xs
xsm
sm
md
lg

“หลินอี้ฟู” นักศศ.มังกรผงาดนั่งรองปธ.เวิลด์แบงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ - เมื่อวันจันทร์ (4 ก.พ.) หลินอี้ฟู (จัสติน หลิน) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจีนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง วัย 55 ปีได้รับการแต่งตั้งให้เข้านั่งเก้าอี้รองประธานธนาคารโลก หรือหัวหน้าเศรษฐกร (chief economist) โดยเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ในเดือนพ.ค. 2008 แทน ฟรังซัวร์ บูร์กียง (François Bourguignon) ซึ่งโบกมือลาเก้าอี้ไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2007 หลังโรเบิร์ต โซลลิค (Robert Zoellick) ประธานธนาคารโลกตัดสินใจฟังเสียงวิจารณ์ ธนาคารโลกต้องให้ความสำคัญกับตลาดเกิดใหม่ และบุคลากรบริหารระดับสูงจากชาติกำลังพัฒนามากขึ้น

หลินนั้นนอกจากการเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจีน ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งแล้ว ยังรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของรัฐบาลจีน จนมาเป็นชาวจีนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก ซึ่งโดยปรกติแล้วมักเป็นตำแหน่งที่เป็นของนักวิชาการจากยุโรปหรือสหรัฐฯ

โดยหลังจากที่ประธานเวิลด์แบงก์ โรเบิร์ต โซลลิคประกาศการแต่งตั้งในครั้งนี้แล้ว ก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “หลินเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์สูง การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานธนาคารโลกที่รับผิดชอบในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และหัวหน้าเศรษฐกร จะเป็นการช่วยเพื่อมความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับประเทศจีนมากขึ้น”

เก้าอี้รองประธานธนาคารโลก ที่กลายมาเป็นของหลินนี้ ช่วยสะท้อนให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับธนาคารโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้จีนเพิ่งพลิกสถานะจากผู้รับบริจาครายใหญ่ของธนาคารโลก เป็นผู้บริจาคเงินให้กับองค์กรโลกบาลแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2007 จากการที่เศรษฐกิจจีนที่โตวันโตคืนจนดันทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศจีนพุ่งสูงถึงกว่า 1.4 ล้านล้านหยวน

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา หลินรับหน้าที่วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีนจนเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่หาตัวจับได้ยาก ที่จริงแล้ว หลินอี้ฟู เป็นชาวไต้หวัน สำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตด้านการบริหารธุรกิจจากเจิ้งต้า มหาวิทยาลัยทางรัฐศาสตร์ชื่อดังแห่งกรุงไทเปในปี 1978 ซึ่งเป็นปีที่แผ่นดินใหญ่เริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ

ครั้นปี 1979 หลินก็เข้าประจำการเป็นทหารในกองทัพบกไต้หวัน หลินปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีจนได้รับยกย่องให้เป็นเจ้าหน้าที่ดีเด่น ที่ทหารรายอื่นควรเอาเป็นแบบอย่าง สื่อจำนวนมากให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลินในช่วงนั้นว่า หลินแอบลักลอบว่ายน้ำข้ามช่องแคบเพื่อหนีมาศึกษาต่อยังแผ่นดินใหญ่ โดยเริ่มว่ายน้ำออกจากเกาะจินเหมิน ซึ่งทางไต้หวันไม่ได้ตระหนักเลยว่าหลินแอบหนีมายังแผ่นดินใหญ่ ยังคงขึ้นทะเบียนเขาในฐานะผู้สูญหาย

หลังจากนั้นหลินก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จนจบเป็นมหาบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสม์ในปี 1982 ต่อมาหลินสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโกในปี 1986 โดยหลินเป็นนักศึกษาชาวจีนคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐฯ ในยุคที่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ

เมื่อปีที่แล้วหลินแอบเผยถึงแนวทางการพัฒนาของจีน ที่เขาจะนำมาปรับใช้กับประเทศกำลังพัฒนา ระหว่างที่เขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ว่า “เศรษฐกิจจีนและเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมิได้พึ่งพานโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรีแบบดั้งเดิม 100% ทว่าในทางกลับกัน กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกาที่พยายามก้มหน้าก้มตาเปิดเสรีตลาดกลับประสบปัญหานานับประการ”

อย่างไรก็ตามหลินได้สรุปว่า “ประเทศหนึ่งไม่ควรยึดถือหลักการหรือประสบการณ์ของอีกประเทศมาประพฤติตามโดยไม่ลืมหูลืมตา การค่อยๆเปลี่ยนแปลง พิจารณารับมาทีละส่วนต่างหาก ที่จะช่วยปฏิรูป และเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงสู่เศรษฐกิจระบบตลาด

ทั้งนี้ตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก ซึ่งถูกเรียกในอีกชื่อว่า หัวหน้าเศรษฐกร มีบทบาทสำคัญในการกำหนดประเด็นวาระวิจัย และชี้นำทิศทางด้านวิชาการ โดยเวิลด์แบงก์เป็นสถาบันการเงินที่สหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งขึ้น ควบคู่กับไอเอ็มเอฟ เพื่อควบคุมเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ดำเนินไปตามไปอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง
กำลังโหลดความคิดเห็น