xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทจีนพลิกวิกฤต บุกลงทุนสหรัฐฯ หลังหยวนแข็ง ค่าแรงในประเทศแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลิว เค่อลี่ วัย 63 ปี ประธานบริษัท ซันซี หยุนเฉิง เพลต-เมคกิ้ง กรุ๊ป ที่ตัดสินใจรุกเข้าไปลงทุนในอเมริกา - เอเยนซี
เอเยนซี – บริษัทจีนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หันลงทุนต่างประเทศ บุกตลาดอเมริกัน หลังค่าแรงในจีนสูง แถมหยวนแข็งค่า ทำส่งออกขาดทุน นักลงทุนจีนเผย ลงทุนในสหรัฐฯถูกกว่าจีนหลายเท่า เฉพาะค่าที่ดินก็ถูกกว่าเกินครึ่งแล้ว

หลังจากกฎหมายแรงงานฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ทำให้ต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้น แถมปัจจัยต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯขาลง, หยวนแข็งค่า และราคาอสังหาริมทรัพย์ถีบตัวสูง ทำให้บริษัทจีนหลายแห่งต่างมองหาลู่ทางลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า แถมภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเผชิญกับขาลง หลังวิกฤตซับไพรม์ทำเอาย่ำแย่

หลิว เค่อลี่ นักลงทุนจากมณฑลซันซีได้ทุ่มเงินกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อตั้งโรงงานผลิตแผ่นเพลตสำหรับงานพิมพ์ ในมลรัฐเซาท์แคโรไลนา โดยโรงงานดังกล่าวจะเปิดดำเนินการในฤดูใบไม้ร่วงนี้พร้อมกับการจ้างแรงงานกว่า 120 คน เบื้องต้นนั้นการขยายกิจการเข้าสู่อเมริกาของหลิว เป็นเพียงความตั้งใจเพื่อบุกตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทว่าเมื่อเขาตัดสินใจลงทุนแล้ว หลิวถึงกับผงะ เมื่อพบว่าต้นทุนการลงทุนถูกกว่าจีนหลายเท่า

หลิวใช้เงินประมาณ 500,000 เหรียญสหรัฐฯสำหรับการซื้อที่ 17.7 ไร่ในเมืองสปาร์ตันเบิร์ก นับว่าราคาถูกกว่าการซื้อที่ดินจำนวนเดียวกันในตงกว่าน มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ซึ่งหลิวตั้งโรงงานที่นั่น 3 แห่งราว 3-4 เท่า นอกจากนี้ค่าไฟฟ้าในสหรัฐฯยังถูกกว่าจีนถึง 75% ที่สำคัญหลิวยังไม่ต้องกังวลว่า ระหว่างดำเนินการผลิตจะต้องลุ้นว่าไฟฟ้าจะดับหรือไม่

สิ่งเดียวที่ต้องกังวลคือค่าแรงที่แพงกว่าอยู่ที่ราว 12-13 เหรียญสหรัฐฯต่อชั่วโมง ขณะที่ในตงกว่านค่าแรงแสนถูกเพียง 2 เหรียญสหรัฐฯต่อชั่วโมงเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลิว หวังว่าจะสามารถลดต้นทุนค่าแรงที่แพงขึ้น ด้วยเงินชดเชยภาษีที่เขาจะได้รับจากมลรัฐเซาท์แคโรไลนา “ผมแปลกใจมาก ส่วนต่างเงินลงทุนไม่แพงมากอย่างที่ผมคิด” หลิววัย 63 ปีประธานบริษัท ซันซี หยุนเฉิง เพลต-เมคกิ้ง กรุ๊ปกล่าว

หลิวเป็นเพียงภาพสะท้อนของนักลงทุนจีนส่วนหนึ่ง ที่แห่เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ นักลงทุนแดนมังกรทั้งสร้างโรงงาน, ซื้อบริษัท และลงทุนในธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์เมืองลุงแซมอย่างคึกคัก ผิดกับภาพที่หลายคนคิดว่า จีนโหยหาเงินจากอเมริกาเพียงฝ่ายเดียว

