xs
xsm
sm
md
lg

จีนลอยแพผู้นำซูดาน-ซิมบับเว เลิกหนุนละเมิดสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารจีนที่เข้าไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในซูดาน การส่งบุคลากรเข้าไปปฏิบัติภารกิจนี้ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับท่าทีของทางปักกิ่ง ที่ดูเหมือนกำลังตีตัวออกห่างจากรัฐบาลเจ้าปัญหา - เอเยนซี
เอเยนซี- สื่อออสเตรเลียนเผย จีนห้ามมูกาเบ ประธานาธิบดีซิมบับเว ผู้ฉาวโฉ่ ร่วมพิธีเปิดโอลิมปิก เผยมูกาเบเดินทางถึงฮ่องกง เตรียมเข้าแผนดินใหญ่ร่วมพิธีแล้ว แต่เจอทางการจีนหว่านล้อมให้กลับบ้าน

แม้รายงานข่าวของซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮอรัลด์ข้างต้น จะยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการจีน อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายเชื่อว่า เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากขณะนี้ จีนเริ่มมีท่าที ตีตัวออกห่างจากบรรดาเพื่อนเก่า ผู้ฉาวโฉ่ โดยเฉพาะรัฐบาลชาติแอฟริกันที่มีชื่อเสียงในทางลบ

ทั้งนี้ประธานาธิบดี โรเบิร์ต มูกาเบ ผู้เป็นข่าวฉาวโฉ่ เรื่องการทุจริตเลือกตั้ง และละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใช้กำลังปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เริ่มถูกปักกิ่งกดดันให้เจรจากับฝ่ายตรงข้าม เพื่อยุติปัญหาความแตกแยกในชาติ ซึ่งเป็นข่าวที่ถูกจับตามองจากทั่วโลก

นอกจากซิมบับเวแล้ว ชาติแอฟริกันที่เป็นปัญหา พลอยทำภาพลักษณ์จีนย่อยยับไปอีกแห่งหนึ่งคือ ซูดาน โดยรัฐบาลซูดานถูกโจมตีอย่างหนักในประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดารฟูร์

จีนซึ่งเป็นมิตรประเทศใกล้ชิดของซูดาน จึงพลอยถูกร่างแห วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากนานาชาติไปด้วย ล่าสุดจีนเพิ่งถูกนักแสดงสาวชาวอเมริกัน มีอา แฟร์โร วิจารณ์งานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งว่า เป็น “โอลิมปิกเลือด” เนื่องจากทางการจีนเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซูดาน เป็นผลให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตในดาร์ฟูร์กว่า 200,000 ราย และประชากรราว 2.5 ล้านคนต้องผลัดพรากจากบ้านของตน ตั้งแต่การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกลาง และกบฎปะทุขึ้นในปี 2003

อย่างไรก็ตาม หากติดตามข่าวท่าทีของจีนต่อซูดานในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าจีนเปลี่ยนไป ปักกิ่งได้กดดันให้ประธานาธิบดีโอมาร์ ฮัสซัน อัล-บาชีร์ ยอมรับกองกำลังรักษาสันติภาพจากสหภาพแอฟริกา และสหประชาชาติ นอกจากนี้ปักกิ่งยังได้ส่งวิศวกรทหาร 315 นายไปยังดาร์ฟูร์ ทำให้จีนเป็นชาติที่มิใช่แอฟริกัน ชาติแรกที่ส่งทหารไปยังดาร์ฟูร์

บทบาทของจีนต่อชาติแอฟริกันในการเมืองยุคสมัยใหม่ เริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1950-1960 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนมีบทบาทสนับสนุนการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก รวมทั้งในแอฟริกา ทว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา จีนหันไปเน้นทุ่มเทพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความต้องการทรัพยากรจำนวนมาก ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกาฬทวีปจึงเปลี่ยนไป ในช่วงที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับแหล่งทรัพยากรในแอฟริกาอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมัน

อเมริกันยืนยันจีนเปลี่ยนไป

โธมัส คริสเตนเซ่น รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้กล่าววิจารณ์นโยบายของจีนต่อแอฟริกา กับคณะอนุกรรมการสภาครองเกส เมื่อเดือนมิถุนายนว่า “หลังจากพยายามปกป้องรัฐบาลซูดาน จากการวิจารณ์ของนานาชาติมาหลายปี ทว่าตั้งแต่ปี 2006 จีนเริ่มแสดงเจตนารมณ์ ที่จะร่วมมือกับนานาชาติในประเด็นดาร์ฟูร์ นอกจากนี้ปักกิ่งยังได้ส่งแรงกดดันไปยังคาร์ทูมให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และเข้าร่วมในขบวนการเจรจาแก้ไขปัญหาดาร์ฟูร์”

