เอเยนซี – แม้ว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้ดอกเบี้ยของจีนกลับมาสูงกว่าสหรัฐฯแล้วก็ตาม ทว่าผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า หากเงินเฟ้อและการปล่อยสินเชื่อในจีนยังเดินหน้าสูงต่อไป จีนอาจจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยแม้จะเสี่ยงต่อเงินร้อนไหลบ่าก็ตาม
หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศหั่นราคาดอกเบี้ยนโยบายลงรวดเดียวถึง 0.75% จาก 4.25% มาเหลือ 3.5% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งใหญ่สุดในรอบ 23 ปีนับตั้งแต่เดือนต.ค. ปี 1984 โดยเป็นการเคลื่อนไหวฉุกเฉินเพื่อพยุเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังถดถอยนั้น ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของอเมริกานั้นต่างกันมากยิ่งขึ้น
โดยในปีที่ผ่านมา จีนได้มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วถึง 6 ครั้งโดยปัจจุบันจีนมีดอกเบี้ยฝากประจำอยู่ที่ 4.14% นั่นก็หมายความว่าปัจจุบันดอกเบี้ยของจีนกลับสูงกว่าสหรัฐฯถึง 64 จุด ทำให้เริ่มมีความกังวลว่าจะมีเงินร้อนไหลเข้าใจในปริมาณที่มากยิ่งขึ้น
หวังซงฉี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเงินสังกัดบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์ของจีนเปิดเผยว่า “การที่เฟดทำการลดดอกเบี้ยนั้นเพื่อเป็นการประคองรอบการตกต่ำของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าจีนจะพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯในด้านการส่งออกอยู่ไม่น้อย ทว่าเศรษฐกิจจีนโดยหลักยังคงอาศัยการบริโภคภายในเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ดังนั้นการปรับดอกเบี้ยดังกล่าวคงไม่มีผลกระทบต่อจีนโดยตรงมากนัก นอกจากภาคส่งออกของจีนที่อาจกระทบบ้างเล็กน้อย”
การที่สหรัฐฯลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จีนก็ได้รับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจนต้องขึ้นดอกเบี้ยมาหลายครั้ง ความแตกต่างดังกล่าวได้ทำให้การควบคุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนนั้นมีความยากมากยิ่งขึ้น
เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) ก็ได้เปิดเผยว่า “แม้ว่าการลดดอกเบี้ยของเฟด จะทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของจีนมีความลำบากมากขึ้น และทำให้การควบคุมเศรษฐกิจระดับมหภาคของจีนต้องพบกับอุปสรรค ทว่า จีนเองคงจะพิจารณาถึงสมดุลภายในเป็นหลัก ดังนั้นหากเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนก็คงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป”
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับสตีเฟน กรีน หัวหน้านักวิจัยของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ประจำเซี่ยงไอ้ได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้จีนน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง และแม้ว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดจะหยุดเสียงเรียกร้องให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม ทว่าเพื่อชะลอการปล่อยสินเชื่อให้น้อยลง จีนจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝาก
เพราะในปัจจุบันจีนยังคงมีการปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมาก มีการลงทุนสูง ราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เศรษฐกิจก็เติบโตอย่างร้อนแรงนั้น โดยหลักการแล้วจีนจึงควรที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพื่อที่จะรักษาศักยภาพในการรักษาสมดุลราคาเอาไว้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากอีกมุมหนึ่ง หลังจากที่ดอกเบี้ยจีนกลับกลายเป็นต่ำกว่าสหรัฐฯ บวกกับเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นเร็วกว่าที่คาด จะเป็นการนำพาให้เงินร้อนจากนานาชาติไหลเข้าจีนอย่างรวดเร็ว และผลักดันให้สภาพคล่องส่วนเกินในประเทศเพิ่มขึ้น รวมไปถึงผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงขึ้น