แม้มูลค่าการลงทุนส่วนบุคคลนี้อาจจะดูเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการลงทุนของซีไอซี กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีนที่ทุ่มเงินกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อหุ้นของมอร์แกน สแตนเลย์เมื่อปีที่ผ่านมา กับความพยามของซีนุกที่ทุ่มเงินกว่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อกิจการของยูโนแคล เมื่อปี 2005

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมยอดสุทธิเข้าด้วยกันแล้วการลงทุนส่วนบุคคลโดยภาคเอกชนจีน ก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ นอกจากนี้ การลงทุนดังกล่าว ยังมีลู่ทางที่สดใสกว่าการลงทุนโดยรัฐบาลจีน ที่มักถูกทางสหรัฐฯ ตั้งแง่สงสัยว่า มีวาระทางการเมืองแอบแฝงหรือไม่

นอกจากนี้รัฐบาลมลรัฐหลายแห่ง ต่างเร่งรีบสร้างผลงานเพื่อคะแนนนิยม ด้วยการดึงดูดต้อนรับนักลงทุนจากจีน

เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่ามลรัฐไวโอมิงถึงกับลงทุนทัวร์บริษัทจีนในมณฑลซันซี ส่วนผู้ว่ามลรัฐจอร์เจียก็ไม่น้อยหน้านำคณะรวม 40 ชีวิตเดินทางไปจีนเพื่อกระตุ้นการค้าและดึงดูดการลงทุน

ทว่านักลงทุนจีนยังคงกังวลถึงอุปสรรคการลงทุนในสหรัฐฯ ทั้งปัญหาจุกจิกเรื่องวีซ่า, ภาษา, วัฒนธรรม และการเมือง นอกจากนี้ปัญหาเรื่องทิเบตและการป่วนวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก ยังเป็นชนวนจุดให้เกิดกระแสคว่ำบาตรตะวันตกในจีน อย่างไรก็ตามปัญหารุมเร้าทั้งหลายไม่สามารถชะลอการหลั่งไหลของนักลงทุนจีนสู่เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

“พวกเขาไม่อยากพลาดโอกาสขุดทองในสหรัฐฯ” เหม่ย ซินอี้ว์ เศรษฐกรกระทรวงการคลังจีนกล่าว พร้อมชี้ถึงภาวะราคาอสังหาริมทรัพย์ขาลงในสหรัฐฯ

ด้วยเงินทุนที่มีอยู่อย่างมหาศาล บรรดาบริษัทจีนต่างกระตือรือร้นที่จะกระโจนออกไปลงทุนนอกบ้าน พวกเขารู้สึกว่าหากอยู่แต่ในบ้านสักวันคงเผชิญกับทางตัน จึงต้องออกไปขยายสู่ตลาดข้างนอก นอกจากนี้ รัฐบาลเองยังสนับสนุนให้พวกเขาออกไปลงทุนยังต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเกินดุลจำนวนมากกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าลงเกือบ 10% เมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทจีนใช้เงินน้อยลงสำหรับการลงทุนในสหรัฐฯ

ลมเปลี่ยนทิศ สวนกระแสลงทุน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนระหว่างจีน-สหรัฐฯเป็นไปในทิศทางเดียว คือนักลงทุนสหรัฐฯมักเข้าไปลงทุนในจีน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปกระแสลมกลับเปลี่ยนทิศ การที่ปักกิ่งควักเงิน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯลงทุนในมอร์แกน สแตนเลย์ ตามด้วยการลงทุนในแบล็ค สโตนอีกเป็นมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ยอดการลงทุนจีนในบริษัทสหรัฐฯปี 2007 พุ่งกระฉูดถึง 9,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากยอดปี 2006 ที่มีมูลค่าเพียง 36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขณะที่การลงทุนในจีนของอเมริกัน กลับลดลงจาก 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2006 เหลือ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2007

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่า ที่จริงยอดการลงทุนของจีนในสหรัฐฯอาจสูงกว่าตัวเลขที่ปรากฎ เนื่องจากบริษัทจีนมักเก็บตัวเงียบ หลบหลีกพ้นสายตาการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่

คาเรน เสิ่น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนด้านการพัฒนาการค้าของมลรัฐวอชิงตันในเซี่ยงไฮ้ เมื่อก่อนเธอมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสินค้าจากมลรัฐวอชิงตัน แต่เดี๋ยวนี้เมื่อลมเปลี่ยนทิศ บทบาทของเธอก็เปลี่ยนไปเป็นการประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในมลรัฐแทน

