ขณะนี้ ยุโรปได้แต่มองตาปริบๆระคนอิจฉา ต่อความเคลื่อนไหวของจีน ที่กำลังบุกถลุงแหล่งทรัพยากรแร่อันอุดมสมบูรณ์ในแอริกาใต้ ที่ยุโรปเคยครอบงำอยู่ ล่าสุด จีนก็ได้ฟันข้อตกลงอภิมหาโครงการกับอดีตชาติอาณานิคมของเบลเยียมได้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งคองโก
ขณะเดียวกัน อนาคตทางการเมืองของประธานาธิบดีโจเซฟ คาลิบาแห่งคองโก ก็แขวนอยู่กับข้อตกลงชิโน-คองโกไปเสียแล้วด้วย หรืออย่างน้อยๆอนาคตเศรษฐกิจของคองโก ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงดังกล่าว
คองโกจัดเป็นขุมทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของกาฬทวีป แต่ด้วยการจัดการที่เละเทะมาถึง 40 ปี ทำให้เศรษฐกิจประเทศย่อยยับอับปาง กลายเป็นหนึ่งในชาติที่ยากไร้ที่สุดในโลก แม้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่สุด ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลมา 40 ปี หักพังสนิมเกรอะอยู่ท่ามกลางศึกวุ่นวาย คอรัปชั่น
กระทั่งจีนได้ก้าวเข้ามา ดูราวกับพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย...
นายอู๋ เจ๋อเซี่ยนเอกอัครราชทูตจีนประจำคองโก ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์เมื่อวันอังคาร(12 ก.พ.) ว่าในวันที่ 28 มกราคม จีนและคองโกได้จรดหมึกข้อตกลงการอัดฉีดเงินทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการบุกเบิกเหมืองแร่ทองแดงและโคบอลต์
นายอู๋ เจ๋อเซี่ยนบอกอีกว่า เขากำลังชักชวนกระตุ้นกลุ่มธนาคารและบริษัทแห่งอื่นๆในจีน เข้ามาร่วมในกรอบงานนี้ โดยยังมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการบุกเบิกเหมืองแร่ที่น่าสนใจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ Grand Inga บริษัทเหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุดของคองโกMIBA ท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น
จากข้อตกลง ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกจีน หรือเอ็กซิมแบงค์ จะเป็นผู้อัดฉีดทุนในการสร้างถนนสายใหญ่ รางรถไฟ และบุกเบิกเหมืองแร่
ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จีนก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆในคองโก คาดว่ากลุ่มบริษัทจีนจะได้เข้าไปลุยก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไม่มากก็น้อยภายในปีนี้ (2008) ซึ่งโครงการที่ประธานาธิบดีคาลิบาได้วางอันดับความสำคัญไว้ 5 โครงการได้แก่ ระบบแหล่งน้ำ ไฟฟ้า การศึกษา สุขอนามัย และคมนาคม
โครงการเหล่านี้ มีมูลค่าการลงทุนถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่งบประมาณปี 2007 ของรัฐบาลคองโก มีอยู่เพียง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งงบฯก้อนนี้ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล แล้วคองโกจะจ่ายหนี้คืนจีนอย่างไร?
ดังนั้น วิสาหกิจเหมืองแร่คองโกGecamines จึงต้องจับมือกับสองวิสาหกิจจีนได้แก่ ไชน่า เรลเวย์ เอนจิเนียริ่ง คอมพานี และชิโนไฮโดร จัดตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับบุกเบิกเหมืองแร่ คือSocomin บริษัทร่วมทุนซึ่งฝ่ายจีนถือหุ้นรวมกับร้อยละ 68 แห่งนี้ จะได้ทุน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ บุกเบิกเหมืองแร่ในพื้นที่ ข้อตกลงยังได้ระบุว่าระหว่าง 15 ปี Socomin จะขุดแร่ทองแดงได้ประมาณ 10 ล้านตัน โคลบอลต์ 2 ล้านตัน และนำดอกผลที่ได้นี้ มาหักลบหนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเหมืองแร่
จีนรุกดุเดือดในการทวงหนี้ โดยผลกำไรก้อนแรกนั้น จะต้องนำมาใช้หนี้การลงทุนเหมืองแร่ ซึ่งก็ดูเป็นการปฏิบัติทั่วไปของบริษัทร่วมทุนเอกชน นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า “รัฐบาลคองโกจะต้องประกันความปลอดภัยแก่โครงการลงทุน และจ่ายคืนหนี้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” และหากเกิดข้อพิพาทใดๆ จะต้องนำสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้าโลกในกรุงปารีส มิใช่ศาลคองโก ซึ่งมีชื่อเหม็นหึ่งเรื่องคอรัปชั่น
นอกไปจากนี้ ข้อตกลงยังระบุอีกว่าในคนงาน 5 คน จะต้องเป็นคนจีนเพียงคนเดียวเท่านั้น และในแต่ละโครงการ จะต้องใช้กึ่งหนึ่งของการลงทุนร้อยละ 1 ไปกับการถ่ายโอนเทคโนโลยี และการฝึกฝนสต๊าฟคองโก และร้อยละ 1 ต้องนำไปใช้ในกิจกรรมทางสังคมในเขต และร้อยละ 3 เป็นค่ารักษาสิ่งแวดล้อม ร้อยละ10-12 ของงาน จะต้องซับคอนเทคต์ให้บริษัทคองโก รัฐบาลคองโกจะสามารถควบคุมให้เป็นไปตามสัญญาหรือไม่?
