xs
xsm
sm
md
lg

ยักษ์กองทุนจีนเล็งหนุนแบงก์ท้องถิ่นสู่เวทีโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โหลวจี้เหว่ย ประธานบรรษัทการลงทุนแห่งประเทศจีน (ซีไอซี)
วอลสตรีท เจอร์นัล- การอัดฉีดเงินทุนจำนวน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ของบรรษัทการลงทุนแห่งประเทศจีน(ซีไอซี)กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน ให้แก่ธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน(ซีดีบี) เป็นตัวอย่างล่าสุดถึงวิธีการที่จีนใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มหาศาลมาเพิ่มงบดุลของธนาคารท้องถิ่น


ซีไอซี ซึ่งทำหน้าที่บริหารเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนทั้งหมด นอกจาก จะให้ความสนใจลงทุนในตลาดต่างประเทศอย่างมาก ด้วยการเข้าถือกรรมสิทธิ์หุ้นของแบล็ก สโตน กรุ๊ป แอลพี บริษัทกองทุนเอกชนของสหรัฐฯ รวมถึงหุ้นของมอร์แกน สแตนลีย์ วาณิชธนกิจระดับโลกจากสหรัฐฯแล้ว ซีไอซียังสำรองเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อปรับปรุงโครงสร้างเงินทุนของสถาบันการเงินภายในประเทศเพื่อลงทุนยังต่างประเทศด้วย

ธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน(ซีดีบี) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาตลาดซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของจีนซึ่งยังใหม่ในขณะนั้น กลายเป็นธนาคารที่มีชื่อเสียงระดับโลกเมื่อไม่นานมานี้ โดยเมื่อต้นปี 2007 ลงทุนถึง 3,000 ล้านเหรียญฯ ในบาร์เคลส์ พีแอลซี ของอังกฤษ เพื่อหนุนการประมูลซื้อหุ้นเอบีเอ็น แอมโร โฮลดิ้งส์ เอ็นวี กลุ่มแบงก์ยักษ์สัญชาติดัตช์ แต่การประมูลประสบความล้มเหลว

ทั้งนี้ แผนอัดฉีดเงินทุนเข้าซีดีบี เริ่มขึ้นราวเดือนมกราคมปีที่แล้ว รัฐบาลได้ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในโลกถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตกแต่งบัญชีธนาคารรายใหญ่สุด 3 แห่งของจีน ก่อนทำไอพีโอ โดยเซ็นทรัล ฮุ่ยจิน อินเวสต์เมนท์ คอมปานี หน่วยงานของรัฐบาลซึ่งถูกรวมเข้ากับซีไอซี เป็นผู้ฉีดเงินรวมแล้วราว 60,000 ล้านเหรียญฯ

ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเคยประสบภาวะล้มละลาย นำโดยธนาคารอุตสาหกรรมและการพาณิชย์จีน(ไอซีบีซี) กลายเป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยธนาคารเหล่านี้เริ่มใช้เงินจำนวนมหาศาลที่ได้จากการทำไอพีโอในการขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก

ทั้งนี้ ธนาคารกลางของจีนระบุในรายงานบนเว็บไซต์เมื่อวันจันทร์(31 ธ.ค. 2550)ว่าการอัดฉีดเงินทุนให้แก่ซีดีบี จะช่วยเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มความสามารถในการป้องกันความเสี่ยง และช่วยให้ธนาคารสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้

ทั้งนี้ ซีดีบี มีลักษณะคล้ายธนาคารโลกในแบบฉบับของจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 โดยเฉินหยวน อดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน และ เฉินหยุน ลูกชายของเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วางแผนปฏิรูประบบเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกัน เฉินหยวนก็ใช้เงินของเขาในธนาคารหนุนโครงการสำคัญของรัฐบาลเช่น เขื่อนสามโตรก ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารโลกปฏิเสธที่จะปล่อยสินเชื่อให้

นอกจากนี้ ซีดีบียังปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการต่างๆของจีนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึง การปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนที่ซีดีบีก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการในแอฟริกา และสนับสนุนบริษัทต่างๆที่สนใจขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ฐานเงินทุนของซีดีบีเริ่มประสบปัญหาจากการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นโดยที่ทุนไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งแหล่งรายได้ของซีดีบี ไม่ได้มาจากเงินฝากธนาคารของประชาชนจำวน 1,300 ล้านคนในจีน แต่ส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายพันธบัตร ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมา มีมูลค่ารวมแล้วสูงถึง 274,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งในตลาดระหว่างประเทศ ซีดีบีถือเป็นผู้ที่ออกพันธบัตรมากที่สุดในบรรดาสถาบันการเงินจีนทั้งหมด

และเนื่องจาก ส่วนใหญ่ซีดีบีจะปล่อยสินเชื่อให้แก่หน่วยงานต่างๆของรัฐบาล หรือโครงการที่รัฐบาลหนุนหลังอยู่ ทำให้มีหนี้สูญต่ำ เช่น สินเชื่อจำนวนทั้งสิ้น 576,000 ล้านหยวนที่จัดสรรในปี 2006 นั้นจะเข้าสู่ 3 ภาคคือ พลังงาน,ถนน และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ ภาคละราว 20%

ด้านโฆษกของซีดีบี ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติมประเด็นการอัดฉีดเงินทุนของซีไอซี นอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในรายงานของธนาคาร.
กำลังโหลดความคิดเห็น