เอเยนซี – จีนจับมือแอฟริกาใต้ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของแอฟริกา ยกระดับความสัมพันธ์ ท่ามกลางกระแสบริษัทแดนมังกรทั้งรัฐ และเอกชนโหมบุกตลาดเกิดใหม่ ขณะที่การเยือนของผู้นำจีน บ่อยครั้งยิ่งสะท้อนความสำคัญของแอฟริกา
เมื่อวันจันทร์ (7 ม.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน หยางเจี๋ยฉือ ร่วมกับรมต.ต่างประเทศแอฟริกาใต้ นางโคซาจานา ดรามีนี จูมา แถลงข่าวร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งกลไกการหารือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
จูมากล่าวว่า “กลไกดังกล่าวจะก่อให้เกิดการประชุมระหว่างจีน-แอฟริกาใต้ ปีละครั้ง และในการประชุม ทั้งสองฝ่ายจะหารือประเด็นทางการเมืองหลากหลายหัวข้อ อย่างลึกซึ้ง”
หยางเยือนแอฟริกาใต้เป็นแห่งแรกระหว่างเที่ยวการเดินสายเยือน 4 ชาติแอฟริกาอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศจีนกำหนดธรรมปฏิบัติทางการทูตในการเยือนเหล่าชาติแอฟริกาในรุ่งอรุณของปี สะท้อนให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญแก่แอฟริกา
ระหว่างการเยือนแอฟริกาใต้ครั้งนี้ หยางได้เข้าพบประธานาธิบดี ธาโบ มิวเยลวา เอ็มเบกี ของแอฟริกาใต้ ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกาใต้-จีนว่า “ความสัมพันธ์แอฟริกาใต้-จีน มิเพียงมีความสำคัญต่อทั้งสองประเทศเท่านั้น ความสัมพันธ์นี้ยังสำคัญต่อทวีปแอฟริกาทั้งหมด แอฟริกาใต้ชื่นชมความสัมพันธ์นี้ และจะยืนหยัดอย่างมั่นคงต่อหลักการจีนเดียว”
ในปีนี้ทางแอฟริกาใต้กับจีนจะมีการเยือนโดยผู้นำระดับสูงมากกว่าช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ทั้งสองประเทศจะจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าทวิภาคี อีกทั้งจีนยังมีแผนการจัดแสดงวัฒนธรรมในแอฟริกาใต้ด้วย
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ ส่วนการลงทุนในทวีปแอฟริกาของจีนก็มีอยู่หลากหลายโครงการ คาดกันว่า จีนจะอาศัยแอฟริกาใต้เป็นฐานสำคัญในการบุกกาฬทวีป
เมื่อปีที่แล้วประธานาธิบดีหูจิ่นเทาเพิ่งเดินทางไปเยือนแอฟริกา ล่าสุดรมต.ต่างประเทศจีนก็อยู่ระหว่างการเยือน 4 ชาติแอฟริกาประกอบด้วย แอฟริกาใต้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บุรุนดิ และ เอธิโอเปีย
บ.จีนเจาะขุมทรัพย์กาฬทวีป
สิงโฮ่วหยวน ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจข้ามชาติ ของบัณทิตยสภาด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเดิมทำหน้าที่ให้ข้อมูลการลงทุนในจีนสำหรับชาวต่างชาติ และปัจจุบันได้ผันมาทำหน้าที่ให้ข้อมูลการลงทุนต่างประเทศสำหรับชาวจีน เผยว่า “ตั้งแต่จีนจัดการประชุมความร่วมมือจีน-แอฟริกา ปี 2006 รัฐบาลเริ่มให้ความสนใจกับธุรกิจจีนขนาดเล็ก-กลาง ที่เข้าไปลงทุนในแอฟริกามากขึ้น”
ขณะที่วิสาหกิจจีนบุกตลาดประมูลเหมืองแร่ น้ำมัน และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจนเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก บริษัทขนาดเล็กที่ทำหน้าที่จัดส่งวัสดุอาทิ ซีเมนต์ และระเบิดก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ข้อมูลจากบัณทิตยสภาด้านสังคมศาสตร์เผยว่า “ขณะที่ความเคลื่อนไหวของวิสาหกิจใหญ่ มักตกเป็นข่าวดัง บริษัทเอกชนขนาดเล็กกลับมีศักยภาพในการรุก แสวงหาโอกาสในตลาดต่างประเทศได้รวดเร็วกว่า”