ทูตยุโรปที่รู้ข้อมูลเหล่านี้ดี บอกว่า “หากโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น ก็จะเป็นผลดีแก่คองโก” ข้อตกลงดังกล่าว ดั่งเส้นเลือดใหญ่ของประธานาธิบดีคาลิบา ซึ่งขึ้นตำแหน่งประมุขได้ปีกว่า และยังไม่มีผลงานอะไรโชว์แก่ประชาชน ที่กำลังเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เขา
ภายใต้ข้อตกลงได้ป้องกันความผิดพลาดไว้ดี โดยเงินทุนจะไม่ไหลผ่านหน่วยงานทางการที่ขึ้นชื่อเรื่องคอรัปชั่นของคองโก เงินกู้จากเอ็กซิมแบงค์จีนจะส่งตรงสู่รัฐวิสาหกิจจีนได้แก่ ไชน่า เรลเวย์ เอนจิเนียริ่ง คอมพานี และชิโนไฮโดร
และคาลิบาก็กล่าวชัดถ้อยชัดคำในการปราศรัยเมื่อเร็วๆนี้ว่า “กลุ่มธนาคารจีนเตรียมให้เงินสร้างโครงการทั้งห้า (น้ำ, ไฟฟ้า, การศึกษา, สาธารณสุข, และคมนาคม) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเรา และชาวคองโกก็รู้สึกว่า ทองแดง โคบอลต์ และนิกเกล มีค่าเพียงพอ”
ยุโรป ดูข้องใจกับการได้เข้าไปถลุงทองแดงและโคบอต์ของคองโก “ตอนนี้เราต้องตระหนักถึงแหล่งวัตถุดิบที่จะป้อนให้ยุโรป แต่พวกชุมชนความช่วยเหลือการพัฒนายุโรป อยากเห็นเราทำตัวอย่างจีนหรือ?” นักการทูตผู้หนึ่งกล่าว
นั่นเป็นคำถามหนึ่ง และยังมีคำถามอื่นๆ อย่างเช่นแล้วจะมีชาติไหนล่ะ ที่สามารถดำเนินโครงการยักษ์ได้ในราคาถูกและรวดเร็วเหมือนอย่างจีน? และยังมียุโรปชาติไหนที่ยังมีวิสาหกิจของตัวเอง เข้าไปจัดตั้งธุรกิจร่วมทุนเหล่านั้น?
หน่วยงานรัฐในคองโกนั้น ขึ้นชื่อในเรื่องความอ่อนแอและคอรัปชั่น กลุ่มนักวิจัยพบว่าคอนเทนเนอร์ที่เข้าสู่เมืองบูกาวูทางตะวันออกของประเทศนั้น ถูก “โจมตี” โดยหน่วยงานของรัฐต่างๆถึง 20 หน่วยงาน ด้วยการตื้อหน่วงเหนี่ยวขอดูเอกสาร หรือไม่ก็ขอค่าน้ำร้อนน้ำชา
ความไร้ประสิทธิภาพ และปัญหาธรรมาภิบาลอันสาหัสสากรรจ์ของรัฐคองโก เป็นเหตุผลที่เหล่าชาติตะวันตก ลังเลในการอัดฉีดทุนรอนแก่คองโก “เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหันเข้าหาจีน” แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีบอก
ทั้งนี้ ในสองปีที่ผ่านมา จีนรุกอัดฉีดความช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งเงินกู้ เงินลงทุน การบรรเทาทุกข์ ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่เหล่าชาติผิวหมึกจาก ซูดาน, อังโกลา ถึงแอฟริกาใต้ ด้วยหวังจะได้หลักประกันด้านแหล่งน้ำมันและทรัพยากรแร่แก่จีนซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว.
