xs
xsm
sm
md
lg

จากวัจนะเมธีจีนสองพันปี …ถึงฝันร้ายกลางพายุหิมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


...วัจนะเมธีสอนใจผู้ปกครอง

ชื่อจางหมั่นฉี กล่าวว่า “ประชาชนต่างหวังในแผ่นดินที่อยู่ในระเบียบ หากแผ่นดินอยู่ในระเบียบดีแล้ว มีประโยชน์อะไรที่จะเรียกหาอี๋ว์*ด้วยเล่า? อี๋ว์เป็นเสมือนยารักษาความเจ็บป่วย ทว่า จะรอจนกว่าท่านจะศีรษะล้าน แล้วจึงค่อยซื้อวิกผม จะรอจนกว่าท่านล้มป่วยแล้วจึงค่อยเรียกหาหมอ การตระเตรียมยาบำรุงร่างกายรักษาโรค เยี่ยงบุตรกตัญญูได้ยื่นให้แก่บิดาที่เทิดทูนบูชาของท่าน ด้วยท่าทางที่หม่นหมอง ซูบเซียว นี่คือสิ่งที่ปราชญ์ที่แท้ละอายที่จะกระทำ

*อี๋ว์ (The Great Yu) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เลื่องลือในประวัติศาสตร์จีน (2205 BC)

และอีกเรื่อง เป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ในยุคสงคราม (จ้านกั๋ว 475-221 ก่อนคริสต์ศักราช) เว่ยหวังทรงถาม เปี่ยนเชวี่ย(407-310 ก่อนคริสต์ศักราช) แพทย์จีนนามกระเดื่องผู้ได้รับสมญาว่า “หมอเทวดา” ว่าในบรรดาพี่น้อง 3 คนของท่าน ซึ่งล้วนเป็นแพทย์ทั้งหมดนั้น คนไหนมีฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด เปี่ยนเชวี่ยตอบว่าพี่ชายคนโต มีฝีมือสูงที่สุด ส่วนพี่ชายคนที่สองนั้น มีฝีมือรองลงมา เว่ยหวังทรงประหลาดพระทัยว่าทำไมพี่ชายทั้งสองของท่าน ซึ่งมีฝีมือสูงกว่าท่านนั้น จึงไม่มีใครเคยได้ยินชื่อมาก่อน...

เปี่ยนเชวี่ยตอบว่า พี่ชายคนโตนั้น เมื่ออาการป่วย ยังไม่ทันได้ส่งสัญญาณออกมา เขาก็จัดการกำจัดรากเหง้าเหตุต้นตอของโรคภัยหมดสิ้น ผู้ที่มาหาเขาดูไม่ได้ป่วยเป็นอะไรเลย โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาได้ขจัดว่าที่โรคภัยเหล่านั้นไปหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น เขาจึงไม่มีชื่อเสียงเลย เพราะดูเหมือนไม่ได้ใช้ฝีมือในการรักษาโรคร้ายใหญ่โต ส่วนพี่ชายคนที่สองนั้น เมื่ออาการโรคภัยเริ่มสำแดงอาการออกมา ก็รีบบำบัดรักษาใช้ยาปราบโรคร้ายลงได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ความป่วยไข้เล็กน้อยนี้ ก็จะกลายเป็นโรคร้ายแรง ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักเพียงภายในชุมชนหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนตัวเขาเองเปี่ยนเชวี่ยนั้น ได้รักษาคนไข้ที่ป่วยปางตาย ต้องเจาะหนองกรีดเนื้อหนัง ผ่าตัดเลือดโชก อัดฉีดยา จนคนไข้ฟื้นคืนชีพ อุปมาดั่งเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เขาจึงกลายเป็นแพทย์ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วแผ่นดินมาถึงปัจจุบัน แต่สำหรับเปี่ยนเชวี่ย คาวระพี่ชายคนโตเป็นหมอมีฝีมือสูงสุด
...ฝันร้ายกลางพายุหิมะ