เมื่อปีที่แล้ว แอฟริกาทำสถิติ เป็นทวีปที่จีนลงนามสัญญาโครงการต่างๆมากเป็นประวัติการณ์ หากเทียบสถิติการลงทุนต่างประเทศของจีนปี 2006 ต่อสัดส่วนการลงทุนในแอฟริกาปรากฏว่า จีนมีสัดส่วนการลงทุนในกาฬทวีปลดลงเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปี 2005 จีนลงทุนในแอฟริกาถึง 7 เปอร์เซ็นต์จากการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด ฉะนั้นสถิตินี้จึงสะท้อนว่า แนวโน้มการลงทุนในแอฟริกา จะเป็นการลงทุนโดยบริษัทรายย่อยมากขึ้น
เพื่อรองรับกระแสดังกล่าว เมื่อเดือนธันวาคมรัฐบาลจีนได้จัดการประชุมหัวข้อ การลงทุนจีน-แอฟริกา ณ มหานครปักกิ่ง ซึ่งสิงได้ทำหน้าที่แนะนำบริษัทจีนที่สนใจเข้าไปลงทุนในกาฬทวีป
สิงเผยว่า “รัฐบาลจีนกำลังให้ความสนใจกับพื้นที่ที่เรียกว่า “เขตพัฒนา” ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการลงทุนของจีนจำนวนมาก การจัดตั้งเขตดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทขนาดเล็ก-กลางของจีนสามารถเข้าถึงเครดิต และช่องทางติดต่อรัฐบาลได้ง่ายยิ่งขึ้น”
“การตั้งเขตพัฒนาทำให้จีนสามารถติดตามบริษัท ที่เข้าไปลงทุนได้หากเกิดปัญหา ขณะเดียวกัน รัฐบาลของแอฟริกาก็จะได้ประโยชน์จากการที่มีสื่อกลางในการติดต่อที่เป็นรูปธรรม”
ที่ผ่านมา บริษัทจีนจำนวนมากแห่เข้าไปลงทุนในกาฬทวีป จนก่อให้เกิดปัญหามากมาย อาทิ ปัญหาความปลอดภัย และการประท้วงของแรงงาน ซึ่งบริษัทขนาดเล็กที่จัดส่งสินค้าให้วิสาหกิจรายใหญ่ ก็เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญ เมื่อปี 2005 บริษัทจีนที่จัดส่งระเบิด ให้เหมืองแร่ของบริษัทจีนแซมเบีย กลายเป็นข่าวฉาวเมื่อระเบิดของบริษัทดังกล่าวทำให้แรงงานเสียชีวิตถึง 46 ราย
การรักษาภาพลักษณ์ของจีนกลายเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการเข้าถึงทรัพยากรอันมั่งคั่งของแอฟริกาใต้ ฉะนั้นการจัดตั้งเขตพัฒนาและสร้างระเบียบใหม่ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และกระแสต่อต้านจีนในท้องถิ่น
ปักกิ่งจึงตัดสินใจสร้างเขตพัฒนาแห่งแรก ในบริเวณที่อุดมไปด้วยแร่ทองแดงของแซมเบีย ซึ่งเป็นบริเวณที่ดึงดูดบริษัทจีน ทั้งวิสาหกิจขนาดใหญ่ และบริษัทขนาดเล็ก-กลางจำนวนมาก จนก่อให้เกิดปัญหา เช่นกรณีระเบิดข้างต้น
ส่วนเขตพัฒนาแห่งที่ 2 จะจัดตั้งขึ้นในประเทศไนจีเรีย ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมัน ล่าสุดเมื่อปี 2006 ยักษ์น้ำมันจีนซีนุกได้ทุ่มเงินกว่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ในแหล่งน้ำมันอัคโป ของไนจีเรีย
สำหรับสถิติการลงทุนของจีนในกาฬทวีป ณ สิ้นปี 2007 มีมูลค่าสูงถึง 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการลงทุนของจีนเริ่มมีการกระจายตัว จากเดิมที่เน้นการลงทุนในสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ไปสู่ธุรกิจภาคอื่นๆ อาทิ การเงิน ล่าสุดธนาคารอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (ไอซีบีซี) ได้ซื้อหุ้น 20% ของธนาคารสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ในด้านของทรัพย์สิน โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวของไอซีบีซี จะช่วยส่งเสริมการลงทุนของบริษัทจีนในทวีปแอฟริกา เนื่องจาก ธนาคารธนาคารสแตนดาร์ดมีสาขามากมายในทวีปแอฟริกา.