xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นจีนปล่อยโดมิโน เอฟเฟกต์ ส่งออก‘เงินเฟ้อ’ทำทั่วโลกป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี – นักวิเคราะห์หวั่นเงินเฟ้อจีนส่งผลกระทบทั่วโลก ทำราคาสินค้า และเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งตาม ชี้หมดยุคสินค้าราคาถูกจากจีน หลายปัจจัยรุมเร้าคาดราคาสินค้าจีนถีบตัวสูงขึ้นแน่

หลังหลายฝ่ายคาดการณ์กันมานานว่า เงินเฟ้อจีนอาจส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ล่าสุดสถิติเงินเฟ้อจีนเดือนม.ค. ที่สูงถึง 7.1% ถือว่าสูงสุดในรอบ 11 ปี ยิ่งทำให้ความหวาดหวั่นกลายเป็นจริงมากขึ้น ด้วยตลาดจีนเจอหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะถีบตัวไม่หยุดในระยะนี้ เนื่องจากพายุหิมะสร้างความเสียหาย ดันราคาสินค้าภายในประเทศสูงขึ้น แถมปัจจัยจากภาครัฐคือ การยกเลิกคืนภาษีสินค้าส่งออก, กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่ และการปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งค่ามากขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์ต่างมั่นใจว่า “เงินเฟ้อจีนที่พุ่งไม่หยุด จะส่งผลดันราคาสินค้าส่งออกสูงตาม”

หลี่ฮุ่ยหย่ง นักวิเคราะห์จาก บริษัทวิจัยและที่ปรึกษา เอสวายดับเบิลยูจี เซี่ยงไฮ้ ชี้ว่า “เงินเฟ้อจีนกำลังส่งผลกระทบเป็นโดมิโน เอฟเฟกต์ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เมื่อก่อนปัจจัยที่ผลักให้เกิดเงินเฟ้อในสหรัฐฯ คือราคาน้ำมัน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯพึ่งพิงการบริโภคน้ำมันมาก สินค้าราคาถูกจากจีน และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆช่วยลดแรงดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น”

“ทว่าตอนนี้ราคาสินค้าจีนเริ่มแพงขึ้น และกลายเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ดันอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯให้สูงขึ้น” หลี่กล่าว

ราคาสินค้าของจีนได้เริ่มขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ เมื่อภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก เท่ากับว่าประเทศอื่นๆก็ต้องเตรียมควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นด้วย

เถาตง นักเศรษฐศาสตร์ของเครดิตสวิส เฟิร์สท์ บอสตันประจำภูมิภาคเอเชียได้ชี้ว่า “เมื่อจีนเริ่มส่งออกเงินเฟ้อของตนออกมา สิ่งนี้จะกระทบกระเทือนไปทั่วโลก ขณะนี้แค่ในฮ่องกงเรื่องเงินเฟ้อก็เริ่มเห็นได้ชัด เริ่มจากเนื้อหมูที่ขึ้นราคา บวกกับแป้งหมี่จากจีนที่แพงขึ้น ทำให้ร้านขนมปังและร้านอาหารหลายแห่งพากันขึ้นราคาจนบะหมี่เกี๊ยวชามละ 10 เหรียญฮ่องกงกำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว และวันหน้าผู้บริโภคจากสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ก็เตรียมตัวที่จะต้องซื้อของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้าที่แพงขึ้น"

หมดยุคสินค้าราคาถูก?

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งแย้งว่า “ยุคสินค้าราคาถูกจากจีนยังไม่อวสาน”

หวังชิง หัวหน้าเศรษฐกรฝ่ายจีน แห่งมอร์แกน สแตนเล่ย์ชี้ว่า “ศักยภาพในการแข่งขันของจีนยังไม่สิ้น และราคาสินค้าจากจีนจะยังคงราคาถูกต่อไปอีกหลายปี ภาวะเงินเฟ้อที่จีนเผชิญอยู่มีสาเหตุจากเงื่อนไขด้านวงจรเวลา ฉะนั้นเงินเฟ้อจะคงอยู่ไม่นาน”

“นอกจากการพิจารณาเรื่องค่าจ้างแรงงานในรูปตัวเงิน (nominal wage – ค่าแรงที่ตกลงล่วงหน้าไว้กับนายจ้าง เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น นายจ้างจะพบว่าต้นทุนในการจ้างแรงงานถูกลง เมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น) เราต้องพิจารณาเรื่องกำลังการผลิตของจีนที่สูงขึ้นด้วย ฉะนั้นผมจึงไม่กังวลกับเรื่องนี้เท่าไร”

หากพิจารณาจากห่วงโซ่ธุรกิจที่ยาวและซับซ้อน กว่าที่สินค้าตัวหนึ่งจะตกถึงมือผู้บริโภค ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจึงมิได้หมายความว่า ผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นทันที

แทนที่จะตัดลดผลกำไร โรงงานสามารถผลักภาระ เจรจากับบริษัท ลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปขายต่อได้ อาทิ ราคาผลิตเสื้อยืดในจีนตัวหนึ่งอาจมีต้นทุนแค่ 2-3 เหรียญสหรัฐฯ แต่เมื่อนำมาขายในห้างสหรัฐฯ พ่อค้ากลับติดราคาเพิ่มเป็น 10 เหรียญฯเพื่อฟันกำไรส่วนต่าง

ในจุดผู้ผลิตนี้จึงสามารถต่อรอง เพื่อปรับลดภาระด้านราคาได้

สัญญาณอันตราย

อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทที่หวังฟันกำไรสูง อาจเริ่มหันไปตั้งโรงงาน หรือซื้อสินค้าจากประเทศอื่นๆที่มีต้นทุนถูกกว่าอาทิ เวียดนาม, ศรีลังกา และกัมพูชา เพื่อผลกำไรที่ดีกว่า

ดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งเป็นดัชนีราคาที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ที่ผู้ผลิตทำการผลิตออกจำหน่าย ถีบตัวสูงขึ้นเป็น 6.1% ในเดือนม.ค. ขณะที่ค่าเงินหยวนปรับตัวสูงขึ้นกว่า 9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา แถมค่าแรงในจีนก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% ตั้งแต่ปี 2007

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ส่งออกชาวจีนต้องปรับราคาสินค้าสูงขึ้น ไม่เช่นนั้นก็ต้องเสี่ยงกับภาวะล้มละลาย

ตามข้อมูลของ ซีแอลเอสเอ ผู้ส่งออกจีนกว่า 80% มีแนวโน้มปรับราคาสินค้าเพิ่มในปีนี้ เพื่อรองรับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

ยัตต้า เหมา ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทเคมี ฮั่นเหริน ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า “เงินหยวนที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเรา ทำให้เราต้องจ่ายเพิ่มสำหรับการผลิตและขนส่ง นอกจากนี้การยกเลิกคืนภาษีส่งออก 13% ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเราเพิ่มสูงขึ้นถึง 20%”

สภาพอึมครึมจากภาวะเงินเฟ้อในจีนดูเหมือนจะยิ่งหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) แหล่งผลิตสินค้าส่งออกใหญ่ของจีน บรรดาบริษัท ฮ่องกง และไต้หวัน ที่เข้าไปดำเนินกิจการผลิตสินค้าส่งออก ต่างเริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น