xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ สภาพัฒน์ โวศก.ฟื้น ไม่สนใช้จ่ายครัวเรือนวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สภาพัฒน์” ฟันธงเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว ขยายตัวตลอดปี 50 ที่ร้อยละ 4.8 ด้านไตรมาสสุดท้ายโตร้อยละ 5.7 ระบุภาคก่อสร้าง ท่องเที่ยว ส่งออกโตรับรัฐบาลใหม่ งง!!ทั้งปี 51 คาดเศรษฐกิจรอฟื้นถึงร้อยละ5.5 แต่ยังไม่รวมประชานิยม-งบกลางปี ขณะที่เลขาฯสภาพัฒน์ แถลงไร้เศรษฐกิจพอเพียง

วานนี้ (25 ก.พ.) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาสสุดท้าย ปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 5.7 สูงกว่าการขยายตัวของทุกไตรมาส ขณะที่รวมทั้งปีเศรษฐกิจไทย ขยายตัวที่ร้อยละ 4.8

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายมีปัจจัยที่ดี ในด้านการก่อสร้าง ขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 การท่องเที่ยว ขยายตัวร้อยละ 7 โดยเฉพาะภาคการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม แม้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะชะลอตัวและค่าเงินบาทแข็งขึ้น แต่เมื่อรวมทั้งปีภาคการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 151,147 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 โดยราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 แต่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเพียงร้อยละ 7.7 โดยที่ราคาในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 3.7 โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ

ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 4 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 358,157.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.6 และด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ทำให้ในไตรมาสสุดท้าย คาดการณ์ได้ว่า ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น ถือว่าแรงขับเคลื่อนที่จะต้องจับตา

อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังไม่กระเตื้อง เนื่องจากมีการชะลอตัว แต่ก็คาดว่าจะเป็นโดยชั่วคราวเท่านั้น โดยมีอัตราใช้จ่ายเพิ่มเพียงร้อยละ 1.6 ซึ่งทั้งปีมีการใช้จ่ายเพียงร้อยละ 1.4 ตรงนี้ก็ต้องจับตามองเช่นกัน อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าภาคการส่งออกยังเข้ามาสร้างดุลให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจปี 2550 สภาพัฒน์ พบว่า อัตราว่างงานในไตรมาสสุดท้ายยังต่ำที่ร้อยละ 1.1 และเฉลี่ยทั้งปี อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับร้อยละ 2.3 โดยที่ไตรมาสสุดท้ายนี้ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 2 ในสามไตรมาสแรก ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6,182 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรวมทั้งปี 2550 เกินดุล 14,922 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ เป็นร้อยละ 6.1 ของจีดีพี ขณะที่หนี้สาธารณะ อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของจีดีพี และหนี้ต่างประเทศ อยู่ที่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 22% ของจีดีพี

“เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เงินเฟ้อเราก็ยังสามารถที่จะคอนโทรลต่อไปได้ ตลอดปีที่ผ่านมามีปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออกที่สำคัญๆขยายตัว มีการร่งรัดการเบิกจ่ายงบรัฐ และรัฐวิสาหกิจ อัตราดอกเบี้ยต่ำลงในครึ่งแรกของปี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเกิดต่อเนื่องต้องจับตามอง”

เลขาธิการสภาพัฒนาคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจปี 2551 จะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 จากเดิมประมาณการที่ร้อยละ 4-5 โดยเฉพาะปัจจัยบวกจากการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งจากภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคอุตสาหกรรม เห็นได้จากหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 พบปัจจัยบวกในเรื่องการส่งออกในช่วงปลายปีและในเดือนมกราคม 2551 ยังแสดงถึงแนวโน้มที่ดีจากสินค้าเช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อิเล็คทรอนิกส์ และรถยนต์ ซึ่งเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2550 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย ร้อยละ 76.1 เพิ่มขึ้นจากปี 2549และ 48 ที่ร้อยละ 73.9 และร้อยละ 72.1 ตามลำดับ นอกจากนี้แผนการลงทุนของเอกชนที่ทางสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ พิจารณาเห็นชอบแล้ว 1,342 ราย วงเงินลงทุน 744.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.5

ทั้งนี้ จะสอดคล้องตามนโยบายที่รัฐบาลที่แถลงโดยเน้นไปที่โครงสร้างฐานราก เช่น นโยบายกองทุนเอสเอ็มแอล ศักยภาพหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน กองทุนหมู่บ้าน ที่เป็นเงินในนโยบายอยู่ดีมีสุข ของรัฐบาลเดิม 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินที่ค้างอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดประมาณ 9 พันล้านบาท ขณะที่รัฐบาลก็พร้อมที่จะทยอยงบประมาณอีก 4 พันล้านบาทเข้าไปส่งเสริมโครงการต่างของชุมชน เพื่อเป็นการกระจายลงสู่โครงสร้างพื้นฐานของรากหญ้า ตลอดจนความเชื่อมั่นของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งระบบขนส่ง รถไฟรางคู่ ระบบน้ำ การลงทุนการบิน และการลงทุนในนโยบายสาธารณสุข

“ประมาณการณ์ปี 2551 ที่ร้อยละ 4.5-5.5 ยังไม่รวมเม็ดเงินที่รัฐบาลชุดนี้จะกระจายลงไปยังโครงการต่าง ๆที่เป็นนโยบายรัฐบาล รวมทั้งยังไม่รวมงบกลางปีที่คาดว่ารัฐบาลจะทำขึ้น การคำนวณต่าง ๆยังไม่รวมถึงกองทุน แต่เป็นการประเมินจากตัวเลขการส่งออกและการลงทุนที่คาดว่ามีความความต่อเนื่องจากเดือนมกราคม 2551”นายอำพน กล่าว

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ยังกังวลราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งเป็นข้อจำกัดและเป็นปัจจัยเสี่ยงจากราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาพัฒน์ พยากรณ์ว่า ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกจะชะลอตัวอยู่ที่ 70-75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ซึ่งหากรัฐบาลสามารถดูแลปัจจัยราคาสินต้าอุปโภคบริโภคได้ เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงไม่เกินร้อยละ 3.2-3.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลประมาณ 7,500-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 3 ของจีดีพี รวมทั้งอัตราว่างงานจะต่ำที่ระดับร้อยละ 1.5-2 แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และการกำหนดมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้า จะช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ภาคการลงทุน ปี2551 จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 และภาคการบริโภค ขยายตัวที่ร้อยละ 4

นายอำพนไม่ปฏิเสธว่าภาคการส่งออกและภาคการผลิตรายย่อยได้รับผลกระทบมากในภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา แต่หากรัฐเข้ามาเร่งปรับโครงสร้างการผลิตและภาคส่งออกรายย่อย ให้มีการปรับตัวเช่นเดียวกันผู้ส่งออกและผู้ผลิตรายใหญ่ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด จะเห็นได้จากนโยบายขยายระยะเวลาในการใช้เงินกองทุนเอสเอ็มอีที่ยังคงเหลือ 3,779 ล้านบาท เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า การแถลงข่าวครั้งนี้เลขาฯสภาพัฒน์ กลับไม่อ้างถึงนโยบายรัฐบาล หรือภาวะที่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น