ไชน่านิวส์ – เงินสำรองธนาคารพาณิชย์จีนทำนิวไฮใหม่ หลังแบงก์ชาติจีนสั่งปรับขึ้น 1% เป็น 17.5% โดยแบ่งขึ้นเป็น 2 ช่วงและยกเว้นสถาบันการเงินในเขตภัยพิบัติแผ่นดินไหว โดยเป็นการส่งสัญญาณการเดินหน้าควบคุมสภาพคล่องทางการเงิน และแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนได้ประกาศในเย็นวันเสาร์ที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยสั่งให้สถาบันการเงินปรับเพิ่มอัตราเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ที่ต้องสำรองไว้ตามกฎหมายเพิ่มขึ้นอีก 1% โดยให้มีผลในการปรับขึ้นในวันที่ 15 มิ.ย. และ 25 มิ.ย. ครั้งละ 0.5% ยกเว้นสถาบันการเงินที่อยู่ในเขตภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ให้ยกเว้นการปรับนี้ชั่วคราว
การสั่งปรับเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 ในรอบปี หลังจากปรับแล้วจะทำให้เงินฝากสำรองธนาคารพาณิชย์ของจีนนั้นสูงถึง 17.5% หรือสูงที่สุดที่เคยมีมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า การปรับในครั้งนี้แตกต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องมองไปที่ 3 ประเด็นได้แก่ การประกาศในครั้งนี้เป็นการประกาศปรับก่อนจะมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีสินค้าผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งต่างจากที่ผ่านมาที่มักจะลงมือหลังจากมีการประกาศซีพีไอก่อน นอกจากนั้นการปรับในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นในอัตราที่มากกว่าที่ผ่านมา ที่มักจะปรับที่ 0.25-05% อีกประเด็นก็คือ เป็นการปรับที่กดดันในบางส่วน และคุ้มครองบางส่วน กล่าวคือมีการยกเว้นให้กับสถาบันการเงินที่อยู่ในเขตภัยพิบัติ
ในปัจจุบัน ธนาคารกลางพยายามระมัดระวังในการเลือกใช้วิธีขึ้นดอกเบี้ย แต่การปรับเงินสำรองธนาคารพาณิชย์แทบจะปรับกันเดือนละครั้ง นายจาง หย่งจวิน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศแห่งชาติระบุว่า “ในปัจจุบันยอดเงินฝากในธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซัปพลายเงินนั้นค่อนข้างมาก ดังนั้นธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องออกโรงเพื่อจำกัดสภาพคล่องของธนาคาร โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประกาศดัชนีต่างๆของเดือนพ.ค.ออกมา คาดว่าดัชนีราคาสินค้าหน้าโรงงาน และดัชนีราคาสินค้าต่างๆคงจะพุ่งสูงขึ้น การเดินหน้าปรับเงินสำรองธนาคารพาณิชย์จึงเป็นสิ่งที่ยากจะเลี่ยงได้”
ด้านศาสตราจารย์เผิง ซิงยุ่นจากสำนักงานวิจัยการเงิน สังกัดบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์จีนมองว่า “การที่ธนาคารกลางได้ปรับเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ขึ้นถึง 1% นั้น อาจจะเป็นการอาศัยสิ่งนี้เพื่อส่งสัญญาณว่า นโยบายการควบคุมทางการเงินนั้นยังมิได้เปลี่ยนแปลง หลังจากแผ่นดินไหวแล้ว จีนยังจะเดินหน้าควบคุมทางการเงินต่อไป”
ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางสำนักงานวิจัยด้านการเงินของธนาคารเองก็เคยออกรายงานฉบับหนึ่งที่ระบุว่า "การเกิดแผ่นดินไหวจะไม่ทำเปลี่ยนพื้นฐานการดำเนินนโยบายควบคุมเศรษฐกิจมหาภาค”
รายงานฉบับดังกล่าวมองว่า ภัยพิบัติแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมไม่มากนัก ซึ่งในปัจจุบัน เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเกิดการชะลอตัวลง ทว่าไม่มากนัก ยิ่งมองจากรอบ 4 เดือนแรกของปีที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 8.2% ราคาสินค้าผู้ผลิตอยู่ที่ 7.2% ทำให้เห็นได้ว่า สิ่งที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในด้านของเศรษฐกิจ เกิดจากการที่สินค้ามีราคาแพงขึ้นอย่างถ้วนหน้า
ยกตัวอย่างเช่นในด้านต้นทุนสินค้า จากการที่ราคาวัตถุดิบต้นน้ำทั่วโลกยังขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันทำนิวไฮทะลุ 130 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อมองจากสภาพภายในประเทศจีน เริ่มมีการเปิดกว้างราคาของถ่านหินกับน้ำมันดิบ เพียงควบคุมไว้แต่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับค่าไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ราคาของพลังงานทั้งสองก็มีแรงกดดันมากขึ้นทุกๆที
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารจีนได้ประกาศยกเว้นการปรับขึ้นเงินสำรองให้กับสถาบันการเงินที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัตินั้น ได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของธนาคารกลาง ที่ด้านหนึ่งต้องการจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับสนับสนุนการก่อสร้างหลังภัยพิบัติ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้นต้องการจะควบคุมเศรษฐกิจมหภาคควบคู่กันไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านอัตราเงินสำรองธนาคารพาณิชย์จีนถูกปรับขึ้น 0.5% เป็น 16.5% โดยให้เหตุผลว่าเป็นการควบคุมอัตราการปล่อยสินเชื่อ และคุมภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้งเป็นการเสริมแกร่งการบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบการธนาคาร และช่วยให้การขยายตัวของสินเชื่อและอุปทานเงินสมเหตุสมผลมากขึ้น โดยการปรับขึ้นเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ จะช่วยลดปริมาณเงินที่ไหลในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการจำกัดเงินทุนเพื่อการลงทุนให้ลดน้อยลง