xs
xsm
sm
md
lg

‘หลินอี้ฟู’ มังกรผู้ผงาดนั่งรองปธ.ธนาคารโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลินอี้ฟู (จัสติน หลิน) นักวิชาการจากแผ่นดินใหญ่ ที่เตรียมนั่งเก้าอี้รองประธานธนาคารโลก
หลินอี้ฟู (จัสติน หลิน) นักวิชาการชื่อดังจากจีน ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก หรือหัวหน้าเศรษฐกร (chief economist) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 หลังโรเบิร์ต โซลลิค (Robert Zoellick) ประธานธนาคารโลกตัดสินใจฟังเสียงวิจารณ์ ธนาคารโลกต้องให้ความสำคัญกับตลาดเกิดใหม่ และบุคลากรบริหารระดับสูงจากชาติกำลังพัฒนามากขึ้น

ทั้งนี้ หลินอี้ฟูวัย 55 ปี เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าเศรษฐกรแทน ฟรังซัวร์ บูร์กียง (François Bourguignon) ซึ่งโบกมือลาเก้าอี้ไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2007

หลินเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจีน ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง นอกจากนี้เขายังเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของรัฐบาลจีน หลินเป็นชาวจีนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก ซึ่งโดยปรกติแล้วมักเป็นตำแหน่งที่สำรองไว้ให้กับนักวิชาการจากยุโรปหรือสหรัฐฯ

เก้าอี้รองประธานธนาคารโลกของหลินสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับธนาคารโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้จีนเพิ่งพลิกสถานะจากผู้รับบริจาครายใหญ่ของธนาคารโลก เป็นผู้บริจาคเงินให้กับองค์กรโลกบาลแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2007 เนื่องด้วยเศรษฐกิจจีนที่โตวันโตคืนจนดันทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศจีนพุ่งสูงถึง 1.7 ล้านล้านหยวน ทำให้จีนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากต่างประเทศอีกต่อไป

สำหรับตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก ซึ่งถูกเรียกในอีกชื่อว่า หัวหน้าเศรษฐกร มีบทบาทสำคัญในการกำหนดประเด็นวาระวิจัย และชี้นำทิศทางด้านวิชาการ

ระหว่างปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ภายใต้การนำของหัวหน้าเศรษฐกรนามสแตนเลย์ ฟิชเชอร์ (Stanley Fischer) และลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ (Lawrence Summer) ธนาคารโลกป่าวประกาศรณรงค์ให้ประเทศยากจนเปิดเสรีรับการลงทุนจากต่างชาติ ทว่าเมื่อโจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในปลายทศวรรษ 1990 ทางธนาคารก็เปลี่ยนทิศทางวิจารณ์แบบแผนโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รับไปใช้เป็นใบสั่งยาระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง สั่งให้ประเทศกำลังพัฒนารัดเข็มขัด และเปิดรับทุนต่างชาติ เปิดเสรีในภาคต่างๆว่า กดดันประเทศยากจนมากเกินไป และจะก่อให้เกิดผลกระทบในมุมกลับทำให้สถานการณ์แย่ลง

ธนาคารโลกเป็นสถาบันการเงินที่สหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งขึ้น ควบคู่กับไอเอ็มเอฟ เพื่อควบคุมเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ดำเนินไปตามไปอย่างมีเสียรภาพและมั่นคง (ตามที่สหรัฐฯต้องการ) ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ (New world order) ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้ครอบงำและกำหนดทิศทาง

ที่ผ่านมาธนาคารโลกมักตกเป็นที่วิจารณ์ของบรรดาประเทศยากจนว่า เป็นเพียงเครื่องมือของชาติพัฒนาแล้วที่พยายามเอาเปรียบชาติกำลังพัฒนา นับแต่เข้ากุมตำแหน่งประธานในเดือนกรกฏาคม โรเบิร์ต โซลลิค ก็พยายามแก้ภาพลักษณ์ดังกล่าว
หลินอี้ฟู ถูกสื่อรุมสัมภาษณ์ ณ มหาศาลาประชาคม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2007 ขณะกำลังเดินทางเข้าร่วมการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนแห่งประเทศจีน
3 ทศวรรษที่ผ่านมา หลินรับหน้าที่วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีนจนเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่หาตัวจับได้ยาก ที่จริงแล้ว หลินอี้ฟู เป็นชาวไต้หวัน สำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตด้านการบริหารธุรกิจจากเจิ้งต้า มหาวิทยาลัยทางรัฐศาสตร์ชื่อดังแห่งกรุงไทเปในปี 1978 ซึ่งเป็นปีที่แผ่นดินใหญ่เริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ

