xs
xsm
sm
md
lg

ตรุษจีน ‘ปากน้ำโพ’ เล่าตำนาน ‘เจ๊กสยาม’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในตำนานมีชีวิต และแต่ละชีวิตย่อมมีเรื่องราวหลากสีสันชวนติดตาม ฉันใดฉันนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน ก็แฝงไว้ด้วยตำนานที่อุดมด้วยชีวิต หยาดเหงื่อและแรงกายของจีนสยาม ที่น่าสนใจ สะท้อนรากเหง้า และสารที่บรรจุอยู่ใต้ประเพณี

เมื่อเทศกาลตรุษจีนงวดเข้ามา แต่ละคนมักนึกถึงสิ่งต่างๆที่เชื่อมโยงเข้ากับตรุษจีน สมการในหัวคนไทยทั่วไป แม้แต่ลูกจีนแวบแรก มักคิดกันว่า ตรุษจีน = เยาวราช, สำเพ็ง และอั่งเปา ประหนึ่งเรื่องราวทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯเพียงแห่งเดียว!

ทว่าชุมชนจีนในประเทศไทยมีอยู่มากมาย และหนึ่งในชุมชนที่มีการฉลองตรุษจีนอย่างคึกคักคือปากน้ำโพ หรือนครสวรรค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้า และชุมชนจีน ขนาดใหญ่ บรรจุเอ่อล้นด้วยวิถีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า

กว่าจะเป็นปากน้ำโพ

จังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์กลางการคมนาคม เชื่อมต่อภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน เพราะเป็นชุมทางการคมนาคมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถนน, รถไฟ หรือทางน้ำ ด้วยทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์นครสวรรค์จึงเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปสู่ภาคเหนือ และบางส่วนของภาคอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางการเงินทางภาคเหนือที่สำคัญแห่งหนึ่ง

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า นครสวรรค์มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี โดยเรียกว่า เมืองพระบาง เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในการทำศึกสงคราม ตั้งแต่สมัยสุโขทัย, อยุธยา, ธนบุรี กระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังเรียกชื่อว่า เมืองชอนตะวัน และเปลี่ยนเป็น นครสวรรค์ ในที่สุด แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปมักเรียกกันว่า เมืองปากน้ำโพ ที่เรียกว่า “ปากน้ำโพ” ก็คือว่าเป็นบริเวณที่แม่น้ำปิง วัง ยม และน่านมาบรรจบกัน จึงเรียกว่า “ปากน้ำโผล่” และเพี้ยนมาเป็น “ปากน้ำโพ”1

ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณดังกล่าว มักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่านเรียกว่า “แควใหญ่” และบริเวณ “ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา” คือตลาดปากน้ำโพ ซึ่งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตก2
ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม
เล่าขานตำนานตรุษจีน

เรื่องราวเกี่ยวกับตรุษจีนปากน้ำโพที่สืบต่อกันมาเป็นมุขปาฐะเริ่มต้นว่า “ชาวจีนเมื่ออพยพมาที่ใด มักอัญเชิญเทพเจ้าที่ตนนับถือมาด้วย ที่ตลาดปากน้ำโพก็เช่นเดียวกัน ชาวจีนที่นี่นับถือเจ้าพ่อเทพารักษ์, เจ้าพ่อกวนอู, เจ้าแม่ทับทิม และเจ้าแม่สวรรค์ เมื่อแรกมีการตั้งศาลเพียงตา สำหรับเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ โดยตั้งขึ้น 2 ศาลคือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกของตลาดปากน้ำโพ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ริมฝั่งแม่น้ำปิงที่บ้านหน้าผา ขึ้นไปทางเหนือของตลาดปากน้ำโพ3

ราว 100 ปีที่แล้ว ตลาดปากน้ำโพเกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ชาวจีนในปากน้ำโพได้นำเอากระดาษฮู้ (ยันต์) จากศาลเจ้าไปเผา แล้วเอาเถ้ากระดาษมาชงน้ำดื่มทำให้หายจากโรคระบาด เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว แต่นั้นมาชาวจีนในปากน้ำโพ จึงอัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ ทุกองค์แห่รอบตลาดในช่วงตรุษจีนของทุกปี จนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมานานกว่า 80 ปี4