ข้ามมาถึงภัยพิบัติธรรมชาติยุคศตวรรษที่ 21 ขณะที่เคยมีการมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงทุกวันว่าหิมะอาจตกในกรุงเทพฯ... และพายุหิมะก็ได้เปิดฉากซัดกระหน่ำจีนหนักสุดในรอบ 50 ปี ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนถึงกว่า 10 วัน สร้างความเสียหายต่อมณฑลต่างๆถึง 18 มณฑล ที่น่าประหลาดใจคือ พายุหิมะหรือพายุน้ำแข็งได้พัดถล่มกลุ่มมณฑลที่โดยปกติแล้วในใจกลางพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหล่านี้แทบไม่มีหิมะตกมาก่อน ภาคตะวันออกอย่างนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลอันฮุย มีสภาพภูมิอากาศมรสุมเขตร้อน, แถบตอนกลางได้แก่ มณฑลหูหนัน, หูเป่ย และเหอหนัน ก็มีสภาพภูมิอากาศมรสุมเขตร้อนกึ่งอบอุ่น และภาคใต้จีนอย่างกว่างตง(กวางตุ้ง) ซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีสภาพภูมิอากาศมรสุมเขตร้อน หรืออย่างฉงชิ่ง ก็เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าสุดร้อน มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีที่ 24-25 องศาเซลเซียส

กรมอุตุนิยมวิทยาจีนประกาศในวันจันทร์(4 ก.พ.) ว่าจีนผจญอากาศหนาวที่สุดในรอบ 100 ปี โดยที่มณฑลหูเป่ย หูหนัน มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 1 องศาเซลเซียส

พายุหิมะได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 60 คน ถล่มบ้านเรือนชนิดราพนาสูร 223,000 หลัง และที่ได้รับความเสียหายไม่มากก็น้อยกันอีก 862,000 หลัง ทำประชาชนกว่า 1.76 ล้านคน ต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ แหล่งป้อนไฟฟ้า เสียหาย เดี้ยงกันระนาว วัตถุดิบข้าวของสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันขาดแคลน ถนนเส้นทางถูกหิมะปิด ตัดขาด เมืองกลายเป็นโลกมืดอัมพาต... รวมจำนวนประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนทั้งสิ้น มากกว่า 100 ล้านคน !

รัฐบาลจีนต้องระดมกำลังทหาร กองกำลังสำรอง และทหารบ้านรวมกำลังร่วม 1.5 ล้านคน ออกช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนกันจ้าละหวั่น ขนอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคนิกที่ใช้ในยามสงคราม อาทิ รถถังออกกรุยทาง บดน้ำแข็ง ยิงปืนกลมือสลายน้ำแข็งที่จับตัวตามสายไฟฟ้า...ดูเป็นการต่อสู้สงครามที่มิอาจสังหารศัตรูคือ “ปิศาจหิมะ”

และดูมิผิดไปจากยามสงคราม ประชาชนยังต้องผจญวิกฤตข้าวยากหมากแพง ในมณฑลกวางตุ้ง ที่โดนปิศาจหิมะจู่โจมหนักหน่วงที่สุด ราคาผักผลไม้ดีดตัวขึ้นถึงสามเท่าตัว

ขณะที่ผู้โดยสารถึง 600,000 คน ที่กำลังเดินทางออกจากกวางตุ้ง เพื่อไปฉลองตรุษจีนกับครอบครัว ต้องติดแง็กอยู่ตามสถานีต่างๆ เนื่องจากหิมะปิดเส้นทาง ระบบแหล่งป้อนพลังงานไฟฟ้าเป็นง่อยพวกเขาต้องซื้อข้าวกล่องกินกันตายกันในราคาแพงถึง 50 หยวน จากปกติราคาเพียง 10 หยวน

พวกที่รีบไป ก็กระเสือกกระสนซื้อตั๋วในราคาแพงระยับ อย่างหญิงแซ่หู กำลังเดินทางข้ามจากเซินเจิ้นไปยังฮ่องกง ก็ต้องซื้อตั๋วรถประจำทางในราคาถึง 500 หยวน จากราคาปกติ 30 หยวน!

ช่วงที่พายุหิมะซัดกระหน่ำนั้น ยังตรงกับช่วงการเดินทางกลับบ้านไปฉลองตรุษจีนกับครอบครัว ซึ่งจัดเป็นมหกรรมการเดินทางประจำปี ที่มหาศาลที่สุดในโลก ผู้คนนับล้านที่โหยหาได้พบหน้าครอบครัวในรุ่งอรุณแห่งปี ติดอยู่ในสถานีเป็นเวลาหลายวัน เมื่อสภาพอากาศเริ่มดีขึ้น รถราพอขยับได้ พวกเขาต่างร้อนรนวิ่งกรูแย่งชิงกันขึ้นรถกันโกลาหล ดังเหตุการณ์คลื่นมนุษย์นับแสนแย่งชิงขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟกว่างโจวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถึงขั้นเหยียบกันเลือดตกยางออก เสียชีวิตไป 1 คน เจ็บกันอ่วมระนาว เป็นความวุ่นวาย เป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของช่วงวิกฤตใหญ่

