xs
xsm
sm
md
lg

ลอดลายมังกรฉบับกาฬทวีป แรงงานจีนบุกขุดทองแอฟริกา

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

เด็กน้อยชาวไลบีเรียนโบกธงต้อนรับการเยือนของประธานาธิบดี หู จิ่นเทา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2007 - เอเยนซี
รอยเตอร์ – เผยแรงงานจีนหอบเสื่อผืนหมอนใบ ข้ามทะเลบุกขุดทองกาฬทวีป ชาวแอฟริกันโอดถูกแย่งงาน ตัดราคาค่าแรงจากแรงงานจีน ผู้เชี่ยวชาญระบุ การหลั่งไหลของแรงงานจีนให้ผลสองด้าน ทั้งความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม และความขัดแย้ง

ขณะที่รัฐบาลจีนทุ่มเงินนับล้านล้านลงทุน พัฒนากาฬทวีปเพื่อชนะใจชาวแอฟริกัน ชาวจีนจำนวนมากก็หลั่งไหลเข้าไปขุดทองยังกาฬทวีป ความสามารถของแรงงานจีน ที่เข้ามาทำงานทุกอย่าง อย่างแข็งขันตั้งแต่สร้างถนน, เปิดร้านค้า และบริหารโรงงานทำให้ชาวแอฟริกันทั้งทึ่งทั้งกังวล ทึ่งกับความขยัน แต่ก็กังวลกับการถูกแย่งงานที่มีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้สินค้าราคาถูกจากจีนที่ทะลักเข้ามายังกาฬทวีปยังส่งผลให้บรรดาพ่อค้า-ผู้ผลิตท้องถิ่นต้องเผชิญกับความตึงเครียด

กระแสความกังวลในภาคประชาชนนี้ ทำให้การดำเนินนโยบายบุกกาฬทวีปของจีนเผชิญกับอุปสรรคใหญ่หลวง เนื่องด้วยปัญหาดังกล่าวถูกตะวันตกนำไปขยายโจมตีจีนว่า “การลงทุนในแอฟริกาของจีนนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกดขี่แรงงาน”

ในการประชุมที่ มัวริทาเนีย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม บรรดาผู้ว่าการธนาคารกลาง และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังแอฟริกัน ซึ่งกระหายดึงดูดทุนต่างชาติได้ตกลงร่วมกันว่า การเจรจากับจีนและนักลงทุนจากประเทศอื่นจะต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น นอกจากนี้บรรดาขุนคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางยังเห็นร่วมกันว่า การพัฒนาควรมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงานและอุตสาหกรรม มากกว่าการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาดูดทรัพยากรธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคำมั่นสัญญาไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์เท่าไรนัก ผู้นำแอฟริกันยังคงอ้าแขน เปิดรับทุนจีนที่บุกเข้ามาขุดน้ำมันกับทรัพยากรอื่นๆ อย่างไม่บันยะบันยัง

ชาเมล ลารี ช่างก่อสร้างชาวอัลจีเรียน รู้สึกทึ่งกับบทบาทของทุนจีนที่สามารถบุกฝ่ากำแพงระบบราชการของอัลจีเรีย กระทั่งทำให้เศรษฐกิจชาติแอฟริกาอย่างอัลจีเรีย เข้าไปผูกพันกับจีนอย่างเข้มข้น ทว่าลารีเองก็กังวลกับการทะลักหลั่งไหลของทุนจีน เนื่องจากนักลงทุนจีนมักขนแรงงานจำนวนมากจากแผ่นดินมังกรเข้ามาทำงาน การขนแรงงานจีนเข้ามาแย่งงานชาวพื้นเมือง ทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างมาก เนื่องจากในอัลจีเรียประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปี 7 ใน 10 คนไม่มีงานทำ ดังนั้นการหลั่งไหลของแรงงานจีน จึงสร้างบรรยากาศที่ไม่น่าอภิรมย์นัก

“ชาวอัลจีเรียนไม่พอใจกับพฤติกรรมของทุนจีน บริษัทจีนมักขนคนจีนเข้ามาทำงาน การกระทำนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาให้กับภาวะว่างงานของเราเลย” ลารีกล่าว

เจ้าหน้าที่อัลจีเรียนระบุว่า เมื่อปี 2007 อัลจีเรียมีแรงงานจีนรวม 19,000 ราย ส่วนมากเป็นช่างก่อสร้างและผู้ชำนาญการ ซึ่งเข้ามาทำงานส่วนหนึ่ง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามชาวอัลจีเรียนบางรายเชื่อว่า ตัวเลขแรงงานจีนน่าจะมีจำนวนมากกว่าที่รัฐเปิดเผยหลายเท่า

ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง

เมื่อปี 2007 การค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับอัลจีเรียพุ่งทะยานเป็น 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสถิติปี 2002 ที่ต่ำกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ตัวเลขการค้าที่พุ่งทะยานดังกล่าว มาจากการส่งออกสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้น การหลั่งไหลของสินค้าและแรงงานจีนนี้เกิดขึ้นแทบทุกประเทศในทวีปแอฟริกา ที่โมรอคโค เพื่อนบ้านของอัลจีเรียสินค้า และแรงงานจีนราคาถูก บุกทะลวงทำเอาท้องถิ่นย่ำแย่

อัซเซดดิน ลาห์ลู เจ้าของร้านบูติกในเขต เดิร์บ โอมาร์ เมืองคาซาบลังกา กล่าวว่า “ตอนนี้แรงงานที่นี่กำลังประสบปัญหาหนัก พวกเขาไม่มีแม้แต่เงินที่จะจ่ายค่าเทอมลูกๆ แรงงานจีนราคาถูก เรียกค่าแรงเพียง 41 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน แต่พวกเราต้องการเงินอย่างน้อย 260 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน สำหรับชาวโมร็อคโคแล้ว ถ้าได้ค่าแรงแค่ 41 เหรียญสหรัฐฯ คุณอยู่ไม่ได้หรอก”

จากการศึกษาของสองนักวิชาการฮ่องกงคือ แบร์รี่ โซทแมน กับ เหยียน ไห่หรง พบว่าตั้งแต่ปี 2000 จำนวนแรงงานจีนที่หลั่งไหลมาสู่ทวีปแอฟริกาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้จำนวนแรงงานทักษะชาวจีนในแอฟริกาเพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน แรงงานทักษะตั้งแต่แพทย์, ชาวประมง, ช่างเสริมสวย เพิ่มจำนวนมากขึ้น ที่กาบองช่างตัดผมชาวจีนเป็นที่นิยมของลูกค้ามาก
พ่อค้าเซเนกัลแบกสินค้าจีนไปตามท้องถนน ทั้งนี้สินค้าราคาถูกจากจีนได้ก่อให้เกิดทั้งความพอใจและบาดหมาง- รอยเตอร์
ปัญหาจากการลงทุน

ในส่วนการลงทุนนั้นวิสาหกิจจีนมากกว่า 800 แห่งต่างเข้ามาลงทุนในแอฟริกาอย่างแข็งขัน หู จือหรง รองประธานกองทุนพัฒนา จีน-แอฟริกา ซึ่งเป็นกองทุนเอกชนระบุว่า “การลงทุนโดยตรงจากจีนในปี 2007 พุ่งทะยานเป็น 13,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2000”

การทะลักหลั่งไหลของทุนจีนได้ฉุดดึงให้เศรษฐกิจแอฟริกาเติบโตอย่างรวดเร็วนับแต่ทศวรรษ 1960 อย่างไรก็ตามในส่วนกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารานั้น เศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องเท่าไหร่ จากข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า อัตราการว่างงานในเขตนี้ เมื่อปี 2006 ยังอยู่ที่ 10%

องค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า แรงงานราว 55% ในเขตตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราได้รับค่าจ้างไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน และประมาณ 86% ประทังชีวิตด้วยเงินราว 2 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน ภาวะความยากจนดังกล่าวทำให้ชาวแอริฟกันค่อนข้างอ่อนไหวกับเรื่องการจ้างงาน และการลงทุนของต่างชาติ

เมื่อเดือนเมษายนทางการจีนได้ถอนแรงงานมมากว่า 400 รายออกจากสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี ประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก หลังจากแรงงานจีน 2 รายเสียชีวิตในเหตุการณ์ประท้วงของแรงงานท้องถิ่น แม้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน ทว่าหลายฝ่ายเชื่อว่า การเสียชีวิตของแรงงานจีนนี้ เป็นกรณีแรกที่แรงงานจีนถูกฆาตกรรมในการประท้วงของแรงงานชาวพื้นเมือง

ทั้งนี้ชาวจีนเริ่มกลายเป็นเป้าหมายของอาชญากรและกลุ่มกบฎ เมื่อปีที่แล้วกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโอกาเดนได้ฆ่าชาวจีนรวม 9 คน ระหว่างการบุกบ่อน้ำมันเอธิโอเปีย นอกจากนี้ชาวจีนยังเป็นข่าวถูกจับกุมเป็นตัวประกันในไนจีเรีย และไนเจอร์ด้วย

