xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการคุมเศรษฐกิจร้อนออกผล บริษัทไต้หวันกังวล แห่ลงทุนเวียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเชียน วอลล์สตรีท – มาตรการคุมเข้มเศรษฐกิจบวกฎหมายแรงงานทำบริษัทไต้หวันเครียด ชี้ต้นทุนสูงขึ้นแต่กำไรเท่าเดิม แถมถูกลดสิทธิพิเศษด้านภาษี หยวนแข็งอีก หมดแรงสู้คู่แข่ง จำต้องย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม เผยค่าแรงถูกกว่า 70%

ผู้ผลิตสินค้าชาวไต้หวัน ซึ่งมาตั้งฐานการผลิตในจีนเริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่อื่นๆ เนื่องจากต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้น ส่งผลให้ศักยภาพในการแข็งขันลดลง

แม้ประเด็นบริษัทไต้หวันย้ายฐานการผลิตอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ ทว่าสำหรับจีนแล้ว การย้ายฐานการผลิตของบริษัทไต้หวัน นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เนื่องจากไต้หวัน เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในแดนมังกร ทำสิถิติลงทุนสูงเป็นอันดับ 5 จากปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในแผ่นดินใหญ่

ผู้บริหารชาวไต้หวันเผยว่า กระแสย้ายฐานการผลิตปรากฏชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2007 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจีนเริ่มเผยมาตรการเกี่ยวกับการยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงาน รวมทั้งกฎหมายแรงงานที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้มาตรการลดร้อนเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนยังส่งผลกระทบสำคัญ ทำให้นักลงทุนไต้หวันพิจารณาย้ายฐานการผลิต การปรับอัตราภาษีจากเดิมที่ให้สิทธิพิเศษเก็บภาษีเงินได้บริษัทต่างชาติเพียง 15% เป็น 25% ซึ่งทางรัฐบาลได้ออกมาตรการผ่อนปรนภาษีเงินได้ธุรกิจระหว่าง 5 ปีนี้ ให้กับธุรกิจไฮเทคโนโลยี ธุรกิจที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และธุรกิจที่ลงทุนด้านสาธารณูปโภคพลังงานและคมนาคม โดยจะจัดเก็บภาษีจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าว เพิ่มปีละ 2% จนถึงปี 2012 จากนั้น จึงค่อยจ่ายในอัตราเต็ม 25% ทำให้ต้นทุนบริษัทต่างชาติสูงขึ้น

ส่วนค่าเงินหยวนที่รัฐบาลจีนปล่อยให้แข็งค่าขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2007 เพื่อลดความขัดแย้งกับตลาดตะวันตก ยังทำให้ศักยภาพในการแข็งขันกับผู้ผลิตจากตลาดเกิดใหม่อาทิ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง

“นักธุรกิจไต้หวันกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เท่าที่พวกเขาเคยเจอในแผ่นดินใหญ่ ถึงแม้นักลงทุนไต้หวันจะไม่ย้ายฐานการผลิตออกไปทั้งหมด ทว่าจำนวนผู้ที่พิจารณาย้ายไปลงทุนนอกจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เจ้าเว่ยหนัน เลขาธิการสมาคมพ่อค้าไต้หวัน เมืองตงกวน มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) กล่าว

เจ้าหน้าที่จากสมาคมฯ และรัฐบาลเผยว่า บริษัทในจีนกว่า 50,000 – 70,000 แห่งเป็นธุรกิจที่มีชาวไต้หวันเป็นเจ้าของกิจการ หรือได้รับเงินสนับสนุนจากไต้หวัน และบริษัทเหล่านี้จ้างแรงงานจีนรวมหลายล้านคน กระทรวงพาณิชย์แสดงสถิติว่า การลงทุนโดยตรงของไต้หวันในแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี 1989 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2007 มีมูลค่ารวม 43,910 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายคาดว่า ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการน่าจะสูงกว่านี้ถึง 3 เท่าหรือมากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไต้หวันมีนโยบายจำกัดการลงทุนในแผ่นดินใหญ่ ฉะนั้นบรรดานักลงทุนจึงใช้กลยุทธ์จดทะเบียนบริษัทในประเทศที่ 3 ประหนึ่งว่าไปลงทุนในประเทศดังกล่าว หลังจากนั้นจึงนำบริษัทที่จดทะเบียนเข้าไปลงทุนในจีน เพื่อเลี่ยงข้อกำหนดของรัฐบาลไต้หวัน