ที่จริงการฉลองตรุษจีนในปากน้ำโพน่าจะมีมานานแล้ว แต่กลายเป็นงานคึกคักขนาดใหญ่เมื่อมีการแห่องค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่หลังอหิวาตกโรคระบาด ชาวปากน้ำโพให้สัมภาษณ์ว่า “หากปราศจากการแห่องค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่แล้ว ก็คงไร้ซึ่งงานรื่นเริงอื่นๆ เด็กๆมักตื่นตาตื่นใจกับขบวนแห่งสิงห์โต, การเชิดมังกร แต่สำหรับคนรุ่นเก่า การแห่บูชาองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ เป็นเรื่องสำคัญมาก เรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณของงานเลยทีเดียว”5

หากคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆแล้ว การฉลองตรุษจีนในนครสวรรค์น่าจะมีมานาน ทว่าเพิ่งมากลายเป็นงานใหญ่ของจังหวัดในภายหลังเมื่ออหิวาตกโรคระบาด

เนื่องจากทำเลที่ตั้งของปากน้ำโพที่เป็นประตูสู่ภาคเหนือ แถมยังเป็นต้นธารของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายเศรษฐกิจสำคัญของไทย ทำให้ปากน้ำโพเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญแต่อดีต เมื่อปากน้ำโพเป็นชุมชนการค้าก็ย่อมหลีกเลี่ยงมิได้ที่ประชากร ชนชาติที่มีความชำนาญเกี่ยวกับการค้าจะต้องมาชุมนุมกันที่นี่ ชาวจีนซึ่งเป็นนายทุนสำคัญของไทยจึงรวมตัวอยู่กันที่ชุมชนปากน้ำโพกันอย่างคับคั่ง ปัจจุบันร้านรวงกว่า 70-80% ในตัวเมืองนครสวรรค์ก็ยังสืบต่อเป็นกิจการของชาวไทยเชื้อสายจีน6

ช่วงรอยต่อระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 - ต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งตรงกับยุคปลายของราชวงศ์ชิงคนจีนเริ่มหลั่งไหลออกนอกประเทศขนานใหญ่ และหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่พวกเขาเดินทางมาแบบเสื่อผืนหมอนใบก็คือ “สยาม” ชาวจีนไหหลำ (ไห่หนัน), แต้จิ๋ว (เฉาโจว) ฮากกา (เค่อเจีย) และกวางตุ้ง (กว่างตง) ล้วนเดินทางมายังสยาม ทว่าจีนแต้จิ๋วกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ เนื่องจากได้รับการส่งเสริมให้อพยพเข้ามาสมัยธนบุรี ซึ่งกษัตริย์ไทยสมัยนั้นทรงมีเชื้อสายแต้จิ๋ว

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ พบว่า ชาวไหหลำเป็นผู้บุกเบิกสยามตอนบน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ศาลเจ้าจีนที่เก่าแก่ที่สุดในปากน้ำโพ รวมทั้งทางเหนือและทางตะวันออกของปากน้ำโพคือ สุยเหว่ยเหนียง ซึ่งเป็นเจ้าแม่ที่ชาวไหหลำนับถือ8 ความข้อนี้ตรงกับหลักฐานจารึกจากระฆังโบราณบริเวณศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิมซึ่งจารึกเป็นภาษาจีนว่า พู่หงเปียว แห่งหมู่บ้านเคอเจี้ยซัน อำเภอเหวินอี้ (ปัจจุบันคือ เหวินชัง) มณฑลไห่หนัน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นำมาถวายในปี ค.ศ.1870 (พ.ศ.2413) ปลายราชวงศ์ชิงตรงกับต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงสันนิษฐานได้ว่า ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม (แควใหญ่) ต้องสร้างก่อนปีค.ศ. 1870 แน่นอน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ศาลนี้มีอายุกว่า 130 ปี9

ความยากจนและฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อย ทำให้ชาวไหหลำประสบความลำบากในการแข่งขันกับ พวกฮกเกี้ยน, แต้จิ๋ว และกวางตุ้งในเมืองต่างๆ ทว่าด้วยความชำนาญทางด้านการประมง การต่อเรือ และการทำโรงเลื่อย ชาวไหหลำจึงบุกเบิกการค้าบริเวณสยามตอนบน พวกนี้จะไปทำป่าไม้สักทางภาคเหนือ จึงได้เห็นการตั้งโรงเลื่อยของพ่อค้าไม้แปรรูปชาวไหหลำอยู่ทางเมืองเหนือเช่นลำปาง และอู่ต่อเรือของชาวไหหลำที่ท่าฬ่อและปากน้ำโพ ขณะเดียวกันการขาดเงินทุน ก็ทำให้ชาวไหหลำหมดโอกาสในการทำกิจการสั่งสินค้าเข้า และส่งสินค้าออกของกรุงเทพฯ แต่ข้อเท็จจริงประการนี้มิได้เป็นอุปสรรคในการรวบรวมสินค้าพื้นเมือง เพื่อส่งไปขายให้ผู้ส่งออก ดังนั้นชาวไหหลำจึงเป็นพ่อค้าสินค้าพื้นเมืองตามแควต่างๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา”10

บริเวณปากน้ำโพนั้นก็เช่นเดียวกับเมืองการค้าอื่นๆ คือมีประชากรจีนซึ่งเป็นชนชั้นนายทุน และแรงงานจำนวนมาก กระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งนายอำเภอจีนไหหลำ, แต้จิ๋ว และฮกเกี้ยน ขึ้นดูแลคนจีนในปากน้ำโพในปีค.ศ. 1842 (พ.ศ. 2385)11

ครั้นรัฐสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษในปีค.ศ.1855 (พ.ศ. 2398) เศรษฐกิจสยามก็เข้าสู่เศรษฐกิจระบบตลาด เชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างเข้มข้น ข้าวและไม้สักกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ตลาดโลกต้องการสูง การค้าในปากน้ำโพจึงคึกคักเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นชุมทางตลาดข้าว (ร่องรอยที่พอเห็นได้ในปัจจุบันคือ ท่าข้าวกำนันทรง ซึ่งเป็นแหล่งค้าข้าวสำคัญ แม้จะได้ย้ายทำเลเปลี่ยนสถานที่ตั้งมาหลายครั้ง ทว่าประวัติความเป็นมาที่ยาวนานหลายสิบปี ก็พอช่วยให้เห็นความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางการค้าข้าว) และที่รวมของแพซุงไม้สักที่ล่องมาจากภาคเหนือ ครั้นมีการเปิดสถานีรถไฟปากน้ำโพในปีค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442)12 สินค้าจากกรุงเทพฯจึงขนส่งมายังนครสวรรค์ได้สะดวกขึ้น การค้าที่ปากน้ำโพจึงยิ่งคึกคัก ด้วยนายทุนใหญ่ในสังคมสยาม คือชาวจีนทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง นำสินค้าอุปโภคบริโภคจากกรุงเทพฯ มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับผลผลิตทางการเกษตรในนครสวรรค์ เพื่อนำกลับไปขายในตลาดกรุงเทพฯ13

ปากน้ำโพจึงกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย จากสภาพดังกล่าวการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนในปากน้ำโพจึงน่าจะมีมานานแล้ว

สารใต้ตำนานตรุษจีน

ทว่าการฉลองอย่างคึกคักอลังการน่าจะ มาเพิ่มพูนภายหลัง “เมื่อตำนานเจ้าพ่อ-เจ้าแม่รักษาโรคมรณะบังเกิดขึ้น” เนื่องจากคติความเชื่อเบื้องหลังการฉลองเทศกาลตรุษจีน คือ “การเปลี่ยนผ่านจากความตายสู่ชีวิตใหม่” ตำนานตรุษจีนที่เล่าต่อกันมาอย่างยาวนานว่าด้วยเรื่อง “เหนียน” สะท้อนความคิดเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

