วอลสตรีท เจอนัล-จีนออกโรงปฏิเสธชัดเมื่อวันอังคาร(15 ม.ค.) ถึงแผนการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐของไชน่า ดิเวลอปเมนท์ แบงก์(ซีดีบี)ในซิตี้กรุ๊ป ชี้การลงทุนอาจจำกัดฐานะของจีนเป็นเพียงแหล่งเงินของยักษ์ใหญ่ด้านการเงินของสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาจากผลพวงวิกฤตซับไพรม์ ส่งสัญญาณจีนระมัดระวังการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นหลังประสบความล้มเหลวซ้ำซ้อน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากซิตี้ กรุ๊ปออกมาประกาศเมื่อวันอาทิตย์(13 ม.ค.)ว่าอาจเปิดทางให้ซีดีบี วิสาหกิจจีน ลงทุนในสัดส่วนมูลค่าราว 2 พันล้านเหรียญฯ ส่วนเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล นักลงทุนจากซาอุดิ อาระเบียอาจลงทุนในระดับต่ำกว่า 5%
อาร์เธอร์ โครเบอร์กรรมการผู้จัดการของ Dragonomics บริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจในปักกิ่งกล่าวว่า การเลี่ยงลงทุนครั้งใหญ่ในสถาบันการเงินสหรัฐฯครั้งนี้ของจีน ส่งสัญญาณว่าจีนมีท่าทีระมัดระวังในการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น หลังจากที่ ไชน่า อินเว้สท์เมนท์ คอร์ป (ซีไอซี) บริษัทลงทุนเงินสำรองต่างประเทศของจีน ที่ทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ก้อนยักษ์กว่า 200,000 ล้านเหรียญ ฯ ประสบความล้มเหลวในการลงทุนครั้งที่ผ่านมา หรืออาจส่งสัญญาณว่า จีนไม่ต้องการทุ่มเงินไปกับการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆมากเกินไป หากไม่แน่ใจว่า ราคาหุ้นของสินทรัพย์นั้นๆจะร่วงลงต่ำสุดในอนาคตหรือไม่
นอกจากนี้ จีนมีประสบการณ์ลงทุนในตลาดต่างประเทศเพียงเล็กน้อย และการลงทุนครั้งใหญ่ในแบล็คสโตน กรุ๊ป แอลพี และบาร์เคลย์ส พีแอลซี ที่ผ่านมาของสถาบันการเงินจีน ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ซึ่งตัวเลขการค้าเกินดุลของจีนเพิ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนในปัจจุบันพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านเหรียญฯ มากพอที่จะไปค้ำจุนสถาบันการเงินของจีนที่กำลังประสบภาวะทางการเงิน และมีเหลือลงทุนด้านอื่นๆ
ทั้งนี้ ความล้มเหลวในการซื้อหุ้นของแบล็คสโตน ยักษ์ใหญ่เงินทุนเอกชนจากสหรัฐฯ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯของซีไอซี ทำให้มูลค่าหุ้นของซีไอซีร่วงลงถึง 31% และความล้มเหลวของซีดีบีที่ทุ่มเงินถึง 2,900 ล้านเหรียญฯ ซื้อหุ้น 3.1% ของบาร์เคลย์ส ธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของอังกฤษ เพื่อหนุนการประมูลซื้อเอบีเอ็ม แอมโร กลุ่มแบงก์ยักษ์สัญชาติดัตช์แข่งกับกลุ่มร่วมค้าที่นำโดยรอยัลแบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ กรุ๊ป แต่ประสบความพ่ายแพ้ และหุ้นของบาร์เคลย์สก็ร่วงลงถึง 1 ใน 3 หลังจากซีดีบีตกลงซื้อหุ้นของบาร์เคลย์สได้ไม่นาน
จีนยังมีเงื่อนไขในการอนุมัติข้อตกลงมากขึ้น จากประสบการณ์การทำข้อตกลงกับต่างชาติที่ส่งผลกระทบทางการเมืองในอดีตคือ ในปี 2005 ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น(ซีนุก) ยักษ์พลังงานจากจีนตัดสินใจถอนข้อเสนอซื้อกิจการยูโนแคล บริษัทพลังงานอันดับ 9 ของสหรัฐฯ ด้วยเงินสดมูลค่า 18,500 ล้านเหรียญฯสหรัฐฯ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากสภาคองเกรสฯของสหรัฐฯ และจีนก็ไม่ต้องการถูกโจมตีจากสาธารณชนหากการลงทุนประสบความล้มเหลว
“แม้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอยากลงทุนในต่างประเทศมาก แต่พวกเขาก็เกรงว่ามันจะส่งผลกระทบทางการเมืองด้วย”โครเบอร์กล่าว
ด้วยเหตุนี้ จีนต้องคิดหนัก เมื่อซิตี้กรุ๊ปเสนอขายหุ้นมูลค่ามหาศาลในครั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ จีนยังไม่แน่ใจในท่าทีของนักการเมืองและประชาชนสหรัฐฯ หากหุ้นของธนาคารแห่งชาติรายใหญ่ของสหรัฐฯอย่างซิตี้ กรุ๊ป ตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลต่างชาติอย่างจีน
ทั้งนี้ ไชน่า ดิเวลลอปเมนท์ แบงก์(ซีดีบี)จัดตั้งในปี 1994 เป็น 1 ใน 3 ธนาคารเชิงนโยบายของจีน โดยไชน่า อินเว้สท์เมนท์ คอร์ป(ซีไอซี) ระดมทุนมูลค่า 20,000 ล้านเหรียญฯเข้าซีดีบีเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา อันเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเพื่อปรับโครงสร้างซีดีบีให้เป็นธนาคารพาณิชย์.