รอยเตอร์/หนังสือพิมพ์สากล – สินค้าราคาถูกจากจีนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” ที่เคยมีส่วนช่วยในการลดราคาสินค้าและเงินเฟ้อให้กับนานาประเทศในโลกนั้นกำลังจะเปลี่ยนไป จากต้นทุนการผลิตและอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่สูงขึ้น จนอาจทำให้จีนจำต้องส่งออก “เงินเฟ้อ” สินค้าที่ไม่มีใครปรารถนาให้กับนานาชาติ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนได้เพิ่มสูงขึ้น 3% ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ในขณะที่ราคาอาหาร พลังงาน ที่ดินและวัตถุดิบต่างๆในจีนก็กำลังถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลดันให้ตัวเลขเงินเฟ้อของจีนช่วงที่ผ่านมาสูงที่สุดในรอบ 11 ปีซึ่งแน่นอนว่าจีนไม่สามารถที่จะใช้วิธีการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อที่จะมาลดต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นได้ตลอดไป
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากที่ผ่านมาในรอบ 5-6 ที่บริษัทผู้ผลิตในจีนที่ได้จดทะเบียนในตลาด ต่างมียอดการขายและสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมาตลอด โดยสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าในช่วงก่อนนั้นพวกเขาได้ยกระดับประสิทธิภาพของตนมาจนถึงจุดพีคในระดับหนึ่ง ทำให้ตัวเลขเหล่านี้เริ่มลดลงในช่วงปีที่ผ่านมาและน่าจะเห็นได้ชัดขึ้นในปีนี้ ทางออกของบริษัทที่ทำได้คือการผ่องถ่ายต้นทุนสินค้านี้ไปให้กับผู้บริโภคสินค้ามังกรที่มีอยู่ทั่วโลก
การลงทุนของบริษัทจีนก่อนหน้านี้ได้ผลตอบแทนที่สูงมากมาโดยตลอด สาเหตุมาจากราคาที่ดิน แรงงานที่ราคาถูกในจีนที่ช่วยให้ได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าปกติ แต่ขณะนี้ทางการมังกรเองก็เริ่มขยับตัวในการลงมือปฏิรูปในด้านต่างๆอาทิกฎหมายแรงงานใหม่ที่จะทำให้ต้นทุนด้านค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น บวกกับภาษีทรัพยากรที่จะเป็นตัวเข็นให้ต้นทุนด้านการใช้ทรัพยากรในจีนเพิ่มขึ้น ยังไม่รวมถึงสินค้า “เมดอินไชน่า” ที่มักจะเจอไฟแดงบ่อยๆจนทำให้บริษัทจากฟากตะวันตกจำต้องเรียกร้องในด้านคุณภาพสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้สินค้าจีนส่งออกจีน “แพงขึ้น”
สิ่งนี้อาจจะทำให้ทางการสหรัฐฯได้รับในสิ่งที่ต้องการมาโดยตลอด ก็คือสินค้าจีนนำเข้าจะไม่ได้มีราคาถูกอย่างเดิมอีกต่อไป ในหลายปีมานี้รัฐบาลสหรัฐฯพร้อมทั้งสมาชิกสภาคองเกรสได้พยายามออกมาป่าวร้องว่าจีนได้ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเหรินหมินปี้เพื่อช่วยเหลือการส่งออก เมื่อเหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเช่นนี้พวกเขาอาจจะต้องนำเข้า “เงินเฟ้อ” จากจีนซึ่งจะสร้างความลำบากให้มากกว่า
เอฟเฟกต์เงินเฟ้อจีน
หนังสือพิมพ์เดอะ ไทม์ส ของอังกฤษได้ชี้ว่า มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเตือนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการที่จีนมีการเพิ่มความกดดันในด้านค่าแรงและต้นทุนอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นสัญญาณที่ชี้ว่าจีนกำลังจะผ่องถ่ายเงินเฟ้อออกมา ซึ่งนักวิเคราะห์ได้แสดงความเป็นห่วงว่า ยุคสมัยที่ประเทศอุตสาหกรรมทางตะวันตกได้อาศัยการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเพื่อมาลดความกดดันในด้านเงินเฟ้อ และรักษาให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตต่อเนื่องได้อาจกำลังจะหมดไป เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจของยุโรปกับสหรัฐฯจะชะลอการเติบโตลง ทว่าอุปสงค์ทางพลังงานและวัตถุดิบของจีนไม่ได้ลดตามไปด้วย สิ่งนี้จะทำให้ราคาวัตถุดิบคงตัวอยู่ในระดับสูงและเพิ่มความกังวลเรื่องเอฟเฟกต์เงินเฟ้อจีนให้กับนานาชาติ
