xs
xsm
sm
md
lg

รง.ราวหมื่นแห่ง ปิดตัวหนีต้นทุน ทำเขตเศรษฐกิจในกวางตุ้งร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี – หลายปัจจัยรุมเร้าทำโรงงานจีนปิดตัวระนาว โบกมือลามณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ย้ายฐานผลิตเข้าตอนในของประเทศ หรือต่างประเทศ เขตจูเจียงโดนหนักสุด ผู้ประกอบการแห่หนี ทำเขตเศรฐกิจเกือบร้าง

ผู้ประกอบการแผ่นดินใหญ่ เจอพิษเศรษฐกิจเข้าอย่างจัง แถบมณฑลกว่างตง โรงงานปิดกิจการระนาว นักวิเคราะห์ชี้ หลากปัจจัยรุมเร้าในเวลาเดียวกัน ทำผู้ผลิตไปไม่รอด ทั้งปัจจัยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และนโยบายจากภาครัฐ

สภาอุตสาหกรรมฮ่องกงประเมินว่า จากโรงงานชาวฮ่องกงที่มีจำนวนทั้งหมด 60,000 – 70,000 ในเขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (แม่น้ำไข่มุก) มณฑลกว่างตง ราว 10% จากจำนวนทั้งหมด จะต้องปิดตัวลงในปีนี้ นับว่าเป็นสถิติการปิดตัวที่สูงสุดในรอบ 20 ปี โดยเป็นการปิดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังมณฑลตอนในของแผ่นดินใหญ่ และต่างประเทศ นอกจากนี้บางส่วนอาจมีสาเหตุจากการล้มละลาย

ถอดเงื่อนปมปัญหา

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การปิดตัวของโรงงานในแถบมณฑลกว่างตง เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงมิได้ เนื่องจากมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยรุมเร้า

“นี่เป็นครั้งแรก ที่ผมเห็นสภาพปัญหา ที่มีปัญจัยหลายอย่างรุมเร้าในเวลาเดียวกัน” ดักกลาส เชอริแดน ประธาน เน็ต 69 ผู้ผลิตชุดกีฬารายใหญ่ จากฮ่องกงกล่าว

ผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ รวมทั้งค่าเงินหยวน ที่แข็งค่าขึ้นถึงราว 7% เมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐฯ ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าจีนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆลดลง ขณะเดียวกันนโยบายต่างๆของรัฐ ทั้งการยกเลิกคืนภาษีสินค้าส่งออก, กฎหมายการจ้างงานฉบับใหม่ ที่ให้อำนาจต่อรองกับลูกจ้างเพิ่มมากขึ้น, มาตรการคุมเข้มด้านสิ่งแวดล้อม และความพยายามในการพัฒนาพื้นที่ตอนในของประเทศ ทำให้ต้นทุนของโรงงาน ที่ดำเนินการในมณฑลชายฝั่งทะเล ภาคตะวันออก และตอนใต้ของประเทศยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ราคาน้ำมัน และวัตถุดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น บวกกับภาวะขาดแคลนแรงงานในมณฑลตอนใต้ เนื่องจากแรงงานมีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิม ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ โรงงานหลายแห่งพลอยปิดตัว ย้ายฐานการผลิตไปยังมณฑลตอนในของประเทศจีน ซึ่งมีกฎข้อบังคับด้านแรงงาน, สิ่งแวดล้อม และภาษีเข้มงวดน้อยกว่า นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของมณฑลตอนใน ยังต้อนรับ ผุดมาตรการจูงใจต่างๆมากมาย อาทิการลดหย่อนภาษี ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิต

“ตอนนี้ บางบริเวณในเขตตงกวน สถานที่ตั้งโรงงานผลิตยอดนิยม เต็มไปด้วยภัตตาคารและโรงงานร้าง” วิลลี่ หลิน เจ้าของธุรกิจสิ่งทอแห่งหนึ่งกล่าว

หรือจีนจะตกแท่นโรงงานโลก?