สภาพความวุ่นวายดังกล่าว ตอกย้ำมุมมองของสื่อค่ายตะวันตกอย่าง BusinessWeek ที่เสนอแนวคิดของนายฮั่น ตงฟาง ผู้อำนวยการ China Labor Bulletin ผู้นำการรณรงค์สิทธิแรงงานในฮ่องกง ชี้ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้น สะท้อนความเปราะบางของระบบ จีนสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างมโหฬาร เป็นที่ภาคภูมิภาคใจและกล่าวขวัญไปทั่วโลก แต่ก็ไม่อาจรับรองการเคลื่อนไหวของประชาชน เชื้อเพลิง และเสบียงอาหารในยามวิกฤต และภัยธรรมชาติครั้งใหญ่นี้ ก็จะกระตุ้นการอัดฉีดสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกระลอก

นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่ารีบรุดไปเยี่ยมดูประชาชนในมณฑลที่ได้รับความเสียหายสาหัสสุดได้แก่หูหนันเมื่อวันที่ 29 มกราคม และต่อไปยังกว่างโจวในวันถัดมา... สองวันก่อนเกิดเหตุการณ์เหยียบกันตายระหว่างแย่งขึ้นรถไฟ BusinessWeek ฉบับวันที่ 30 มกราคมเผยแพร่บทความ “ความคับแค้นแห่งเหมันต์ฤดู ในจีน” ชี้ว่าเวินรุดไปที่กว่างโจวหรือกวางเจา ด้วยวิตกผวาว่าสถานการณ์จะบานปลายจนไม่อาจควบคุม โดยคนงานนับล้านที่ดิ้นรนทุกข์ยากอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บยะเยือก อาจจุดชนวนศึกรุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีคำวิเคราะห์ในด้านร้ายสุด โดยนายเดวิด ไวจ์ (David Zweig) อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง บอกว่าหากผู้นำไม่จัดการปัญหาให้ดี ก็อาจระเบิดเป็นจลาจล ประชาชนผู้บริสุทธิ์จะปะทะกัน ฝ่ายรัฐบาลก็จะสูญสิ้นความนับถือ เสียงสนับสนุน และความชอบธรรมในการดูแลประชาชน

เวิน เจียเป่ากล่าวระหว่างเยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัยหิมะว่า “ผมขอโทษพวกคุณทั้งหมด พวกคุณต้องการกลับบ้าน ผมเข้าใจความรู้สึกของพวกคุณเป็นอย่างดี”

“คำขอโทษอาจช่วยให้คุณไม่ดูเลวร้ายมาก อย่างไรก็ตาม หากรถไฟยังไม่วิ่ง คำขอโทษก็อาจไม่เพียงพอ” นายฮั่นกล่าว

...ผลกระทบเศรษฐกิจระยะสั้น

หน่วยงานของรัฐจีนได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากพายุหิมะเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราว 53,800 ล้านหยวน กลุ่มนักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่ามหัตภัยพายุหิมะครั้งนี้ จะทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสแรก หดหายไปจากปกติราว 0.5% เหลือราว 10.% การส่งออกที่ถูกสะเทือนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว ก็จะถดถอยลงไปอยู่ที่ระดับ16% ซึ่งเป็นอัตราต่ำกว่าไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว 6% อัตราการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ตกลงมาอยู่ที่ 16% นับเป็นอัตราลดลงครั้งแรกในรอบ4 ปี นับจากช่วงไตรมาสแรกของปี 2004 ปีหลังจากวิกฤตโรคซาร์สในปี 2003

ราคาสินค้าที่พุ่งสูงในยามวิกฤต จะดันดัชนีราคาผู้บริโภคหรือซีพีไอสูงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อที่จีนกำลังเผชิญอยู่อย่างหนักหน่วง คาดว่าซีพีไอเดือนกุมภาพันธ์จะทำสถิติใหม่ทะลุ 7%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกระบุในการแถลงรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจประจำปีเมื่อวันจันทร์ 4 กุมภาพันธ์ว่า ภัยธรรมชาติส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนอย่างจำกัด และก่อนหน้ากลุ่มเกจิเศรษฐกิจ อาทินายเหลียงหง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ เอเชีย ก็ชี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เป็นเพียงระยะสั้นในช่วงไตรมาสแรกเท่านั้น หลังจากนั้น ก็จะเริ่มฟื้นตัวในเดือนเมษายน พฤษภาคม