“เล่ากันว่าสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” (แปลว่า ‘ปี’ ในภาษาจีน) เหนียนเป็นสัตว์ดุร้ายกระหายเลือดชอบกินคนและสัตว์ ชอบออกมาอาละวาดทำร้ายผู้คนในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังนั่งล้อมวงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และยังแย่งกินอาหารที่ผู้คนหุงหากันไว้เป็นประจำทุกๆ ปี

เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างนี้ทุกปี กระทั่งปีหนึ่งขณะประชาชนล้อมวงกันเหมือนอย่างเคยเหนียนก็โผล่ออกมาจากป่า แต่ขณะที่เหนียนวิ่งไล่ขวิดผู้คนเพื่อแย่งอาหารอยู่นั้น พอดีมีฟืนที่กองไฟเกิดระเบิดเปรี้ยงปร้างขึ้นมา ลูกไฟกระเด็นเข้าใส่เหนียนทำให้เหนียนตกใจวิ่งหนีกลับเข้าป่าไป

ชาวบ้านจึงรู้ว่าเหนียนซึ่งเป็นสัตว์ดุร้ายกระหายเลือดนั้น ความจริงมันก็กลัวไฟและกลัวเสียงดัง ในปีต่อมาเมื่อเหนียนโผล่ออกมาอีกผู้คนที่ชุมนุมกันอยู่มากมายแทนที่จะแตกตื่นวิ่งหนีเหมือนสมัยก่อน กลับพร้อมใจกันส่งเสียงดังอึกทึก

ต่อมา มีคนเจ้าปัญญาคิดว่าแทนที่จะใช้ไฟจริงๆ ซึ่งบางปีก็ทำให้เกิดไฟไหม้ ทำความเสียหายให้มากกว่าเหนียน ซึ่งเป็นสัตว์ร้ายด้วยซ้ำ จึงเปลี่ยนเป็นใช้กระดาษแดง ผ้าแดง เขียนตัวอักษรด้วยหมึกสีทองมองดูไกลๆ เหมือนกับไฟลุกโพลง ปิดแปะปักไว้ตามที่เห็นเด่นชัด ทั้งตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่สาธารณะ ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นการเขียนคำสิริมงคล ครั้นชาวจีนคิดดินระเบิดได้และสามารถประดิษฐ์เป็นประทัดก็ใช้การจุดประทัดแทนการตีเกราะเคาะไม้เพื่อไล่สัตว์ร้าย

ฝ่ายเหนียนเริ่มรู้สึกสำนึกบาปว่า การอาละวาดทำร้ายผู้คนเพื่อแย่งชิงอาหารนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ดีไม่มีจริยธรรม จึงกลับตัวกลับใจเปลี่ยนเป็นทำตัวเชื่องและเป็นมิตร ชาวจีนจึงเรียกมันใหม่ว่า “ซินเหนียน” หมายถึงเหนียนในภาพลักษณ์ใหม่”14

ซินเหนียน หรือปีใหม่ในวัฒนธรรมจีนจึงเป็นการฉลอง ที่ว่าด้วยการฟื้นจากความตายสู่ชีวิตใหม่ เนื่องจาก ปีศาจเหนียนเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ซึ่งออกอาละวาด ทำลายล้าง ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวมาสู่ฤดูใบไม้ผลิ

เมื่อนำตำนานมาพิจารณาผ่านกรอบความคิดเรื่องวัฎจักรชีวิต ผลิ (ชุน), ร้อน (เซี่ย), ร่วง (ชิว), หนาว (ตง) ทั้งสี่ฤดูสามารถเทียบได้กับ วัฎจักรของสรรพสิ่ง คือ เกิด, แก่, เจ็บ, ตาย ฤดูหนาวคือความตาย ส่วนฤดูใบไม้ผลิคือการเกิด เนื่องจากในฤดูหนาวอากาศแห้งแล้ง พืชพันธุ์ ธัญญาหารไม่สามารถเติบโตได้ ครั้นเปลี่ยนผ่านมายังฤดูใบไม้ผลิ ชีวิตก็เริ่มงอกงามออกจากผืนปฐพี ฉะนั้นคนจีนโบราณจึงมีคติความเชื่อ ฉลองการเปลี่ยนผ่านระหว่างฤดูหนาวสู่ฤดูใบไม้ผลิ ด้วยคือการเริ่มต้นของชีวิตใหม่

