ไชน่าเดลี่ – เจ้าหน้าที่การค้าจีนปัดกระแสข่าวเงินลงทุนต่างชาติเผ่นหนีจากเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง และข่าวที่ว่าบริษัทโรงงานมากมายที่นี่กำลังปิดตัวลงนั้น ไม่เป็นความจริง
“บริษัทต่างชาติที่เข้าลงทุนในมณฑลกว่างตงยังคงเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง” เจ้าหน้าที่การค้าของมณฑลทางตอนใต้แห่งนี้ยืนยัน
ตามข้อมูลกรมการค้าของคณะผู้บริหารมณฑลกว่างตงระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว บริษัทต่างชาติถอนตัวจากกว่างตง 244 ราย และวางแผนจากไปอีก 28 ราย ทว่าในปีเดียวกันนี้ ทางการได้อนุมัติโครงการลงทุนจากต่างชาติกว่า 9,000 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าสัญญารวมกันเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น มณฑลยังสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติได้17,100 ล้านดอลลาร์ เพิ่มร้อยละ18 จากปีก่อนหน้า
ขณะที่กรมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศของมณฑล ระบุว่าบริษัทต่างชาติที่เข้าจดทะเบียนในปี 2550 มีทั้งสิ้น 66,789 ราย หรือเพิ่มร้อยละ 6.62 จากปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่การค้า ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยนาม ยอมรับว่า มีบริษัทบางรายถอนตัวจริง โดยบริษัทเหล่านี้กว่าร้อยละ 70 เป็นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งมีเงินลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์ และกว่าร้อยละ 60 ของบริษัทเหล่านี้เป็นอุตสากรรมการผลิต ที่พึ่งแรงงานเป็นหลัก เช่นการผลิตเสื้อผ้า,รองเท้า,พลาสติก และของเล่น โดยการปรับนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัท ที่ได้กำไรน้อย ต้องเลิกกิจการไป
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้พยายามลดการเกินดุลการค้าจำนวนมหาศาล ซึ่งในปีที่แล้ว เพิ่มสูงเกือบร้อยละ 50 เป็น62,000 ล้านดอลลาร์ โดยรัฐบาลได้ลดการคืนเงินภาษีส่งออกแก่เจ้าของกิจการในภาคการผลิตบางประเภทมาตั้งแต่ครึ่งแรกของปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน เจ้าของกิจการยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยต้นทุนแรงงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนั้น การแข็งค่าของเงินหยวน ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อปี 2549 ยังบีบคั้นให้บริษัทผู้ผลิตในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าในระดับล่างสุด ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น
คณะผู้บริหารท้องถิ่นยังสั่งปิดโรงงานบางแห่ง ซึ่งใช้พลังงานและก่อมลพิษสูง เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพของอุตสาหกรรมในท้องถิ่น
“เป็นเรื่องปกติ ที่บริษัทซึ่งแข่งขันได้น้อยบางรายจะถอนตัวออกไป” เขากล่าว พร้อมกับเสนอแนะว่า มณฑลกว่างตงจำเป็นต้องหันมาสนับสนุนธุรกิจภาคบริการทันสมัยและการผลิตสินค้าสำหรับลูกค้าระดับบน แทนโรงงานที่พึ่งแรงงานเป็นหลัก และสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย
“ถ้าบริษัทบางรายย้ายไปลงทุนในภูมิภาคอื่นของโลก ก็เป็นแค่กลยุทธ์การกระจายการลงทุนอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับนโยบายของบริษัทเหล่านั้นในจีนแต่อย่างใด” เบรนด้า เล ฟอสเตอร์ ประธานหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ให้ความเห็น
“ต้นทุนเป็นประเด็นหนึ่ง แต่ไม่ใช่สิ่งผลักดันให้บริษัทถอนตัวออกไป”