xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวย่างแห่งวิสาหกิจมังกรในอนาคต หลังบริษัทจีนยึดแชมป์มูลค่าตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นที่สนใจกันไปทั่วโลกทันที เมื่อปีที่ผ่านมาวิสาหกิจรัฐแดนมังกรอย่างปิโตร ไชน่า โค ประกาศกลับคืนสู่มาตุภูมิด้วยการทำไอพีโอสูงสุดในประเทศจีน ภายใต้ตัวเลข 66,800 ล้านหยวน โดยเฉพาะเมื่อเข้าเทรดในวันแรกก็มีมูลค่าพุ่งขึ้นเฉียด 200% จนทำให้มีมูลค่าตลาดรวม (Market Cap.) อยู่ที่มากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงหน้าแชมป์เก่าเอ็กซ์ซอน โมบิล บริษัทด้านพลังงานจากอเมริกา เกือบ 2 เท่า กระโดดขึ้นแท่นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก โดยตัวเลขดังกล่าวยังเป็นมูลค่าที่มากกว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของบราซิล รัสเซีย หรือออสเตรเลียเมื่อปีที่ 2006 เสียอีก

แม้ก้าวย่างดังกล่าวของจีน ได้กลายเป็นจุดสนใจของสื่อต่างๆทั่วโลกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีความหมายต่อวงการเศรษฐกิจและวงการทรัพยากรในอนาคตอย่างไร จีนจะใช้เงินทุนมหาศาลเหล่านี้ในการช่วยไล่ล่า เพื่อรุกดูดซับทรัพยากรพลังงานจากแหล่งพลังงานในต่างแดนรุนแรงขึ้นหรือไม่?

ทว่า สำหรับชาวจีนเอง ย่างก้าวนี้อาจจะเป็นเป็นความภูมิใจในระดับหนึ่ง ที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบติดปีกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์จีนพลิกโฉมหน้าจากตลาดเล็กๆที่ซบเซา กลายมาเป็นกลไกที่สร้างตำนานการระดมทุนจนติดอันดับโลก จนกระทั่งมีบริษัทจีนถึง 5 แห่งที่ติดอันดับ 10 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในโลก มากกว่าสหรัฐฯที่เหลืออยู่เพียง 3 บริษัท

และแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ยังเป็นการประกาศศักดาของบริษัทจีนให้โลกได้หันมามองอีกครั้ง หลังจากที่ในอดีตบริษัทไชน่า เนชั่นแนล ออฟ ชอร์ คอร์ปอเรชัน (ซีนุก) ของจีนได้เคยสร้างความฮือฮาด้วยการพยายามจะซื้อยูโนแคล บริษัทยักษ์ใหญ่พลังงานของสหรัฐฯด้วยมูลค่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯแต่ไม่สำเร็จ

ย่างก้าวต่อไปของวิสาหกิจจีน
แต่เมื่อพิจารณาจากองค์รวมแล้ว การขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในโลก หรือติดอันดับโลกจำนวนมากนั้น ไม่ได้หมายความว่าโดยภาพรวมวิสาหกิจจีนได้ขึ้นมาเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกจริง เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่บริษัทของจีนสามารถมีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์สูงขนาดนี้ มีสาเหตุจากการที่ช่วงขวบปีที่ผ่านมา มีการไหลเข้าของทุนสู่ตลาดกระดานเออย่างมหาศาล จนตลาดหุ้นจีนพองตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นนอกจากมูลค่าตลาดแล้ว ดัชนีชี้วัดในด้านอื่นของวิสาหกิจจีน ยังจัดว่ายากที่จะเทียบกับบรรดาวิสาหกิจที่แข็งแกร่งระดับโลกอย่างแท้จริงได้