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวมิได้หมายความว่า จีนกำลังจะเสียสถานะแชมป์โรงงานโลก

เอเชียน วอลล์สตรีทชี้ว่า จีนจะยังคงข้อได้เปรียบในการเป็นโรงงานโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่บานปลาย กิจการที่ได้รับผลสะเทือนส่วนมากเป็นผู้ผลิต ที่เน้นการผลิตสินค้าราคาถูก, คุณภาพต่ำ และใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่ของจีน ณ ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นการผลิตสินค้าไฮเทค มีราคา ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์, คอมพิวเตอร์ และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ที่เป็นเช่นนี้เพราะทางปักกิ่ง เป็นผู้กำหนดนโยบายเปลี่ยนผ่าน จากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น สู่การผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีทันสมัย ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผลกระทบจากต้นทุนแรงงานลดลง ขณะเดียวกันผลกำไรจากสินค้าใหม่ก็สูงกว่าเดิม

นอกจากนี้จีนยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ควรมองข้าม ปัจจัยเหล่านี้ยังจะเป็นข้อได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุน ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในจีน ด้วยสภาพเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ยากจะหาคู่แข่งเทียบเคียง รวมทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างพร้อมสรรพ เพื่อรองรับการลงทุน ทำให้แผ่นดินใหญ่ยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่เย้ายวนต่อไปอีกนาน

นักลงทุนหลายรายชี้ว่า ปัจจัยต่างๆที่รุมเร้านั้นไม่มีอะไรร้ายแรง เท่ากับทิศทางลมที่เปลี่ยนไปในจีน “ซับไพรม์เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อมจากนโยบายของรัฐต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่ เมื่อต้นทุนสูงขึ้นแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าจะลดลง” วิลลี่ เฟิง ประธาน ท็อป ฟอร์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตชุดชั้นในกล่าว

เมื่อย้ายฐานการผลิตไปประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นักลงทุนต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ รวมทั้งยังต้องทำใจเผชิญกับสภาพสาธารณูปโภคที่ไม่สมบูรณ์เท่าจีน แม้แต่การย้ายฐานการผลิตเข้าไปยังตอนในของประเทศจีนเองก็มีปัญหา

“เราต้องการแรงงานทักษะที่มีความคล่องแคล่ว แต่ผมเกรงว่า เราจะได้แต่ชาวนา พวกเขาไม่มีทักษะในการทำงานกับเครื่องจักรที่ซับซ้อน” วิลลี่ หลิน เจ้าของบริษัทสิ่งทอ ไมลอส แมนูแฟคเจอริ่ง ซึ่งย้ายฐานการผลิตไปยังมณฑลเจียงซีระบุ

พิจาณาจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น นักวิเคราะห์ต่างฟันธงว่า จีนจะยังคงครองสถานะโรงงานโลกต่อไป ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่คาดกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า การผลิตสินค้าราคาถูกอาทิ สิ่งทอ และของเล่น จะไม่ยั่งยืนและในที่สุดต้องเปลี่ยนเป็นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

“การขนส่งสินค้าโรงงานสู่ชั้นวางสินค้าในห้าง หากเป็นสินค้าผลิตจากจีนจะใช้เวลาเพียง 20-25 วัน หากผลิตในกัมพูชาต้องใช้เวลาขนส่งถึง 30 วัน” รายละเอียดเหล่านี้ ยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักลงทุน ตั้งฐานการผลิตต่อไปในจีน แม้บางส่วนจะมองหาทำเล กระจายฐานการผลิตไปที่อื่น ทว่าจีนจะยังคงเป็นเป้าหมายหลักในการลงทุนต่อไป ทอม เนลสัน แห่ง วีเอฟ คอร์ป เจ้าของแบรนด์ดังอาทิ นอร์ทเฟส และนอติกากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น