ไชน่าเดลี่-จีนจัดอันดับดีลเอ็มแอนด์เอที่สะเทือนตลาดมากสุด 10 อันดับแห่งปี 2007 สุดทึ่ง ภาคการเงินจีนติดอันดับ 5 ใน 10 สวนกระแสวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯที่ส่งผลให้สินเชื่อตึงตัวไปทั่วโลก
เมื่อวันจันทร์(7 ม.ค.)สถาบันการควบรวมและเข้าถือครองกิจการของจีน เปิดเผยผลการจัดอันดับ โดยสถาบันฯได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และสำรวจความเห็นของนักท่องอินเตอร์เน็ต จากดีลทั้งหมด 30 ฉบับ
ดีลอันดับหนึ่งคือ ดีลของบรรษัทการลงทุนแห่งประเทศจีน (ซีไอซี) บริษัทลงทุนเงินสำรองต่างประเทศจีนที่ทำหน้าที่บริหารทรัพย์ก้อนยักษ์กว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งซีไอซีทุ่มเงินถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อถือกรรมสิทธิ์หุ้นของแบล็ก สโตน กรุ๊ป แอลพี บริษัทกองทุนเอกชนของสหรัฐฯ ตอกย้ำถึงความกระหายลงทุนในต่างประเทศ และการกระจายการลงทุนเพื่อเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน
ถัดมาคือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งชาติจีน(ซีดีบี)ที่ทุ่มเงินถึง 3,000 ล้านเหรียญฯ หนุนบาร์เคลส์ พีแอลซี ของอังกฤษ ที่กำลังสู้ศึกกับกลุ่มร่วมค้าของธนาคารหลายแห่งในยุโรป นำโดยรอยัลแบงก์ ออฟ สกอตแลนด์(อาร์บีเอส) ในการประมูลซื้อหุ้นเอบีเอ็น แอมโร โฮลดิ้งส์ เอ็นวี กลุ่มแบงก์ยักษ์สัญชาติดัตช์
และดีลของ ธนาคารอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน(ไอซีบีซี)ที่ทุ่มเงิน 5,500 ล้านเหรียญฯ เพื่อเข้าถือกรรมสิทธิ์หุ้นของธนาคารสแตนดาร์ด ธนาคารรายใหญ่สุดของแอฟริกาใต้ในด้านทรัพย์สิน นับเป็นการเข้าถือครองกิจการต่างชาติครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาของธนาคารจีน
ถัดมาคือ ผิงอัน กรุ๊ป บริษัทประกันภัยอันดับ 2 ของจีน ที่ทุ่มทุน 1,810 ล้านยูโร เข้าถือครองกรรมสิทธิ์หุ้น 4.18% ของฟอร์ทิส กรุ๊ป ผู้ให้บริการด้านการเงินรายใหญ่สุดของเบลเยี่ยม ทำให้ผิงอันกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของฟอร์ทิส นับเป็นการลงทุนสูงสุดในต่างประเทศของภาคประกันภัยจีน
นอกจากนี้ ยักษ์ใหญ่วิสาหกิจจีนยังให้ความสนใจลงทุนในตลาดประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไชน่า โมบาย คอมมิวนิเคชั่น ที่ซื้อหุ้น 88.86% มูลค่า 460 ล้านเหรียญฯ ของ Paktel จาก มิลลิคอม อินเตอร์เนชันแนล เซลลูลาร์ ซึ่งมีฐานในประเทศลักเซมเบิร์ก โดย Paktel เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 5 ของปากีสถาน และเป็นกลุ่มบริษัทของ มิลลิคอม
ถัดมาคือ กลุ่มร่วมค้าของจีน นำโดยสเตท กริท คอร์ป ออฟ ไชน่า วิสาหกิจไฟฟ้ารายใหญ่สุดของจีน ที่ชนะประมูลมูลค่า 3,950 ล้านเหรียญฯ ในสัญญาจัดการเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปีให้กับฟิลิปปินส์ โดยเอาชนะกลุ่มร่วมค้าอีกฝ่ายอย่างฉิวเฉียด ซึ่งนำโดย ซาน มิเกล ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มของฟิลิปปินส์ นับเป็นข้อตกลงการแปรรูปวิสาหกิจครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์
แม้ดีลหลายฉบับจะบรรลุผล แต่มีหลายรายที่ไม่ราบรื่น อื้อฉาวสุดเห็นจะเป็นกรณีบริษัท ดาน่อน ยักษ์ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากฝรั่งเศส กับหวาฮาฮา กรุ๊ป ยักษ์น้ำดื่มของจีน ที่กล่าวหาฝ่ายจีนว่าละเมิดสัญญาประทับตรา “หวาฮาฮา” บนสินค้าที่ไม่ได้ผลิตภายใต้บริษัทร่วมทุน จนเกิดศึกฟ้องร้องไม่จบสิ้น ล่าสุด 2 ฝ่ายตกลงเจรจาอย่างสันติ.