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของผลประกอบการ ในปี 2006 บริษัทเอ็กซ์ซอน โมบิลมีตัวเลขผลประกอบการอยู่ที่ 365,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นราว 4 เท่าของปิโตร ไชน่า มีที่ผลประกอบการอยู่ที่ราว 91,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่กำไรสุทธิของปิโตรไชน่า ที่แม้จะจัดว่าสูงสุดในเอเชียแล้ว แต่ก็ยังห่างไกลกับกำไรสุทธิของบริษัทเอ็กซ์ซอน โมบิล โดยดูจากครึ่งปีแรกของปี 2007 ยักษ์น้ำมันรายนี้ของจีนมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 10,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ปิโตรไชน่ามีสูงกว่าเกือบเท่าตัวคือ 19,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งๆที่ทำกิจการในประเภทเดียวกัน หรือหากจะมองในด้านของกำลังการผลิต ในปี 2006 ปิโตร ไชน่ามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,060 ล้านบาร์เรล ในขณะที่เอ็กซ์ซอน โมบิลมีกำลังการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 1,560 ล้านบาร์เรล

อีกหนึ่งมาตรฐานที่ใช้วัดวิสาหกิจก็คือมูลค่าสินทรัพย์ โดยในปี 2006 ปิโตร ไชน่ามีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่เพียง 1.4 ล้านล้านหยวน หรือจัดอยู่ในอันดับที่ 39 ของ 500 สุดยอดวิสาหกิจโลก พูดอีกอย่างก็คือแม้ว่าปิโตรไชน่า จะจัดว่าเป็น "ลูกพี่" ของไชน่า โมบาย, ธนาคารไอซีบีซี, ซิโนเปก หรือไชน่าไลฟ์ อินชัวรันซ์ที่มีมูลค่าตลาดติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ได้มาเพราะการพองตัวของตลาดหุ้น จึงยากที่จะนับว่าเป็นบริษัทในระดับกลุ่มบริษัทผู้นำของโลก

ที่สำคัญก็คือ หลังจากการเทรดวันแรกแล้ว ราคาหุ้นของปิโตรไชน่ากลับตกลงอย่างต่อเนื่อง โดยเพียงสัปดาห์เดียวที่เข้าตลาด ซึ่งตรงกับช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดการผันผวน ดัชนีหุ้นร่วงกราวรูด ได้ทำให้มูลค่าตลาดของปิโตร ไชน่าหายไปทันที 98,000 ล้านหยวน และยังร่วงหายต่อเนื่องเมื่อตลาดหุ้นจีนเริ่มผันผวนจนดัชนีเซี่ยงไฮ้ตกลงมาอยู่ที่ราว 4,500 จุดในปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อจีนได้ลิ้มรสการที่บริษัทของตน ได้เคยผ่านการขึ้นเป็นที่หนึ่งของโลกในด้านมูลค่าตลาดไปแล้ว ก้าวต่อไป วิสาหกิจจีนจำเป็นต้องมองว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นวิสาหกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์สูงที่สุด โดยเฉพาะในด้านของการบริหารจัดการ การประกอบการ การบริหารความเสี่ยง การสร้างรายได้ และการทำกำไร เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่จะขึ้นมาเป็นวิสาหกิจที่มีผลประกอบการสูงสุด มีกำไรสุทธิสูงสุด หรือถึงขั้นกลายเป็น "แบรนด์" ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับอีกหนึ่งเป้าหมายสำหรับบริษัทจีน และรัฐบาลจีน ที่ต้องการดันให้บริษัททั้งหลายมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) อันหมายถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับที่ดีควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูเเลรักษาสังคมและสิ่งเเวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเห็นได้จากความพยายามในช่วงที่ผ่านมา ที่จีนจะพยายามรณรงค์ให้บริษัทต่างๆรู้จักประหยัดทรัพยากร ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลงโทษด้วยมาตรการภาษี การสั่งปิดชั่วคราวหรือการร่วมมือกับแบงก์ชาติ ที่จะไม่ให้กู้ยืมกับบริษัทที่ไม่รักษาสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น