแก่ผู้ประกอบการ”

อย่างไรก็ตามสัญญาด้านการเปิดกว้างการลงทุนนั้นจะมีการนำไปหารือในเรื่องของรายละเอียดต่อในการประชุมครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นที่ปักกิ่งในเดือนธ.ค. ของปีนี้

ส่วนสัญญาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ลงนามกันไปแล้วนั้น เป็นการกำหนดกรอบความร่วมมือกันเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยความร่วมมือจะครอบคลุมตั้งแต่ด้านของการพาณิชย์ วิชาการ การวิจัยเพื่อแบ่งปันความรู้ และผลักดันให้พลังงานและเทคโนโลยีใหม่ๆทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรม โดยพุ่งเป้าไปที่พลังงานไฟฟ้า พลังงานลม น้ำ การขนส่ง ป่าไม้ และระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มชื้น ซึ่งพอลสันได้ระบุว่า สัญญาดังกล่าวเป็นไปตามพื้นฐานของความร่วมมือทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ได้ร่างร่วมกันเมื่อเดือนธ.ค. ปี2007

ด้านประเด็นเงินหยวน ที่มีการพูดคุยกันมาตลอดในการประชุมเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ทุกครั้งนั้น พอลสันได้ตอบกับนักข่าวว่า รู้สึกชื่นชมที่ขณะนี้เงินหยวนของจีนแข็งค่าเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามก็ยังเรียกร้องว่าอยากให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเร็วกว่านี้

ในขณะที่จีนเองก็ได้โต้กลับในกรณีดังกล่าว โดยพูดถึงว่าการที่ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงเรื่อยๆ เป็นผลเสียต่อทั้งสหรัฐฯและประเทศอื่นๆทุกประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้สหรัฐฯออกมาแสดงความรับผิดชอบ

นายโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) ก็ได้ระบุว่า วิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินไปทั่วโลก ได้ทำให้จีนเริ่มสนใจที่จะศึกษาประสบการในการควบคุมทางมหภาคและการพัฒนาตลาดของสหรัฐฯ และหวังว่าจะเก็บประสบการเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์

นอกจากนั้นก็มีการหารือกันในเรื่องบริการด้านเศรษฐกิจการเงิน การลงทุนภาคเอกชน คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร การค้าและศักยภาพในการแข่งขันเป็นต้น อีกทั้งทางจีนยังได้ยินยอมให้มีการเปิดจุดทดลอง เพื่อให้สถาบันการเงินที่ไม่ได้รับฝากเงินจากต่างชาติเข้ามาตั้งจุดเปิดให้บริการทางการเงินในเขตที่กำหนด และอนุญาติให้ธนาคารต่างชาติที่มีคุณสมบัติสามารถออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิได้

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุมเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ จีน-สหรัฐฯจะเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. บริษัทอเมริกาและจีนได้ตบเท้าจรดหมึกสัญญามูลค่ารวมกว่า 13,600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นมีข้อตกลง 35 ฉบับ มูลค่า 8,300 ล้านเหรียญสหรัฐลงนามโดยบริษัทโทรคมนาคม บริษัทเกี่ยวกับการผลิต และไฮเทคโนโลยี ซึ่งลงนามที่สมาคมหอการค้าสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน กับการทำสัญญาที่เซนต์ หลุยส์ มลรัฐมิซซูรี ที่มีการลงนามมูลค่า 5,320 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อขายถั่วเหลือง และสินค้าเกี่ยวกับเคมี โทรคมนาคม และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ

ที่ผ่านมาจีนกับสหรัฐฯเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่อันดับ 2 ของกันและกัน ตามสถิติจากกระทรวงพาณิชย์จีน ปี2007 ยอดการค้าระหว่างสองประเทศมีกว่า 300,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญและเติบโตเร็วที่สุดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้ทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯได้สินค้าที่มีราคาถูก ในขณะจีนก็ได้เทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านการบริหารมา
กำลังโหลดความคิดเห็น