รอยเตอร์ – บริษัทจีนเจอศึกหนักปีนี้ บริษัทรายย่อยหลายร้อยหลายเตรียมตัวตายหลังจีนนำกฎหมายแรงงานฉบับใหม่มาใช้ กำหนดเพิ่มเงินเดือน เอื้ออำนวยสวัสดิการลูกจ้างสารพัด ทำบริษัทหลายรายเล็งย้ายฐานการผลิตลึกเข้าไปตอนใน หรือเผ่นออกนอกประเทศไปเลย
บรรดานักวิเคราะห์และนักธุรกิจชี้ว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม จะผลักดันให้ต้นทุนธุรกิจในจีนถีบตัวสูงขึ้นในปีนี้ โดยมีการเพิ่มค่าจ้างแรงงานอย่างเด่นชัด ขณะเดียวกัน ก็ลดโอกาสการยืดหยุ่นพลิกแพลง ที่เคยทำให้จีนมีสภาพหมือน “โรงงานของโลก” นอกจากนั้น การมีแรงงานราคาถูก ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบมหาศาลของจีน ก็กำลังจะเปลี่ยนไปด้วยเงื้อมมือกฎหมายฉบับนี้
แคลวิน ฉาง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนจิงหัวในเซินเจิ้น ชี้ว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่จะเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 8 ในปีหน้า จึงคาดว่า หลายบริษัทต้องย้ายการผลิตไปยังมณฑลตอนใน เช่น เจียงซี , เหอหนัน หรือย้ายไปต่างประเทศ อย่าง เวียดนาม และบริษัทรายย่อยของไต้หวันหลายร้อยรายใน ตงกว่านและเซินเจิ้น จะตายเรียบในปีหน้า
กฎหมายแรงงานฉบับใหม่กำหนดให้บริษัททำสัญญาเปิดกว้างแก่พนักงาน ที่ทำงานนาน 10 ปี หรือทำงานครบสัญญาการว่าจ้าง ที่กำหนดระยะเวลาว่าจ้างแล้ว 2 สัญญา โดยสัญญาตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดนี้ ระบุให้บริษัทเพิ่มเงินบำนาญและกองทุนประกัน นอกจากนั้น ต้องจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างตามจำนวนปีที่พนักงานทำงานให้บริษัท
นักวิเคราะห์ชี้ว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่เอื้อประโยชน์แก่ลูกจ้างอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนด้านปฏิบัติการอย่างเห็นได้ชัด คาเรน ลิน ผู้จัดการกองทุนอาวุโส ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ Paradigm ในกรุงไทเป มองว่า กฎหมายจะเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้นคร่าว ๆ ร้อยละ 25 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด บริษัทที่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับข้อบังคับใหม่ได้ จะเริ่มรู้สึกถูกกดดันอย่างหนักในด้านผลกำไร ภายใน 5-6 ปี
“ในระยะนี้ บริษัทไต้หวันจะต้องคิดแล้วว่าจะเพิ่มความสามารถการแข่งขันของบริษัทได้อย่างไร เพราะโอกาสใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกในจีนลดน้อยลงทุกที”
ปลดพนักงานยากขึ้น
หม่าจวิ้น หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สำหรับจีนของด๊อยช์แบ๊งก์ ในฮ่องกง ชี้ว่า กฎหมายฉบับนี้ จะลดข้อพิพาทด้านแรงงาน และทำให้พนักงานจงรักภักดีมากขึ้นต่อนายจ้างที่ดี แต่บริษัทจำนวนมากในหลายภาค เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต, ภัตตาคาร, การก่อสร้าง และการผลิตสินค้าระดับล่าง จะอ่อนแอ เนื่องจากโอกาสฉวยประโยชน์จากแรงงานราคาถูกและหลบเลี่ยงการจ่ายประกันสังคม มีน้อยลง
ขณะเดียวกัน หลายบริษัทกำลังดิ้น เพื่อปรับตัว หรือหาช่องโหว่จากกฎหมาย โดยบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไอที ไปจนถึงบริษัทเหล้า กำลังเล่นเกม “ปลดและจ้าง” เร่งจบสัญญาจ้างงานปัจจุบัน และจ้างพนักงานที่ถูกปลดตามสัญญาว่าจ้างใหม่ ระยะเวลาจ้างงานถูกตั้งนาฬิกาเดินติ๊กต่อกใหม่
บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี่ ตกเป็นข่าวพาดหัว เมื่อมีแผนบังคับให้ลูกจ้าง 7,000 คน ที่ทำงานมานานกว่า 8 ปี ลาออกโดยสมัครใจ และให้สมัครกลับเข้าทำงานใหม่ แต่บริษัทอุปกรณ์เทเลคอม ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้น แห่งนี้ จำต้องยกเลิกแผน หลังสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นของรัฐบาล ออกมาระบุว่า เป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อเป้าหมายของรัฐบาลในผลักดันจีนไปสู่สังคมแห่งความสามัคคีปรองดอง
ลักษณะประการหนึ่งในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนก็คือส่วนแบ่งรายได้แห่งชาติของแรงงานได้ลดลง ขณะที่ผลตอบแทนเงินทุนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่มีระดับต่ำ และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนเครื่องจักร เพื่อขยายการผลิต
ในขณะที่จีนมุ่งส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ขณะนี้ จึงถึงเวลาเหมาะสมในการเพิ่มค่าจ้าง โดยเฉพาะแรงงานตามแถบการพัฒนาชายฝั่งทะเล อันเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับเศรษฐกิจใด ก็ตาม ไม่เว้นแม้กระทั่งจีน
นายจ้างอ่วม
นักเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่า การเพิ่มต้นทุนแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนไตร่ตรองมา เพื่อผลักดันให้บรรดาผู้ผลิต เร่งการแข่งขัน โดยในส่วนของรัฐบาลได้ปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้น และยกเลิกการคืนเงินภาษีส่งออกบางรายการ
กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ให้การปกป้องพื้นฐานแก่แรงงาน ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับเศรษฐกิจของชาติที่ค่อนข้างพัฒนาไปมากแล้วอย่างจีน แต่เป็นสิ่งหนักหนาสาหัสสำหรับนายจ้าง อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว อาร์เท่อร์ โครเบ้อร์ จากบริษัทที่ปรึกษา ดราโกโนมิกส์ ในกรุงปักกิ่ง มองว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง ตราบใดที่การลงทุนในจีนยังเป็นสิ่งที่วิตกกังวลกัน
ฉางข่าย ศาสตราจารย์ ของมหาวิทยาลัยประชาชนในกรุงปักกิ่ง และผู้ร่างกฎหมายแรงงานฉบับนี้ เห็นด้วย “ กฎหมายอาจทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้น แต่จะมีการยอมรับการเพิ่มขึ้นนี้ได้อย่างแน่นอน"
แต่ทุกวันนี้ บริษัทต่าง ๆ ก็ต้องมีรายจ่ายเพิ่มในหลายเรื่องอยู่แล้ว ตั้งแต่เรื่องที่ดิน ไปจนถึงเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ฉะนั้น การเพิ่มค่าจ้างแรงงาน อาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย
ปีเตอร์ เคอร์ซ นักวิเคราะห์ของซิติในกรุงไทเป กล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจำนวนหนึ่งของไต้หวัน บอกว่า กฎหมายฉบับนี้ส่อให้เห็นว่า การลงทุนของพวกตนในจีนมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และนับต่อจากนี้ไป ความสนใจของนักลงทุนไต้หวันจะพุ่งไปที่เวียดนามแทน