แม้หลายฝ่ายจะเก็งว่า บริษัทไต้หวันคงไม่แห่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เนื่องจากบริษัทหลายแห่งทุ่มทุนมหาศาลไปกับการตั้งโรงงาน ฉะนั้นการย้ายจึงมิใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้การย้ายฐานการผลิตยังทำให้จีนสูญเสียรายได้ และการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง ทว่าความตึงเครียดจากภาวะสงครามตัดราคาในตลาดโลก รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายบริษัทพิจารณาย้ายฐานการผลิต เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนครั้งใหม่

“ส่วนมากบริษัทไต้หวันที่เข้าไปลงทุนในจีน มักทำธุรกิจรับจ้างผลิตตามสัญญา ซึ่งทำกำไรประมาณ 5% ฉะนั้นค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งทำให้ผลกำไรที่น้อยอยู่แล้วลดลง ขณะที่บริษัทเหล่านี้เล็งขยายกิจการเพื่อเพิ่มรายได้ แต่กำไรกลับหด พวกเขาจึงขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนเพิ่มเติมในแผ่นดินใหญ่” ไช่หงหมิ่น รองเลขาธิการสหภาพอุตสาหกรรมไต้หวันกล่าว

จากการสำรวจบริษัทไต้หวันในจีนกว่า 2,000 แห่ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2007 ไช่พบว่า มีบริษัทไต้หวันเพียง 50% เท่านั้นที่พิจารณาขยายการลงทุนในแผ่นดินใหญ่ภายใน 1 ปี เมื่อเทียบกับสถิติปี 2006 ที่บริษัทมากกว่า 60% พิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติม

ขณะที่ความนิยมลงทุนในจีนเริ่มลดลง เวียดนามเริ่มกลายเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ของบริษัทไต้หวัน บริษัทยักษ์อย่างเช่น หงไห่ พรีซิชั่น อินดัสตรี ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าตามสั่งรายใหญ่สุดของโลก (คิดตามผลกำไร) เผยเมื่อเดือนสิงหาคมว่า ทางบริษัทวางแผนลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนคอมปาล อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดพกพารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ก็เริ่มลงทุนในเวียดนามไปไม่นานนี้ โดยมีวัตถุประสงค์สร้างฐานการผลิตนอกแผ่นดินใหญ่ เพื่อเลี่ยงต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้คอมปาล ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า ในปีนี้อาจฟันกำไรราว 4.7 - 4.8% ตั้งฐานการผลิตใหญ่สำหรับผลิตสินค้าทั้งหมดของบริษัทอยู่บริเวณใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้

เพื่อเลี่ยงภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น คอมปาลจึงวางแผนขยายการผลิตในเวียดนามภายใน 5 ปี กระจายกำลังผลิตราว 50% มาที่เวียดนามภายในปี 2012 แทนที่การพึ่งพาฐานการผลิตในจีนอย่างเดียว

จางจิงหมิง เจ้าหน้าที่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของคอมปาลเผยว่า “ปัญหาอุปสรรคการซื้อที่ดินในจีน ราคาค่าแรงที่สูงขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินหยวน ทำให้เราต้องมองหาฐานการผลิตใหม่” จางคำนวณว่า ค่าแรงในเวียดนามถูกกว่าแผ่นดินใหญ่ราว 70%

นอกจากนี้ควอนต้า คอมพิวเตอร์ บริษัทคู่แข่งของคอมปาล ก็เล็งสร้างฐานการผลิตที่เวียดนามเช่นกัน เจินจุนเหลี่ยง เลขาธิการกลุ่มธุรกิจไต้หวันในเวียดนามกล่าวว่า “จำนวนนักลงทุนไต้หวัน ที่ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเหนือเพิ่มขึ้นราว 1,000 รายต่อเดือน ขณะที่ปีที่แล้วมีโรงงานไต้หวันมาตั้งเพียงหยิบมือ”

แม้กระแสย้ายฐานการผลิตสู่อุษาคเนย์กำลังมาแรง ทว่านักเศรษฐศาสตร์ต่างแสดงความเห็นแย้งว่า ปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิตดังกล่าวไม่น่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากนัก เนื่องจากเวียดนามและประเทศอุษาคเนย์อื่นๆ ยังขาดแคลนสาธารณูปโภครองรับการลงทุนด้านเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น