xs
xsm
sm
md
lg

เขตศก.จูเจียงร้าง โรงงานปิดหนีต้นทุนสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชน่านิวส์ – สำนักข่าวจีนรายงาน เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตง ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน กำลังเผชิญกับปัญหาผู้ประกอบการธุรกิจแปรรูปและรับจ้างผลิต ล้มละลาย เลิกกิจการ หรือโยกย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น เนื่องจากขาดแคลนแรงงานและความกดดันจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

หลี่เผิง เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมรองเท้าแห่งประเทศจีนกล่าวต่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไชน่านิวส์ว่า ในมณฑลกว่างตงมีโรงงานผลิตรองเท้ารวมกันราว 5-6,000 แห่ง แต่ในปัจจุบันมีโรงงานขนาดกลางและใหญ่ปิดตัวไปแล้วกว่า 1,000 แห่ง เช่นในเมืองฮุ่ยตง ซึ่งมีโรงงานผลิตรองเท้า 3,000 กว่าแห่ง แต่ภายใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาโรงงานขนาดกลางและย่อมเลิกกิจการไปราว 4-500 แห่ง

นอกจากอุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะใช้แรงงานหนาแน่น ที่อยู่ในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงต่างกำลังประสบปัญหาแบบเดียวกัน เช่น อุตสาหกรรมผลิตเครื่องแต่งกาย อุตสาหกรรมผลิตของเล่นเด็ก และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ปิดกิจการที่นี่เพื่อโยกย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น และมีบางส่วนที่ล้มละลาย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ รายงานข่าวจีนระบุว่า เนื่องมาจากการขาดแคลนแรงงาน เห็นได้จากช่วงเวลาที่ผ่านมาโรงงานผลิตแทบทุกแห่งปิดประกาศรับสมัครคนงานอยู่ตลอด แม้ว่าขณะเดียวกันค่าแรงจะขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ตัวอย่างเช่น ในปี 2002 ค่าแรงขั้นต่ำที่เมืองตงกว่านอยู่ที่ 450 หยวน แต่ในปัจจุบันสูงเป็น 690 หยวน ซึ่งเพิ่มถึง 50% ในช่วง 5 ปี ในความเป็นจริงขณะนี้ค่าแรงของคนงานในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงสูงเฉลี่ย 1,000 – 1,500 หยวน และแรงงานราคาถูกหาไม่ได้แล้วในศูนย์กลางการผลิตของโลกแห่งนี้

นอกจากภาวะขาดแคลนแรงงานแล้ว ผู้ประกอบการยังถูกกดดันจากราคาต้นทุนที่ไต่ระดับสูงขึ้นทุกขณะ ทั้งราคาวัตถุดิบ น้ำและไฟฟ้า รวมทั้งค่าเช่า เจ้าหน้าที่จากโรงงานผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่งเผยว่า เมื่อปี 2004 ทองแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำกระดุมมีราคาตันละ 20,000 กว่าหยวน แต่ในปัจจุบันทะยานถึง 60,000 กว่าหยวนหรือเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ถึงกระนั้นราคาสินค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามเลย

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ตลาดโลกที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมาตรการปกป้องตลาดของนานาประเทศ ล้วนส่งผลต่อแรงแข่งขันของผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ ผู้ที่ไม่สามารถอยู่รอดได้จำต้องปิดกิจการไป ส่วนผู้ที่พอขยับขยายได้ก็ย้ายฐานการผลิตไปยังดินแดนอื่นหรือส่วนอื่นของประเทศจีน

จากสถิติของสมาคมอุตสาหกรรมรองเท้าแห่งประเทศจีนเปิดเผยว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตรองเท้าจากกว่างตงราว 25% ได้ไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม พม่า หรือแม้แต่อินเดีย และราว 50% ได้ย้ายการผลิตไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศจีน เช่น หูหนัน เจียงซี กว่างซี เหอหนัน เป็นต้น ส่วนอีก 25% ยังกำลังรอดูสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจีนติงว่า การย้ายฐานการผลิตอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการที่เน้นการรับจ้างผลิต จางหัวหลงเจ้าหน้าที่จากบริษัทผลิตรองเท้าหัวเจียนที่ย้ายโรงงานไปเวียดนาม กล่าวว่า วัตถุดิบและชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ต้องใช้ในการผลิตรองเท้าที่เวียดนามจำเป็นต้องนำเข้ามาจากตงกว่าน ถึงแม้จะได้เปรียบด้านค่าแรง แต่ยังไม่มีความพร้อมในส่วนอื่นๆ เท่าการผลิตในประเทศจีน

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ย้ายไปยังส่วนอื่นในประเทศจีน ก็ประสบปัญหาด้านความพร้อมเช่นกัน เช่น ต้นทุนคมนาคมและขนส่งเพิ่มขึ้น ซึ่งหลี่เผิงเองยอมรับว่าผู้ผลิตรองเท้าจำนวนมากก็ยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร ทั้งนี้การย้ายฐานการผลิตไม่ใช่พิจารณาเพียงค่าแรงที่ต่ำเท่านั้น ยังต้องดูความพร้อมในการผลิต นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่น เป็นต้น

รายงานข่าวย้ำว่า ไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกแก้ปัญหาอย่างไร แต่ทางเลือกที่เหลือสำหรับเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงคือ การบรรลุการยกระดับและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงได้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศจีน นั่นคือ ต้นทุนต่ำ กำไรน้อย ไม่มีการสร้างสรรค์ตรายี่ห้อของตนเอง ใช้เทคโนโลยีต่ำ เน้นแรงงาน ไม่มีจุดเด่นในการแข่งขัน ซึ่งเมื่อใดที่สูญเสียความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนต่ำก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการอยู่รอด .
กำลังโหลดความคิดเห็น