นอกจากนี้นิทานเรื่องเหนียนยังเชื่อมโยงสอดคล้องกับการฉลองตรุษจีน

ตามระบบปฏิทินจีนใน 1 ปี มี 12 เดือน แต่ละเดือนจะถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ 12 ราศี เชื่อกันว่าระบบ 12 หลักนี้ จีนน่าจะได้อิทธิพลมาจากเมโสโปเตเมีย เนื่องจากราชวงศ์เซี่ยซึ่งเป็นราชวงศ์เก่าแก่สุดของจีน ที่นักโบราณคดีสามารถหาหลักฐานอ้างอิงได้ มีอายุราว 2,100-1,600 ปีก่อนคริสตกาล15 ขณะที่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย ซึ่งนักดาราศาสตร์สมัยนั้นได้สร้างปฏิทินโดยใช้ระบบนับ 12 เดือน ตามการโคจรของดวงจันทร์ (ปฏิทินจันทรคติ ซึ่งจีนก็ใช้ระบบนี้เช่นกัน) มีอายุเก่าถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล การนับระบบเลข 12 จึงเป็นสิ่งที่แพร่ออกจากตะวันออกกลางเมื่อหลายพันปีมาแล้ว16

อย่างไรก็ตาม นักเทพปรณัมศาสตร์สันนิษฐานว่า แต่เดิมใน 1 ปีปฏิทินของตะวันออกกลาง มี 13 เดือน และเดือนที่ 13 นั้นเป็นเดือนประหารเจ้าข้าวเจ้าปี กล่าวคือในสังคมก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์ให้การนับถือสตรีเพศ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และเป็นใหญ่ในสังคม เนื่องจากสตรีเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต อันหมายถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์สำหรับสังคมกสิกรรม นางเมืองซึ่งครองราชย์จะเลือกสามีใหม่ทุกปี ชายที่ถูกเลือกสรรจะได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่อ อวยเกียรติยศอย่างดี กระทั่งถึงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า ซึ่งเป็นฤดูกสิกรรมชาวนาเริ่มไถหว่าน “เจ้าข้าวเจ้าปี” จะถูกนำไปฆ่าบูชายัญ แล้วแม่นางเมืองจะนำโลหิตไปโปรยไร่นา เป็นการสังเวยให้เจ้าแม่ดินบังเกิดความอุดมสมบูรณ์ทำนาได้ผล17

การที่เพศชายถูกกำหนดให้เป็นตัวแทนของเจ้าพ่อฟ้า (ดวงตะวัน) ขณะที่เพศหญิงเป็นตัวแทนของเจ้าแม่ดินนั้นสำคัญมาก เพราะเจ้าพ่อฟ้า (ดวงตะวัน) เกิดและตายปีละครั้ง คือเกิดและเพิ่มพลังในครึ่งแรกของปี (ทักษิณายัน)18 แล้วอ่อนกำลังจนตายในครึ่งหลัง (อุตรายัน)19 เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อสังคมกสิกรรมที่อยู่ห่างเส้นศูนย์สูตรมาก เพราะฤดูหนาวดูเหมือน “โลกตาย” เพาะปลูกไม่ได้20 ทำให้เกิดความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของเจ้าพ่อปีเก่า และจัดให้เจ้าแม่ดินท้องกับเจ้าพ่อปีใหม่ ด้วยการบูชายัญ หลั่งโลหิตเจ้าพ่อเก่า เพื่อให้เจ้าแม่ดินท้องกำเนิดพืชผล21
การแสดงงิ้ว อุปรากรณ์ของชาวจีนสยาม ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ภายในงานเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ
เมื่อมนุษย์เจริญก้าวหน้า และเลิกพิธีบูชายัญก็จำต้องขจัดเดือนที่ 13 เสีย เพื่อให้เจ้าข้าวเจ้าปีมีชีวิตรอด และครองราชย์ต่อไปนานๆ จนกลายเป็นสถาบันกษัตริย์ที่รู้จักกันทุกวันนี้ 1 ปีจึงเหลือเพียง 12 เดือน22

