xs
xsm
sm
md
lg

อียูจับมือมะกัน ฟ้องจีนใช้ซินหัวผูกขาดข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี – อียูจับมือมะกันยื่นฟ้องจีนต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หลังตกลงกันไม่ได้ประเด็นข่าวข้อมูลการเงิน ชี้จีนละเมิดสัญญาบรรลุการค้าเสรี ใช้ซินหัวผูกขาด สร้างความเสียหายต่อต่างชาติ

สหภาพยุโรป (อียู) จับมือสหรัฐฯตัดสินใจยื่นฟ้องจีนต่อองค์การการค้าโลก หลังเจอปัญหายืดเยื้อ กรณีจีนให้สำนักข่าวซินหัวผูกขาด นำเสนอข่าวการเงินแต่เพียงผู้เดียว ส่วนสื่อต่างชาติอาทิ บลูมเบิร์ก, รอยเตอร์ และดาว โจนส์ หากต้องการเสนอรายงานข่าวการเงิน ต้องกระทำการผ่านซินหัว

เมื่อวันจันทร์ (3 มี.ค.) สหภาพยุโรปกับสหรัฐฯได้ตัดสินใจยื่นฟ้องจีนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ตามกระบวนการของดับเบิลยูทีโอ ฝ่ายโจทก์สามารถร้องขอเจรจากับจีนภายใน 60 วัน หากคู่กรณียังมิสามารถตกลงกันได้ คดีจะถูกส่งไปยังองค์กรระงับข้อพิพาทให้เป็นผู้ทำการตัดสิน โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมาสหภาพยุโรป และสหรัฐฯได้รับผลกระทบจากการผูกขาด การเสนอข่าวด้านการเงินของจีน เนื่องจากสำนักข่าวของทั้งสองประเทศมิสามารถเข้าไปดำเนินการในจีนได้อย่างอิสระ โดยความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มทวีความรุนแรงมาตั้งแต่เดือนก.ย. 2006 เมื่อทางการจีนอนุมัติให้ซินหัวทำการผูกขาด เป็นผู้เสนอข่าวการเงินแต่เพียงผู้เดียวต่อไป

สหรัฐฯและสหภาพยุโรปกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของจีนไม่สอดคล้องกับกฎขององค์การการค้าโลก และทั้งสองประเทศต่างขู่ที่จะดำเนินการกับจีนมาตลอด กระทั่งอียูยื่นฟ้องอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์

เปิดปมความขัดแย้ง

ที่จริงความขัดแย้งประเด็นเสรีภาพในการเสนอข่าวด้านการเงิน เริ่มคุกรุ่นมานานแล้ว เมื่อปี 1996 จีนออกกฎจำกัดการเสนอข่าวการเงินของสื่อต่างชาติ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ยักษ์สื่อการเงินโลก อย่างดาว โจนส์, รอยเตอร์ และบลูมเบิร์ก ซึ่งมิสามารถเข้าไปเจาะตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างจีน ต่อมามีการต่อรองระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยจีนเป็นฝ่ายผ่อนปรน มีการตกลงในปี 1997 ว่า สื่อการเงินต่างชาติสามารถเสนอข้อมูลด้านการเงินต่อผู้บริโภคได้โดยตรง เพียงแต่ต้องขึ้นทะเบียนไว้กับซินหัวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอได้สำเร็จในปี 2001 ข้อบังคับของทางองค์การเน้นว่า จะต้องมีการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในภาคธุรกิจต่างๆในจีน ทว่าจีนมิได้ปฏิบัติตามกฎดังกล่าว โดยในปี 2006 จีนออกมาตรการว่า สื่อการเงินต่างชาติต้องขายข่าวให้กับ ไชน่า อีโคโนมิค อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส (China Economic Information Service) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ซินหัวตั้งขึ้น

ครั้นปี 2007 ซินหัวออกแถลงว่าได้ตั้งหน่วยข่าวการเงิน ทำหน้าที่รายงานข่าวการเงินทันเหตุการณ์ เป็นของตนเองชื่อว่า ซินหัว 08 เท่ากับว่าในทางปฏิบัติ สื่อต่างชาติไม่สามารถสื่อข่าวด้านการเงินได้อย่างอิสระต้องทำการผ่านซินหัว ส่วนข้อตกลงในปี 1997 ก็ถูกเก็บขึ้นหิ้ง

ผลประโยชน์ที่หลุดลอย

ตลาดข่าวสารภาคการเงินจีน เติบโตอย่างรวดเร็วตามอัตราการพัฒนาเศรษฐกิจ คาดว่าการผูกขาดของซินหัว ทำให้สำนักข่าวซินหัวฟันกำไรไปหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ

ก่อนที่จะทำการร้องเรียนต่อดับเบิลยูทีโอ บริษัทต่างชาติได้ทำการเจรจากับซินหัวมาตลอดแต่มิประสบความสำเร็จ โดยฝ่ายตะวันตกจำกัดประเด็นถกเถียง อยู่ที่เฉพาะเรื่องการผูกขาดด้านธุรกิจ มิได้พูดถึงประเด็นสิทธิเสรีภาพสื่อ เพื่อเลี่ยงความขัดแย้งกับจีน

ทั้งฝ่ายสหรัฐและยุโรปต่างเรียกร้องให้จีนตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาให้ใบอนุญาตกับสื่อด้านการเงินของต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม

ซูซาน ชวาป ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวว่า “ข้อมูลข่าวสด ด้านการเงิน จากสื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อในและต่างประเทศ จะทำให้นักธุรกิจสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ปัจจุบันซินหัวผูกขาดเป็นผู้นำเสนอข้อมูลด้านการเงินจีน ให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามทางฝ่ายจีนปฏิเสธว่า มิได้มีเจตนาผูกขาด จำกัดการนำเสนอข่าวสาร หรือเอาปรียบบริษัทต่างชาติ

ก่อนหน้านี้องค์กรระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอตัดสินให้จีนมีความผิดได้แก่ใช้นโยบายภาษีจำกัดการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากสหรัฐฯ, อียู และแคนาดาเทียบเท่าภาษีนำเข้ารถยนต์ นับเป็นครั้งแรกที่มีการตัดสินความผิดอย่างเป็นทางการ จากข้อปฏิบัติทางการค้าของจีน ตั้งแต่จีนเข้าร่วมดับเบิลยูทีโอในปี 2001

ในวันอังคาร( 4 มี.ค.) จีนโต้ตอบกรณียื่นฟ้องข้อพิพาทข้อมูลการเงิน โดยกระทรวงพาณิชย์ออกโรงแถลงว่า จะเคารพต่อทางเลือก ของสมาชิกดับเบิลยูทีโอ โดยจีนจะพิจารณาข้อเรียกร้องการปรึกษาหารือ
กำลังโหลดความคิดเห็น