ต่อคำถามที่ว่าจีนมีศักยภาพพอที่จะส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับประเทศที่จีนส่งออกได้หรือไม่ Paul Cavey หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจีนของแมคควอรี่ แบงก์ในออสเตรเลียได้ระบุว่า จากตัวเลขเมื่อไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว แม้ว่าตัวเลขการนำเข้าของสหรัฐฯจะลดลง ทว่ามูลค่าการส่งออกของจีนกลับเพิ่มขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าจีนมีอำนาจการกำหนดราคาอยู่ในระดับหนึ่ง
“ในความเป็นจริงราคาสินค้าของจีนได้เริ่มขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ เมื่อภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก เท่ากับว่าประเทศอื่นๆก็ต้องเตรียมควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นด้วย”
โดยเฉพาะในขณะนี้ในประเทศจีนความกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากกว่าเรื่องธุรกิจส่งออกอย่างเห็นได้ชัด เป็นไปได้ว่าในปีนี้รัฐบาลปักกิ่งอาจอนุญาตให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นถึง 10% จากตัวเลขการประเมินของไชน่า อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล คอร์ปอเรชัน (ซีไอซีซี) ได้ระบุว่าเมื่อเงินหยวนแข็งค่าขึ้น 10% จะสามารถลดเงินเฟ้อในระยะสั้นได้ 0.8% และลดในระยะยาวได้ 3.2% ซึ่งแน่นอนว่าผลโดยตรงจากการที่เงินหยวนแข็งค่าก็คือ สินค้าส่งออกจีนจะแพงตาม
เถาตง นักเศรษฐศาสตร์ของเครดิตสวิส เฟิร์สท์ บอสตันประจำภูมิภาคเอเชียได้ชี้ว่า “เมื่อจีนเริ่มส่งออกเงินเฟ้อของตนออกมา สิ่งนี้จะกระทบกระเทือนไปทั่วโลก ขณะนี้แค่ในฮ่องกงเรื่องเงินเฟ้อก็เริ่มเห็นได้ชัด เริ่มจากเนื้อหมูที่ขึ้นราคา บวกกับแป้งหมี่จากจีนที่แพงขึ้น ทำให้ร้านขนมปังและร้านอาหารหลายแห่งพากันขึ้นราคาจนบะหมี่เกี๊ยวชามละ 10 เหรียญฮ่องกงกำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว และวันหน้าผู้บริโภคจากสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ก็เตรียมตัวที่จะต้องซื้อของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้าที่แพงขึ้น"
แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งเองก็มีความพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อในประเทศ อย่างเช่นล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไม่ให้มีการปรับราคาของน้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า น้ำ รวมไปถึงค่าเล่าเรียน ค่าที่พักอาศัยรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลสูงกว่ามาตรฐานเดิม พร้อมเพิ่มบทลงโทษในกลุ่มที่ควบคุมแทรกแซงกลไกราคาตลาด ทว่ามาตรการเหล่านี้จะส่งผลได้ก็เพียงในระยะสั้นเท่านั้น
ปี้นี้เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ประเด็นปัญหาของจีนคงจะยังเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากมายจากนักการเมืองทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ทว่าความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่พวกเขาทราบดีก็คือ แม้รัฐบาลจีนจะมีอำนาจในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ทว่าต่อการที่ราคาสินค้าแพงขึ้นถ้วนหน้านั้นคงยากที่จะทำอะไรได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกก็ตาม หากเงินเฟ้อเริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วก็ยากที่จะกดมันลงได้โดยง่าย ในขณะที่จีนกำลังจะเริ่มส่งออกเงินเฟ้อเหล่านี้แล้ว แต่นานาประเทศได้เตรียมพร้อมรับมือกันหรือยัง?