เมื่อเดือนมีนาคม แรงงานชาวแซมเบียนของวิสาหกิจถลุงแร่ ชามบิซิ ของจีน ได้ลุกฮือก่อจลาจล เนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าตอบแทน การจลาจลครั้งนั้นทำให้ทรัพย์สินของวิสาหกิจเสียหาย และผู้จัดการชาวจีนยังได้รับบาดเจ็บด้วย

มังกรเจอปัญหาภาพลักษณ์แง่ลบ

ในแอฟริกาใต้ การสูญเสียตำแหน่งงานของแรงงานภาคสิ่งทอช่วง 2-3 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการนำเข้าสิ่งทอราคาถูกจากจีน คริส อัลเดน จากลอนดอน สคูล ออฟ อิโคโนมิคส์ ระบุว่า “กระแสต่อต้านดังกล่าวได้สั่นคลอนสัมพันธภาพระหว่างสหภาพแรงงาน, นักธุรกิจ และรัฐบาล นอกจากนี้แรงงานแอฟริกันยังมีปัญหากับนายจ้างจีนด้วย เนื่องจากอุปสรรคด้านภาษา และการกดค่าแรง เอาเปรียบชั่วโมงการทำงาน”

ด้าน กู๊ดเวล คาลูบา เลขาธิการสหภาพเหมืองแร่แซมเบียก็ย้ำปัญหาว่า “ภาษา และวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นายจ้างชาวจีนกับลูกจ้างแซมเบียนไม่เข้าใจกัน” ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวบรรดานายจ้างจีนจึงมักจ้างแรงงานท้องถิ่นให้น้อยที่สุด

ที่ซูดาน แรงงานจีนจำนวนมากได้ทะลักหลั่งไหลเข้ามาทำงานในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานตั้งแต่ ถนน, เขื่อน จนถึงโทรคมนาคม แรงงานจีนเหล่านี้มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชาวซูดาน พวกเขาอาศัยและพักผ่อนตามร้านค้าและที่ผุดขึ้นเพื่อรองรับแรงงานจีน ดังนั้นการปะทะระหว่างชาวแอฟริกันกับชาวจีน จึงมักเกิดขึ้นตามร้านค้าของชาวจีนที่ผุดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะร้านค้าตามเขตชนบทที่ขายสินค้าสำหรับครัวเรือน

อัลเดนกล่าวว่า “สำหรับชาวแอฟริกันเจ้าของกิจการรายย่อยชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของร้านค้ามีผลกระทบต่อวิถิชีวิตของพวกเขามาก สินค้าราคาถูกจากจีนก่อให้เกิดทั้งความพอใจและความบาดหมาง”

เกรเกอร์ ดอบเลอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบาเซลระบุว่า “ที่นามิเบีย ภาพเจ้าของร้านค้าชาวจีนที่หลายฝ่ายมักมองว่า เป็นพ่อค้าที่กระตือรือร้น นำสินค้าราคาถูกมาขายให้กับคนยาก กลับถูกมองว่า จีนเป็นนักธุรกิจโลภมาก ที่เอากำไรจากการขายสินค้าขยะ”

นอกจากปัญหาความขัดแย้งในเรื่องแรงงานถูกกฎหมาย ที่หลั่งไหลเข้ามาแย่งงาน และสัมพันธภาพที่ไม่ค่อยราบรื่นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แอฟริกายังต้องเผชิญกับการทะลักของแรงงานเถื่อนชาวจีน ที่มักอาศัยวีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาขุดทอง ลักลอบทำงานเมื่อสบโอกาส โซทแมนกล่าวว่า “แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่แรงงานเถื่อนชาวจีนลักลอบเข้ามามากที่สุด”

แม้ปัญหามากมายจะเป็นที่ประจักษ์ ทว่าโซทแมนยังคงมองโลกในแง่ดีว่า สัมพันธภาพระหว่างแรงงานจีน-แอฟริกาจะดีขึ้น เขาระบุว่าชาวแอฟริกันจำนวนมากขึ้นได้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในธุรกิจของจีน นอกจากนี้การแต่งงานระหว่างชาวแอฟริกันกับจีนก็มีจำนวนมากจึ้น “มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่านายจ้างชาวจีนและลูกจ้างแอฟริกันมีสัมพันธภาพที่ดีขึ้น แม้ภาษาจะยังคงเป็นอุปสรรคอยู่” โซทแมนกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น