พิจารณาจากกรอบความคิดวัฎจักรชีวิต การฉลองตรุษจีนปากน้ำโพ ภายหลังอหิวาตกโรคระบาด จึงเป็นเรื่องที่มีความหมายสำคัญ สอดคล้องกับคติ “การเปลี่ยนผ่านจากความตายสู่ชีวิตใหม่” เช่นเดียวกับการเปลี่ยนผ่านของเหนียน ที่ชาวบ้านไม่ต้องเสียสละชีวิตบูชายัญอีกต่อไป และเหนียนได้กำเนิดใหม่เป็น “ซินเหนียน” จาก “เหนียน” (ปี) ที่แห้งแล้ง, การทำลายล้าง และความตาย สู่ “ซินเหนียน” (ปีใหม่) ที่อุดมสมบูรณ์เป็นมิตรต่อประชาชน

ปัจจุบันการฉลองตรุษจีนปากน้ำโพได้กลายมาเป็นงานใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์ ที่ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์และหน้าตาของจังหวัด มหกรรมเชิดสิงห์โต, แห่งมังกร, บูชาเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ที่สืบสานมาอย่างยาวนานจึงเอ่อล้นด้วยชีวิต, เรื่องราว และสารสำคัญที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

แม้วันนี้ปากน้ำโพจะไม่คึกคัก เป็นศูนย์กลางการค้าดังแต่ก่อน ทว่าชุมชนจีนที่ปากน้ำโพ ยังอุดมด้วยประวัติความเป็นมา และตัวตนความเป็นจีน ที่เย้ายวนชวนค้นหา

หากบทความนี้มิได้ถ่ายทอดเสน่ห์, ชีวิต และเรื่องราวหลากสีสันของจีนสยามในปากน้ำโพ ก็ให้ถือว่า “ได้ฟังเรื่องเล่าของลูกหลาน “เจ๊ก” ตัวเล็กๆ จากปากน้ำโพ ที่พยายามสืบค้น รากเหง้าและสารที่บรรพชนส่งต่อ ก่อนที่เรื่องราวเหล่านี้จะเลือนหายไปกับกาลเวลา”

