เอเจนซี - สำนักงานสถิติจีนเผยตัวเลขซีพีไอ (ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อ)เดือนมกราคมพุ่ง 7.1% ทำสถิติสูงสุดในรอบทศวรรษ โดยมีราคาอาหารเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากนอกประเทศยังคงไหลทะลักเข้าจีนมหาศาล เฉพาะเดือนมกราคมขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึง 109.7% นักเศรษฐศาสตร์เริ่มหวั่นวิตกตัวเลขเศรษฐกิจตอกย้ำความเสี่ยง “เศรษฐกิจร้อนเกิน” อย่างไรก็ดี สตีเฟ่น กรีน นักเศรษฐศาสตร์ของ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เชื่อจีนอาจสั่งปรับอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้เพื่อแก้วิกฤต
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) เผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) เดือนมกราคมขยายตัว 7.1% นับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางมรสุมพายุหิมะโหมกระหน่ำ กระตุ้นต้นทุนอาหารพุ่งกระฉูด
ตัวเลขซีพีไอที่ทะยานสูงนี้ ได้รับแรงผลักดันจากราคาอาหารที่สูงขึ้นถึง 18.2% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เอ็นบีเอสระบุในเว็บไซต์ ขณะที่ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารนั้นปรับตัวขึ้นเพียง 1.5% เท่านั้น ส่วนซีพีไอในเมืองใหญ่ปรับขึ้น 6.8% แต่ในพื้นที่ชนบทสูงขึ้นถึง 7.7%
อย่างไรก็ดี ตัวเลขซีพีไอข้างต้นเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ต่ำกว่าที่ธนาคารกลางจีนคาดไว้เล็กน้อย โดยธนาคารแห่งประเทศจีนเก็งซีพีไอเดือนมกราคาน่าจะกระโดดแตะ 7.5%
ด้านเหยาจิ่งหยวน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอ็นบีเอสแสดงทัศนะเกี่ยวกับปัจจัยหลักๆ ที่ผลักดันซีพีไอให้พุ่ง 7.1% นั้นรวมไปถึงความเสียหายอันเกิดจากพายุหิมะกระหน่ำร้ายแรงที่กินบริเวณมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ประกอบกับราคาอาหารที่พุ่งสูงในช่วงเทศกาลตรุษจีน แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจีนเองจะพยายามกระตุ้นซับพลายอาหารให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการอัดฉีดเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรเพื่อเป็นทุนในการเลี้ยงสุกรเพิ่ม แต่ก็ไม่เป็นผล
ดังสะท้อนให้เห็นจากในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาราคาอาหารถีบตัวขึ้น 18.2% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ราคาธัญพืชเพิ่ม 5.7% ราคาน้ำมันประกอบอาหารเพิ่ม 37.1% ราคาเนื้อหมู ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นปัจจัยหลักกระตุ้นซีพีไอ ก็พุ่ง 58.8% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นอกเหนือจากยอดเกินดุลการค้าจีนเดือนมกราคมที่พุ่งแตะ 19,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วถึง 22.6% และอุปทานเงินโตเร็วที่สุดในรอบ 20 เดือนแล้ว การที่ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อของจีนเติบโตไม่หยุดยั้งนี้ ยังเป็นหลักฐานสนับสนุนให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีนกำลังเผชิญความเสี่ยงของ “เศรษฐกิจร้อนแรงเกิน” เสียแล้ว ดังนั้นการปรับขึ้นค่าเงินหยวนและควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอาจถูกงัดมาใช้ในปีนี้ ในฐานะเครื่องมือกำราบเงินเฟ้อ และเชื่อว่ารัฐบาลยังจะผุดมาตรการคุมราคาอาหารและพลังงานออกมาใช้ด้วย
นอกจากตัวเลขซีพีไอ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อแล้ว กระทรวงพาณิชย์จีนเมื่อวันจันทร์ (18 ก.พ.) ยังได้ประกาศตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ เดือนมกราคม อยู่ที่ 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 109.78% เป็นที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างมาก
นักวิเคราะห์จากเว็บไซต์ไฉหัวเชื่อว่า ที่ต่างชาติทุ่มเงินลงทุนในช่วงเดือนแรกนั้นน่าจะเป็นเพราะเทศกาลตรุษจีนของจีน แต่ที่เอฟดีไอขยายตัวเป็นเท่าตัวกว่านั้นเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย นำมาซึ่งกระแสวิตกกังวลถึงเรื่องเศรษฐกิจร้อนแรงเกิน อีกทั้งรัฐบาลปักกิ่งยังกังวลว่าการที่เม็ดเงินต่างชาติทะลักเข้ามาในประเทศรวดเร็วและมากเกินไปนั้น จะยิ่งทำให้ภาวะเงินเฟ้อของจีนย่ำแย่ลงไปอีก
ขณะที่หวังเฉียน นักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลี่ย์ วานิชธนกิจชื่อดังเชื่อว่า ตัวเลขเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเดือนที่แล้วที่ทะยานสูงเป็นประวัติการณ์นั้น จะทำให้ธนาคารกลางแห่งประเทศอาจตัดสินใจออกพันธบัตรเพิ่มเพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ
จะปรับดอกเบี้ยไหม?