เรียบเรียงจากอินเตอร์ เพรส เซอร์วิส/รอยเตอร์
มังกรหิว เขมือบทรัพยากรแอฟริกา
สองปีที่ผ่านมา พญามังกรบูรพารุดไปยังทวีปแอฟริกา ชนิดหัวกระไดทำเนียบผู้นำผิวหมึกไม่แห้ง เพื่อแสวงหาหลักประกันทรัพยากรธรรมชาติ มาหล่อเลี้ยงแผ่นดินใหญ่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งได้สร้างอิทธิพลเหนือโลกกำลังพัฒนา
ลำดับการบรรลุข้อตกลงฉบับใหญ่ระหว่างจีนและกลุ่มชาติกาฬทวีป:
มกราคม 2006: ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของจีน ซีนุก (CNOOC) บรรลุข้อตกลงซื้อหุ้นบ่อน้ำมันและแก็สธรรมชาติของไนจีเจีย มูลค่า 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการซื้อกรรมสิทธิ์หุ้นครั้งใหญ่ที่สุดในต่างแดนของจีน
เมษายน 2006: ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เดินสายเยือนชาติแอฟริกา และได้สรุปข้อตกลงการสำรวจแหล่งทรัพยากรพลังงานนอกฝั่งกับเคนยา ข้อตกลงระบุให้ ซีกนุกทำการสำรวจแหล่งทรัพยากรพลังงานรวมหกบล็อกครอบคลุมพื้นที่ 115,343 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ตอนเหนือและตอนใต้ของเคนยา สองวันก่อนที่จีนคว้าใบอนุญาตการขุดเจาะน้ำมัน มูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไนจีเรีย ในสัญญาดังกล่าว ยังครอบคลุมความช่วยเหลือโครงการร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ข้าว และยาต่อต้านมาลาเรีย
พฤศจิกายน 2006: ประชุมสุดยอดระหว่างกลุ่มชาติแอฟริกัน และจีนในกรุงปักกิ่ง จีนและกลุ่มชาติแอฟริกัน ได้ลงนามข้อตกลง 16 ฉบับ มูลค่า 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ สัญญาระหว่างบริษัทจีน 12 ราย กับบริษัทและรัฐบาลแอฟริกัน 11 ราย ในคราวเดียวกัน หู จิ่นเทาก็ได้สัญญาเสนอสินเชื่อและเงินกู้ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มความช่วยเหลือต่างๆเป็นเท่าตัวภายในปี 2009
กุมภาพันธ์ 2007: หู จิ่นเทาเดินสายเยือนชาติแอฟริกัน ลงนามข้อตกลงหลายล้านเหรียญสหรัฐ กับคาเมรูน ไลบีเรีย ซูดาน แซมเบีย นามิเบีย แอฟริกาใต้ โมแซมบิก และเซเชลส์ อีกทั้งได้ยกหนี้ให้แก่หลายประเทศ
กันยายน 2007: เซินเจิ้น เอนเนอร์ยี อินเวสเมนต์ ประกาศจับมือกับกองทุนเพื่อการพัฒนาแอฟริกันของจีน จัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาด 200 เมกาวัตต์ในประเทศกานา มูลค่า 1,030 ล้านหยวน (137.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ จีนได้ตั้งกองทุนแอฟริกันในเดือนมิถุนายน ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
กันยายน2007: จีนเสนอแพคเกจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเงินกู้ให้แก่คองโก ได้แก่โครงการ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสร้างรางรถไฟและไฮเวย์เชื่อมเขตที่อุดมด้วยเหมืองแร่ของคองโกกับเพื่อนบ้านทางใต้ และเส้นทางเดินเรือแอตแลนติก และอีก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศ
ตุลาคม 2007: ผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่สุดของจีนคือ ธนาคารเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม หรือไอซีบีซี ตกลงจ่าย 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกรรมสิทธิ์หุ้น 20% ของสแตนดาร์ด แบงค์แห่งแอฟริกาใต้ นับเป็นการซื้อหุ้นครั้งใหญ่สุดของธนาคารพาณิชย์จีน.