                                                                   
โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์




เอกสารอ้างอิง

[1] “นครสวรรค์,” [http://th.wikipedia.org/wiki/นครสวรรค์], 10 มกราคม 2551.
[2] “ตำนานงานตรุษจีนปากน้ำโพ,” [http://www.chinesenewyear.in.th/cgi-bin/chinesenewyear/news.pl?id_news=0002], 29 มกราคม 2551.
[3] Ibid.
[4] Ibid.
[5] โอภาส มงคลชัยอรัญญา, สัมภาษณ์โดยผู้เขียน, 29 มกราคม 2551, นครสวรรค์, โทรศัพท์. 
[6] Ibid.
[7] มาจู่ (หมาโจ้ว) หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามว่า  เจ้าแม่ทับทิม, เทียนเฟย และพระนามอื่นๆอีกมาก หนึ่งในนั้นคือ สุยเหว่ยเหนียง (จุ้ยบ๋วยเนี้ย ซึ่งแปลว่าเจ้าแม่ท้ายน้ำ) ทั้งนี้การเรียกดังกล่าวพรชัย ตระกูลวรานนท์ชี้ว่า เป็นการเรียกที่ผิด เนื่องจากเจ้าแม่ทับทิม ที่แท้แล้วเป็นคนละองค์กับมาจู่ หรือ เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ (เทียนโหวเซี่ยบ้อ) ของชาวแต้จิ๋ว เดิม “เจ้าแม่ทับทิม” เป็นฉายาในภาษาไทยของ “สุยเหว่ยเหนียง” เพียงองค์เดียว โดยชาวไห่หนัน (ไหหลำ) เป็นคนอัญเชิญเทพองค์ดังกล่าวมา (ภาษาไห่หนันเรียกสุยเหว่ยเหนียงว่า “ตุ้ยบ่วยเต๋งเหนี่ยง”) ต่อมาเมื่อแต้จิ๋วอพยพมาไทยก็มีการเชิญเทพ มาจู่ของตนมาตั้งศาลประดิษฐาน เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป นานเข้าจึงมีการเรียกชื่อ “มาจู่” เป็นภาไทยตามเทพไหหลำว่า “เจ้าแม่ทับทิม” ดู จำนงศรี หาญเจนลักษณ์, “ตำนานเทพผู้คุ้มครองคนเดินเรือ,” ใน ดุจนาวากลางมหาสมุทร, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์, 2543), 73-81. 
[8] จี. วิลเลียม สกินเนอร์, “การเปิดประตูและเปิดโอกาส: การอพยพของชาวจีนและการเพิ่มขึ้นของพลเมืองถึง ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460),” ใน สังคมจีนในไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์, พิมพ์ครั้งที่ 2, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และคนอื่นๆ (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548), 84.
[9] “ตำนานศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม(แควใหญ่),”
[http://www.chinesenewyear.in.th/cgi-bin/chinesenewyear/news.pl?id_news=0035], 29 มกราคม 2551.
[10] จี. วิลเลียม สกินเนอร์, สังคมจีนในไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์, 85.
[11] เสริมพงษ์ คุณาวงศ์, “เล่าขานตำนานคนจีนในปากน้ำโพ,”
[http://www.chinesenewyear.in.th/cgi-bin/chinesenewyear/news.pl?id_news=0014], 29 มกราคม 2551.
[12] Ibid.
[13] Ibid.
[14] สุขสันต์ วิเวกเมธากร, “ควันหลงตรุษจีน,” [http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9490000018712], 12 กุมภาพันธ์ 2549.
[15] “Xia dynasty,” [http://en.wikipedia.org/wiki/Xia_dynasty], 22 January 2008.
[16] ไมเคิล ไรท, “ราศี ๑๒ เป็น ๑ ‘ปี’ สัตว์ ๑๒ ตัวเป็น ๑ ‘รอบ’: ใครคิด? และคิดทำไม?,” ใน ฝรั่งคลั่งผี (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550), 128-129.
[17] ไมเคิล ไรท, “ทำไมพระอิศวรจึงร่ายรำ?,” ใน ฝรั่งคลั่งผี, 6.
[18] การที่ดวงอาทิตย์ โคจรไปถึงจุดหยุด (solstice) คือ จุดสุดทางใต้ในราววันที่ 22 ธันวาคม  (ตามปฎิทินสุริยคติ) เป็นจุดในฤดูหนาว มีกลางคืนยาวที่สุด
[19] อุตรายัน หรือ ครีษมายัน คือ การที่ดวงอาทิตย์ โคจรไปถึงจุดหยุด (solstice) คือ จุดสุดทางเหนือในราววันที่ 22 มิถุนายน (ตามปฎิทินสุริยคติ)  เป็นจุดในฤดูร้อน มีกลางวันนานกว่ากลางคืน
[20] สมัยโบราณชาวจีนมิได้เรียกเทศกาลตรุษจีนว่า “ชุนเจี๋ย” แต่เรียกว่า “หยวนตั้น” ซึ่งมีความหมายว่า ตะวันดวงแรกของปี หรือวันแรกแห่งปี สะท้อนให้เห็นความสำคัญของดวงอาทิตย์ต่อสังคมเกษตรจีน “ชุนเจี๋ย” เริ่มมาใช้เป็นคำเรียกเทศกาลตรุษจีนหลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง ดู พันหนีต๋า, “วันขึ้นปีใหม่,” มติชนสุดสัปดาห์, 1-7 กุมภาพันธ์ 2551, 72.
[21] ไมเคิล ไรท, “ทำไมพระอิศวรจึงร่ายรำ?,” ใน ฝรั่งคลั่งผี, 7.
[22] ไมเคิล ไรท, “ราศี ๑๒ เป็น ๑ ‘ปี’ สัตว์ ๑๒ ตัวเป็น ๑ ‘รอบ’: ใครคิด? และคิดทำไม?,” ใน ฝรั่งคลั่งผี, 130.

กำลังโหลดความคิดเห็น