xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ บทพิสูจน์ภาคธนาคารมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


21 เซ็นจูรี่ – ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารจีนหลายแห่งได้ทยอยจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และสามารถระดมทุนได้อย่างมหาศาล ทว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ภาคธนาคารถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง หนทางต่อไปในอนาคตท่ามกลางการปฏิรูปทางการเงินของจีน จึงจะเป็นบทพิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งของธนาคารจีน

เมื่อกลางเดือนม.ค. ซิตี้ กรุ๊ปได้ออกมาแถลงว่า ทางบริษัทได้ขาดทุนในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วมากถึง 9,830 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จนข่าวดังกล่าวได้เกิดเป็นกระแสที่ทำให้หุ้นตกไปทั่วโลก รวมไปถึงหุ้นกระดานเอของจีนด้วย แม้ว่านักวิเคราะห์จะมองว่าปัญหาของซิตี้ กรุ๊ปที่มีต่อตลาดทุนนั้นจะเป็นกระแสเพียงระยะสั้น ทว่าสำหรับนักลงทุนจีนนั้น ความหมายอาจจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีนได้ให้ความสำคัญของหุ้นธนาคารแตกต่างจากตลาดหุ้นในตลาดต่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด โดยในตลาดหลักทรัพย์ต่างชาติ การกำหนดราคาหุ้นของธนาคารใหญ่ๆโดยทั่วไปจะอยู่ที่ราว 2 เท่าของค่า PB (ราคามูลค่าบนกระดานต่อมูลค่าสินทรัพย์) แต่สำหรับหุ้นกระดานเอของจีนนั้น การกำหนดราคาหุ้นของธนาคารโดยทั่วไปจะอยู่ที่มากกว่า 4 เท่าของค่าPB ในขณะที่ไชน่า เมอร์แชนท์ แบงก์นั้นกำหนดราคาสูงถึงกว่า 10 เท่าของค่าPBทีเดียว ในหลักการเดียวกันได้ทำให้ธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์จีนนั้นมีมูลค่าตลาดรวม (Market Cap.) แซงหน้าซิตี้ แบงก์ไปในเวลาไม่นานหลังจากที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากได้อธิบายไว้ว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจจีน และธุรกิจภาคธนาคารยังอยู่ในช่วงเติบโตอย่างรวดเร็ว

มาวันนี้ มูลค่าหุ้นของซิตี้ แบงก์ร่วงลงมาใกล้แตะระดับสินทรัพย์สุทธิ ค่าPBเหลืออยู่เพียงราว 1 เท่าตัวเท่านั้น ในขณะที่ธนาคารใหญ่ทั้ง 3 แห่งของจีนยังมีราคาหุ้นอยู่ที่ 5 เท่าของค่าPB การที่มีมูลค่าต่างกันมากขนาดนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้

ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯหรือยุโรป ธุรกิจประเภทธนาคารเวลาจะจดทะเบียนในตลาดก็พยายามจะหาทางสวมเข้าไปในชื่อที่เป็นธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร เพราะการประเมินมาตรฐานของธุรกิจธนาคารในตลาดมักจะต่ำกว่าธุรกิจการผลิต เนื่องจากโดยทฤษฎีแล้ว ธนาคารคือผู้ที่ดำเนินธุรกิจด้านความเสี่ยง กระแสความเสี่ยงทางธุรกิจทั้งหลายสุดท้ายจะถูกถ่ายโอนมาที่ธนาคาร ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่น้อยที่เกิดกับตลาดหุ้นสหรัฐฯในอดีต ได้ทำให้นักลงทุนเห็นถึงความเสี่ยงที่มีในธุรกิจธนาคารอย่างชัดเจน

จีนเป็นประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ต้นทุนทางการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ภาคธนาคารต้องแบกรับภาระเอาไว้ ซึ่งหากมองย้อนไปในดูถึงผลการดำเนินงานของธนาคารจีนหลังมีการเปิดประเทศเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ธนาคารแห่งประเทศจีน (บีโอซี) หรือธนาคารก่อสร้าง (ซีซีบี) ที่ทางการต้องช่วยล้างหนี้เน่านับล้านล้านหยวน จึงจะสามารถผลักดันให้จดทะเบียนในตลาดทุนได้ จากจุดนี้ก็สามารถเห็นได้ว่าในธุรกิจธนาคารมีความเสี่ยงมากเพียงใด

หรืออย่างในช่วงที่เกิดกระแสวิกฤติซับไพรม์ที่ผ่านมา แม้ว่าบีโอซีจะได้ประกาศว่าได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย และยังสามารถทำกำไรได้มากกว่าปีก่อนก็ตาม ทว่าผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติดังกล่าวก็ถึงกับทำให้บีโอซีเองอาจจะต้องประกาศลดมูลค่าหลักทรัพย์ที่อิงกับสินเชื่อซับไพรม์ของสหรัฐฯครั้งใหญ่อีกระลอก โดยคาดว่า บีโอซีอาจประกาศลดมูลค่าสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับสินเชื่อซับไพรม์ลงอีก 322 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังปรับลดลงเหลือ 7,950 ล้านเหรียญฯ จาก 9,650 ล้านเหรียญฯในเดือนสิงหาคมปี 2007

ท่ามกลางการปฏิรูปทางการเงินของจีน ในอนาคตอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น อัตราการระดมทุนโดยตรงก็จะเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่เป็นไปตามกลไกตลาดก็จะลดรายได้อันเกิดจากผลต่างของดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่มีอยู่ 4% ในปัจจุบันเหลือเพียงราว 2% นอกจากนั้นแม้ว่าการระดมทุนโดยตรงที่ในปี 2007 ธนาคารจีนจะได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ว่าผลประโยชน์เหล่านั้นก็มาเพียงแค่รอบเดียว ที่เหลือจะเป็นการเผชิญหน้ากับอุปสรรคนานัปการที่จะตามมา ที่จะเป็นบทพิสูจน์ถึงความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการของภาคธนาคารจีนในอนาคต ซึ่งอยู่ที่ว่าในขณะนี้ธนาคารจีนมีความพร้อมและได้เตรียมใจที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวหรือยัง?
กำลังโหลดความคิดเห็น