xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดินหน้าหนุนสิทธิคนงาน จี้บ.เทศ80%ตั้งสหภาพแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเยนซี – จีนเอาจริงแน่ ประกาศแรงงานราวร้อยละ80 ในวิสาหกิจใหญ่น้อยของต่างชาติ ต้องได้จัดตั้งสหภาพแรงงานภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนั้น สหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีน หรือ ACFTU ซึ่งเป็นองค์กรมวลชนสังกัดรัฐ ยังตั้งเป้าให้แรงงานอพยพในอุตสาหกรรมทุติยภูมิและตติยภูมิ ที่มีอยู่ถึง 70 ล้านคน ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาคุ้มครองของสหภาพแรงงานอีกด้วย ตามการเปิดเผยนอกรอบของซุ่นชุนหลัน รองประธานบริหารสหพันธ์ ระหว่างการประชุมนานาชาติว่าด้วยสหภาพแรงงานและเศรษฐกิจไร้พรมแดน โดยสหพันธ์จะส่งเสริมให้มีการเจรจาต่อรองระหว่างผู้บริหารกับแรงงานในการดำเนินการจัดตั้งดังกล่าว

ซุ่นยังระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว สถานะของสหภาพแรงงานในบริษัทต่างชาติทุกวันนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา แม้บริษัทข้ามชาติบางรายพยายามขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่ในที่สุด ก็ได้เห็นลูกจ้างของตนผนึกกำลังกันได้สำเร็จเมื่อปีที่แล้ว เช่น วอลมาร์ท ซึ่งมีร้านสาขาในจีนทั้งหมด 84 แห่ง ปรากฏว่า ร้านสาขาถึงร้อยละ 77 ได้จัดตั้งสหภาพแรงงาน นอกจากนั้น สหภาพแรงงานหลายแห่งได้มีบทบาทช่วยให้ลูกจ้างตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ตนควรได้รับ เช่น สหภาพแรงงานของวอลมาร์ทในเมืองพูโจว เมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยน กดดันให้ฝ่ายบริหาร ขึ้นค่าจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ เป็นชั่วโมงละ 6 หยวน (75เซนต์) จาก 5.5 หยวน ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเมือง

การรวมตัวของพนักงานวอลมาร์ท สร้างแรงกระตุ้นครั้งใหญ่แก่พนักงานบริษัทต่างชาติรายอื่น ๆ เช่น คาร์ฟูร์, แม็คโดนัลดส์ , มอโตโรล่า และเนสกาแฟ โดยในจำนวนบริษัทต่างชาติ 51,728 ราย มีถึงร้อยละ 60 ได้จัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นเมื่อสองปีก่อน และจนถึงเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานถึงราว 1 ล้าน 2 แสน 5 หมื่นรายในบริษัทเอกชนในประเทศ

สำหรับปีนี้ ทางสหพันธ์ จะเน้นการให้ความช่วยเหลือจัดตั้งสหภาพแรงงานในบริษัทต่างชาติ ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งบริษัท “เขี้ยว” อีกสองสามราย ที่กำลังขัดขวางพนักงาน

“บริษัทเอกชนทั้งของต่างชาติและในประเทศ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากการจัดตั้งสหภาพแรงงานถือเป็นสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้าง” ซุ่นระบุ โดยกฎหมายสหภาพแรงงานของจีน กำหนดให้บริษัท ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป จะต้องมีสหภาพแรงงาน และห้ามองค์กร หรือเอกชนใด ขัดขวางการดำเนินการของลูกจ้าง

ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีนในปีนี้ได้แก่การช่วยเหลือแรงงานอพยพ 10 ล้านคน จัดตั้งสหภาพแรงงาน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งมีแรงงานอพยพ 60 ล้านคน ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เนื่องจากแรงงานอพยพถือเป็นแรงงานกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ที่สุด แต่สิทธิของแรงงานเหล่านี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ แรงงานกว่าร้อยละ 60 ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เป็นแรงงานอพยพ คนงานเหมืองราวร้อยละ 80 เคยเป็นชาวนา คนงานก่อสร้างร้อยละ70 และคนงานโรงงานผลิตสินค้าร้อยละ68 เป็นคนนอกพื้นที่

แม้รองประธาน ACFTU จะออกมาให้ข่าวอย่างแข็งขันเกี่ยวกับสวัสดิภาพของแรงงาน ทว่าองค์กรดังกล่าวมิวายถูกตั้งข้อสงสัยจาก ฮั่นตงฟาง ผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน ที่มิได้สังกัดรัฐบาลจีนแห่งแรกเมื่อปี 1989 จนถูกขับออกนอกประเทศ ฮั่นเผยว่า “ACFTU ไม่ได้เป็นตัวแทนของแรงงานอย่างแท้จริง เป็นเพียงองค์กรที่รัฐจัดตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมกิจกรรมต่างๆของแรงงาน”

“จากสถิติไม่เป็นทางการของผม มีเหตุประท้วงเกิดขึ้นทุกวัน อย่างน้อยวันละครั้งในเขตอุตสาหกรรมจูเจียง โดยการประท้วงแต่ละครั้งมีผู้ชุมนุมถึง 1,000 ราย กฎระเบียบจีนดูเข้มงวดก็จริง แต่พอนำไปปฏิบัติกลับหละหลวมมาก ยังมีการเอาเปรียบแรงงานอยู่มาก เฉพาะปี 2007 โรงงานจีนที่ผลิตสินค้าให้ต่างชาติหลายแห่งก็เอาเปรียบแรงงานจนเป็นข่าวครึกโครม อาทิกรณีโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งให้ เดลล์, วอลล์ มาร์ท และดิสนีย์ ต่างตกเป็นข่าวใช้แรงงานใช้แรงงานเด็ก, กดค่าแรง หรือไม่ก็บังคับให้คนงานทำงานมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน”

ทาง ACFTU เองก็เน้นว่าการขยายการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ก็ใช่ว่าจะสามารถหยุดยั้งนายจ้างบางรายไม่ให้ละเมิดสิทธิของแรงงานอพยพได้ โดยสหพันธ์พบว่า แรงงานอพยพในประเทศทั้งหมด 200 ล้านคน มีจำนวนมาก ที่ประสบปัญหาหลัก ๆ 3ประการ คือถูกกดค่าแรง, สภาพการทำงานปราศจากความปลอดภัย และได้รับสวัสดิการสังคมไม่เพียงพอ

โดย ACFTU คาดหวังว่า แรงงานอพยพทั้ง 200 ล้านคน จะได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการจัดการประชุมสมัชชาสหภาพแรงงานจีนแห่งชาติครั้งที่ 15
กำลังโหลดความคิดเห็น