ครั้นปี 1979 หลินก็เข้าประจำการเป็นทหารในกองทัพบกไต้หวัน หลินปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีจนได้รับยกย่องให้เป็นเจ้าหน้าที่ดีเด่น ที่ทหารรายอื่นควรเอาเป็นแบบอย่าง สื่อจำนวนมากให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลินในช่วงนั้นว่า หลินแอบลักลอบว่ายน้ำข้ามช่องแคบเพื่อหนีมาศึกษาต่อยังแผ่นดินใหญ่ โดยเริ่มว่ายน้ำออกจากเกาะจินเหมิน ซึ่งทางไต้หวันไม่ได้ตระหนักเลยว่าหลินแอบหนีมายังแผ่นดินใหญ่ ยังคงขึ้นทะเบียนเขาในฐานะผู้สูญหาย

หลังจากนั้นหลินก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จนจบเป็นมหาบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสม์ในปี 1982 ต่อมาหลินสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโกในปี 1986 โดยหลินเป็นนักศึกษาชาวจีนคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐฯ ในยุคที่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ

ทั้งนี้เศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโก (Chicago School) เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของกลไกราคา และตลาดเสรีในการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วยบุคลากรระดับหัวกะทิ เช่น มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Freedman) ต้นธารสำคัญของแนวคิดเสรีนิยมใหม่* (Neo-liberalism) ซึ่งเป็นพื้นฐานของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน

เมื่อปีที่แล้วหลินแอบเผยถึงแนวทางการพัฒนาของจีน ที่เขาจะนำมาปรับใช้กับประเทศกำลังพัฒนา ระหว่างที่เขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

“เศรษฐกิจจีนและเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมิได้พึ่งพานโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรีแบบดั้งเดิม 100% ทว่าในทางกลับกัน กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกาที่พยายามก้มหน้าก้มตาเปิดเสรีตลาดกลับประสบปัญหานานับประการ”

อย่างไรก็ตามหลินมิได้สรุปว่า แนวทางแบบจีนจะถือเป็นสรณะต้นแบบที่ประเทศต่างๆควรนำไปใช้ “ประเทศหนึ่งไม่ควรยึดถือหลักการหรือประสบการณ์ของอีกประเทศมาประพฤติตามโดยไม่ลืมหูลืมตา การค่อยๆเปลี่ยนแปลง พิจารณารับมาทีละส่วนต่างหาก ที่จะช่วยปฏิรูป และเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงสู่เศรษฐกิจระบบตลาด”

แม้หลินจะมีชื่อเป็นตัวเก็งดำรงตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก ทว่าหลินยังต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการของธนาคารฯ คาดว่าการอนุมัติขั้นสุดท้ายจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้




*แนวคิดเสรีนิยมใหม่นี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากแนวความคิดเศรษฐกิจแบบเคนส์ เสื่อมความนิยมเนื่องจากมิสามารถแก้วิฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1960-70 ได้ อย่างไรก็ตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่นี้มีความซับซ้อนกว่าแนวคิดเสรีนิยมเดิมคือ มีการควบคุมนโยบายทางสังคม แต่สนับสนุนให้กลไกตลาดทำงานในทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกเลิกกฎเกณฑ์ควบคุมต่างๆ และสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ช่วงทศวรรษ 1980 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โรนัลด์ เรแกนและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มากาเร็ต แทตเชอร์ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้โดยการให้กลไกตลาดกลับเข้ามามีบทบาทหลัก และจำกัดบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจให้มีขอบเขตน้อยที่สุด โดยในสหรัฐอเมริกาจะเรียกความคิดดังกล่าวว่า เสรีนิยมดั้งเดิมใหม่ (Neo conservatism) ส่วนในอังกฤษเรียกว่าเสรีนิยมใหม่ (Neo liberalism) โดยแนวคิดดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานแกนหลัก 3 ประการคือ การลดกฎระเบียบ (Deregulation) การแปรรูปให้เป็นเอกชน (Privatization) และการเปิดเสรี (Liberalization) ต่อมาแนวคิดนี้ก็ได้รับการพัฒนาเป็นชุดนโยบายที่เรียกว่า “ฉันทมติวองชิงตัน” (Washington Consensus) ซึ่งได้รับการส่งผ่านไปยังประเทศที่พัฒนาที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจอาทิ อาร์เจนตินา และไทย ผ่านสถาบันที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สร้างจากระบบเบรตตันวูด (Bretton wood system) คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ ธนาคารโลก (World Bank)

อ้างจาก เชิงอรรถที่ 11 ใน สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, “จากมหาวิทยาลัยรัฐสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ: สาเหตุและผลกระทบ,” [http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=9513&Key=HilightNews], 8 กันยายน 2550.

แปลและเรียบเรียงจาก

Bob Davis and Andrew Batson, “World Bank taps China,” Asian Wall Street Journal, 21 January 2008, 3.

“Justin Yifu Lin,” [http://en.wikipedia.org/wiki/Justin_Yifu_Lin], 22 January 2008.
กำลังโหลดความคิดเห็น