สตีเฟ่น กรีน นักเศรษฐศาสตร์ของ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด วิเคราะห์ว่า จีนจะยังคงนโยบายคุมเข้มต่อไป และอาจสั่งปรับอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปีอยู่ที่ราว 4.14% – 5.12%
กรีนอาศัยข้อมูลอุปทานเงินเดือนม.ค. ซึ่งชี้ว่า ธนาคารมีสัดส่วนการรับฝากเงินสูงกว่าการปล่อยสินเชื่อ ทว่าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอาจเกิดปัญหาได้ เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจจีนประสบภาวะดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ (Negative Real Interest Rate) หรือผลตอบแทนเงินฝากต่ำกว่าเงินเฟ้อ เมื่อคนไม่อยากออมเงิน ก็จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเทเคลื่อนย้ายออกจากเงินออมไปเข้าตลาดหุ้น หรืออสังหาฯ
ส่วนปริมาณเงินตามความหมายอย่างกว้าง (M 2) ที่เป็นตัวบ่งชี้ปริมาณเงินหมุนเวียนในมือประชาชนกับเงินออมในธนาคารนั้นก็ได้พุ่งขึ้นทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 19 เดือน โดยปริมาณ M2 ในเดือนม.ค.อยู่ที่ 41.78 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 18.94% เพิ่มสูงกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว 2.2% ทว่าหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะพบว่า ปริมาณเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งเป็นที่มาทางหนึ่งของปริมาณเงินในธนาคารลดลง
สาเหตุที่เงินฝากลดลงน่าจะมาจาก ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นต่ำ ทำให้ผลกำไรที่ย้ายมาจากตลาดหุ้นเพื่อฝากเอาดอกเบี้ยจากธนาคาร ที่ดอกเบี้ยก็ต่ำอยู่แล้วน้อยมาก เนื่องจากนักลงทุนต่างคิดว่าฝากเงินดอกเบี้ยน้อยไม่คุ้ม แต่ก็ยังดีกว่าขาดทุนในตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามอาจมีการไหลเทของเงินไปทุ่มกับการซื้อขายทอง ด้วยตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าในเซี่ยงไฮ้เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนม.ค.
อย่างไรก็ตามหากอัตราเงินเฟ้อยังทะยานต่อไปเรื่อยๆ ภายใต้สภาวการณ์ที่เงินหมุนเวียนในตลาดเหลือล้น ผลสุดท้ายเงินเฟ้อก็จะทะยานจนอันตราย
นอกจากนี้ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดยังชี้ว่าภาวะดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจ ด้วยผลตอบแทนจากภาคธนาคารต่ำ ทำให้นักลงทุนมองหากำไร จะมีการนำเงินออกปล่อยก็นอกระบบ ท่ามกลางกฏคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของรัฐ จะยิ่งทำให้เงินกู้นอกระบบยิ่งเติบโต และเป็นอันตราย
ฉะนั้นเพื่อแก้ปัญหารัฐบาลน่าจะสั่งปรับดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องเตรียมพร้อมรับ มาตรการที่ไม่คาดคิด ซึ่งรัฐบาลอาจงัดออกมาใช้