นอกจากซิมบับเว และซูดานแล้ว จีนยังมีบทบาทลงทุนอย่างแข็งขันในชาติแอฟริกันอื่นๆ อาทิ คองโก, กาบอง, อิเควทอเรียลกินี และไนจีเรีย กับ แองโกลา ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของกาฬทวีป

อย่างไรก็ตามการดำเนินการของจีนในกาฬทวีป มิได้ราบรื่นอย่างที่หลายฝ่ายคิด ในซูดานขบวนการเรียกร้องความเสมอภาคและความยุติธรรม ซึ่งต่อต้านรัฐบาลซูดาน ได้เข้าโจมตีแท่นขุดเจาะน้ำมันของวิสาหกิจจีนเพื่อกดดันให้วิสาหกิจจีนถอนตัวออกไป ส่วนในแซมเบีย กระแสต่อต้านจีนก็คุกรุ่นอย่างรุนแรง กระทั่งถูกนำไปใช้เป็นระเด็นหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2005 ทั้งนี้กระแสต่อต้านจีนดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากเหมืองทองแดงแห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจจีนเกิดระเบิดทำให้คนงานแซมเบียนเสียชีวิต 49 ราย

แม้จีนจะเผชิญกระแสต่อต้านอยู่พอสมควร ทว่าการลงทุนของจีนก็มีคุณูปการสำคัญต่อแอฟริกา กระทั่งทำให้สถิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแอฟริกาปีที่แล้วอยู่ที่ 5.8% นอกจากนี้เมื่อเดือนกรกฏาคม ทางธนาคารโลกยังได้เผยข้อมูลว่า จีนมีบทบาทสำคัญในการให้ทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นหลายโครงการอาทิ ทางรถไฟ, ท่าเรือ, เขื่อน และถนน ในประเทศแอฟริกาที่ยากจน

เผยความจริงส่วนแบ่งน้ำมันกาฬทวีป

ทั้งนี้สื่อมักโยงบทบาทการลงทุน และความช่วยเหลือของจีนว่า เป็นไปเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำมัน จนดูเหมือนว่าจีนกุมอุปทานน้ำมันในแอฟริกาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การส่งออกน้ำมันของแอฟริกาจำนวนมาก เป็นการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และยุโรป

ความจริงดังกล่าวได้รับการยืนยันโดยคริสเตนเซ่น ซึ่งกล่าวว่า “ที่จริงแล้ววิสาหกิจน้ำมันจีนไม่ได้มีบทบาทในแอฟริกามากมาย อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ นอกจากซูดานที่วิสาหกิจน้ำมันจีนคือ เอ็นพีซี เป็นผู้ดำเนินการรายใหญ่แล้ว วิสาหกิจน้ำมันจีนค่อนข้างมีบทบาทในภูมิภาคน้อยมาก”

ที่ผ่านมาสื่อได้รายงานข่าวการอพยพ ทะลักหลั่งไหลของชาวจีนจำนวนมาก ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานขุดทองในแอฟริกา อย่างไรก็ตามการอพยพของชาวจีน ไปยังกาฬทวีป ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด หากย้อนดูประวัติศาสตร์จะพบว่า ในช่วงที่แอฟริกาใต้ยังคงปกครองโดยใช้ระบบแบ่งแยกสีผิว ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ก็ถูกจัดว่าเป็น “พวกผิวสี” และถูกปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา, ธุรกิจ และการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้อพยพชาวไต้หวันกลับได้รับยกย่องเป็น “คนขาวกิตติมศักดิ์”

เมื่อระบบแบ่งแยกสีผิวล่มสลาย ชาวจีนก็มิได้รับเงินชดเชย อย่างที่ชาวแอฟริกันผิวสีได้รับ ดังนั้นเมื่อไม่นานนี้ แพทริค ฉง ชาวแอฟริกาใต้เชื้อสายจีน จึงยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาล กระทั่งได้รับการตัดสินให้เป็น “ชาวแอฟริกันผิวสีกิตติมศักดิ์”

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า ความสัมพันธ์จีน-แอฟริกา เป็นเรื่องที่ยาวนาน และซับซ้อน ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-แอฟริกา ในปัจจุบันจึงต้องพิจารณาผ่านบริบทโดยรวม มิใช่เหมารวม ขึ้นป้ายเอาง่ายๆว่า จีนดีหรือเลวอย่างไร ในส่วนของจีนการดำเนินนโยบายต่อแอฟริกา ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณาสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจก็มิใช่เรื่องง่ายๆที่ จะแยกขาดจากการเมืองได้
กำลังโหลดความคิดเห็น