ผู้ผลิตชาวจีนโดยเฉพาะพวกที่นำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ กำลังสนใจหาทางลงทุนในวอชิงตัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง นอกจากนี้ราคาที่ดิน, แรงงาน และต้นทุนการผลิตในจีนก็ยังสูงขึ้น ทำให้พวกเขาเล็งเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ เสิ่นกล่าว

ทั้งนี้มลรัฐต่างๆมากกว่า 30 มลรัฐ ต่างมีตัวแทนของตนในประเทศจีน ทำหน้าที่ดึงดูดนักลงทุนแดนมังกรให้เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจแดนอินทรีกำลังอยู่ในช่วงขาลง อัตราการว่างงานก็สูง แม้แต่พวกที่ตำหนิวิพากษ์จีนอย่างรุนแรง บางคนยังต้องมองหาเงินลงทุนจากจีน

เมื่อเดือนมี.ค. ตัวแทนจากมลรัฐมิสซูรีซึ่งรวมทั้งผู้ว่ามลรัฐ, วุฒิสมาชิก 2 นาย และนายกเทศมนตรีเมืองเซนต์หลุยส์ได้เดินทางไปยังจีน เพื่อโน้มน้าวให้ แอร์ ไชน่า และเจ้าหน้าที่จีนสนับสนุนโครงการสร้างศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศที่เซนต์หลุยส์

นอกจากนี้ทางผู้ว่ามลรัฐแคลิฟอร์เนีย อาร์โนลด์ ชวาร์ซเนกเกอร์เองก็ได้เดินทางไปเจรจาด้านการค้าตั้งแต่ปี 2005 และแคลิฟอร์เนียก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนไม่น้อย เนื่องจากแคลิฟอร์เนียมีหลายอย่างที่คล้ายกับจีน มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมาก เมื่อปีที่แล้ว ไชน่า หมินเซิง แบงกิ้ง คอร์ป ได้ตกลงซื้อหุ้น 9.9% มูลค่า 317 ล้านเหรียญสหรัฐฯของยูไนเต็ด คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้บริการชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายจีน

หลิว ประธานบริษัท ซันซี หยุนเฉิง กล่าวว่าแรกเริ่มเขาคิดหนักว่า จะมาลงทุนในสหรัฐฯดีไหม เนื่องจากค่าแรงก็สูงกว่าจีน แถมบริษัทของเขาอาจถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม เนื่องจากคนทั่วไปมักมองว่าสินค้าจีนราคาถูก ด้อยคุณภาพและอันตราย

อย่างไรก็ตามเมื่อคิดมากเข้าเรื่อยๆ เขาก็เห็นว่ากิจการภายในประเทศจีน อาจไม่ขยายตัวได้มากนัก แถมการลงทุนในเม็กซิโกเมื่อ 4 ปีที่แล้วซึ่งประสบความสำเร็จ ช่วยให้เขาตัดสินใจว่าควรออกมาลงทุนนอกบ้าน และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จด้วย

ทั้งนี้การลงทุนในเม็กซิโกของบริษัท แม้จะประสบปัญหาเรื่องค่าแรงแพงกว่าจีนถึง 2 เท่า ทว่าปัจจุบันซันซี หยุนเฉิงสามารถครองสัดส่วนตลาดการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ร่องลึกในเม็กซิโกได้ถึง 30% เนื่องจากใช้กลยุทธ์ตัดราคาและส่งมอบสินค้าเร็วกว่าผู้ผลิตรายอื่น กระทั่งกิจการที่เม็กซิโกกลายเป็นกิจการที่ทำกำไรให้บริษัทมากที่สุด

“การเป็นบริษัทจีนในสหรัฐฯ อาจทำให้ลูกค้ามองเราว่าเป็นบริษัทที่ล้าหลังทางเทคโนโลยี แต่ตรงนี้เราต้องใช้เวลาทำงานอย่างขันแข็ง ทัศนคติของผู้คนจะค่อยๆเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ มีแรงกดดันมากมายสำหรับการกระโจนเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามการขยายกิจการครั้งนี้ จะช่วยให้ธุรกิจของเรามีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น” หลิวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น