...แม่ธรรมชาติพิโรธ

เป็นความจริงอยู่โทนโท่ว่า นับวันจีนยิ่งประสบวิบากกรรมจากแม่ธรรมชาติพิโรธถี่หนักและรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที กรมอุตุฯจีนประกาศในวันจันทร์(4 ก.พ.) ว่าจีนผจญอากาศหนาวที่สุดในรอบ 100 ปี เมื่อปี 2006 จีนปะวิกฤตอุณหภูมิร้อนสุดในรอบ 55 ปี ส่วนปีที่แล้ว ก็ผจญภัยแห้งสุดในรอบ 10 ปี...เหล่านี้ เป็นต้น

หวัง ฉีเว่ยนักพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาจีนยอมรับว่า วิกฤตดังกล่าว เกิดจากปัญหาโลกร้อน

“ใครจะไปคิดว่าหิมะจะตกทางภาคใต้จีน จีนกำลังได้รับผลกระทบหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก” หยาง อ้ายหลุนแห่งกลุ่มกรีนพีซ จีน กล่าว

ท่ามกลางกระแสสิ่งแวดล้อมเน่าแฟะ ที่สื่อทั่วโลกต่างประโคม กันคึกโครมตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และตัวการใหญ่ที่ทำลายล้างสิ่งแวดล้อมจีน ก็คือการพัฒนาที่เอาแต่ดันตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี โดยที่ไม่เหลียวแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาถึงกว่า 30 ปี

จีนยังเป็นนักสร้างเขื่อนโลก ที่ระดมสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากมีผลงานชิ้นโบว์แดงได้แก่เขื่อนซันเสียที่ทำลายสถิติใหญ่ที่สุดในโลก จีนยังได้รับจัดสร้างเขื่อนไปทั่วโลก ไม่ว่าเขื่อนใหญ่มูลค่าพันสองพันล้านเหรียญสหรัฐในพม่าในลาว ยันเขื่อนยักษ์ในกาฬทวีปอย่างเขื่อนเมโรวี่ที่ขวางกั้นลำน้ำไนล์ในซูดาน เขื่อนในไนจีเรีย

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคลื่อนไหวบนเส้นทางการพัฒนาของจีน ได้โทรมสิ่งแวดล้อม แหกอกแม่ธรรมชาติ ด้วยจีนที่อยู่ในอุ้งมือของผู้นำคอมมิวนิสต์แต่เพียงพรรคเดียวครองแผ่นดินกว้างใหญ่เป็นอันดับสองของโลก อีกทั้งเป็นเจ้าสัว ทุนหนาที่อาจเข้าไปจัดการแหล่งทรัพยากรในดินแดนที่ยังไร้การบุกเบิกพัฒนาทั่วโลก ผลกระทบจากกิจกรรมพัฒนาต่างๆสะเทือนสู่ฟ้า สู่ดิน จึงมิน้อย

บทเรียนพายุน้ำแข็งครั้งนี้ น่าจะได้ย้ำเตือนจีนอีกครั้ง ให้จริงจังรักษาสัญญา การปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ลั่นไว้มานาน

และก็อดสะท้อนใจมิได้ ที่ชาติที่มีปราชญ์ภูมิปัญญาล้ำเลิศแห่งโลกตะวันออกชาติหนึ่งนี้ ที่เคยกล่าววัจนะเน้นถึงการป้องกันล่วงหน้า ดั่งคำกล่าวของปราชญ์ที่หยิบยกขึ้นมาในตอนเปิดเรื่อง...

คราวนี้ อาจเป็นเพียงไข้เล็ก ตัวเลขจีดีพีวูบไปเพียงไตรมาสแรก ยามนี้ จีนควรหันมามองรากเหง้าแนวคิดที่ทรงคุณค่าของตัวเองในการช่วยคลี่คลายปัจจุบัน ก่อนที่จะต้องกระเสือกกระสนหาหมอเทวดาอย่างเปี่ยนเชวี่ยมาผ่าตัด รักษาโรคร้ายแรงกันเลือดโชก


กำลังโหลดความคิดเห็น