xs
xsm
sm
md
lg

“ชาย” นั่งหัวโต๊ะทีม ศก.เร่งมาตรการกู้วิกฤต เสริมบารมี “แม้ว” โฟนอิน 1 พ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมชาย” นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.เศรษฐกิจ เร่งออกมาตรการฉุกเฉินรับมือวิกฤตศก.โลก โดยใช้นโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณเป็นต้นแบบ สอดรับแผน “แม้ว” โฟนอินรากหญ้า 1 พ.ย.พอดีเป๊ะ “โอฬาร” ขู่ฟ่อ ขรก.ทุกหน่วยงาน หากไม่สนองเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเล่นงานอ่วมแน่

วันนี้ ( 29 ต.ค.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกมาตรการฉุกเฉินรับมือวิกฤตการเงินโลก และภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยนำนโยบายประชานิยมเป็นแม่แบบในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบ และพุ่งเป้าไปยังกลุ่มรากหญ้าที่เป็นฐานคะแนนเสียง

นายสมชาย กล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาเศรษฐกิจ ตั้งแต่เริ่มต้นโดยมาตรการที่ใช้อยู่ในขณะนี้จะสามารถหยุดยั้งสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหาได้ และจะสามารถผ่านพ้นไปได้ ซึ่งจะเร่งนำงบประมาณที่ให้กระทรวงต่างๆ มาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อรับทราบปัญหาดังกล่าว ซึ่งในวันนี้จะมีการระดมความเห็นหลายโครงการ อาทิ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป และโครงการกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.)) หรือ SML ที่จะต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว

รูปแบบการหารือในวันนี้ รัฐบาลใช้ชื่องานว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (โอทอป) และเอสเอ็มแอล ซึ่งเคยเป็นโครงการประชานิยมที่อื้อฉาวในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยที่ประชุมวันนี้ มีนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี, นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

โดยก่อนเปิดประชุม นายกฯ สมชาย ได้พูดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของศูนย์เครือข่ายถ่ายทอดความรู้ไปยังที่ว่าการอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ตอนหนึ่งว่า ต้องขอบคุณนายอำเภอที่ทำให้โครงการทั้งเอสเอ็มแอล โอทอป และ กทบ.ประสบผลสำเร็จ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน เพราะถือว่าการทำงานดังกล่าว เป็นเรื่องของชุมชนและหมู่บ้าน ประชาชนจะตองได้รับการสนับสนุนจากโครงการต่างๆ ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ซึ่งตนดีใจที่โครงการเหล่านี้ ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ สามารถเพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ลดรายจ่าย อย่างไรก็ตาม ขอให้นายอำเภอช่วยดูแลอย่ามีปัญหาการรั่วใหลของเงิน เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชน ซึ่งรัฐบาลก็จะติดตามไปเรื่อยๆ

นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดการประชุม ว่า ปัญหาของเราทุกวันนี้ยังมีอีกมากมาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ยังรุมเร้าอย่างสาหัส จึงได้เชิญทุกฝ่ายมาระดมความเห็นเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเพราะแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ ดังนั้นเพื่อให้ระบบเดินไปได้ กอยากให้ทุกหน่วยงานเร่งใช้จ่ายงบประมาณ อย่านิ่งนอนใจ และให้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีเงินหุมนเวียนในตลาด ซึ่งโครงการต่างๆ ที่เราช่วยกันระดมความเห็นวันนี้ ทั้งเอสเอ็มแอล กองทุนหมู่บ้าน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็อยากให้นำไปปฏิบัติได้จริง

นายโอฬาร เปิดเผยหลังการประชุมว่า รัฐบาลต้องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 โดยตนเองกำชับให้หน่ายงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้กระตือรือล้นในการทำงาน เพื่ออัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่รากหญ้า

นายโอฬาร ยังแสดงความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะชะลอตัวลง ทั้งการส่งออกและการค้าขายกับต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงเตรียมเพิ่มการขาดดุลงบประมาณกลางปี 2552 อีก 1 แสน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยผ่านโครงการ SME ต่างๆ

นายโอฬาร ระบุว่า รัฐบาลพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตให้ได้ร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้เนื่องจากมีความกังวลว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงร้อยละ 1 จะทำให้เกิดภาวะการว่างงานถึง 4 แสนคน แต่สำหรับอัตราการขยายตัวของประเทศในปีนี้ ยังเชื่อว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5

ส่วน 6 มาตรการ ที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะมีมาตรการย่อยออกมาเป็นระยะ เพื่อพยุงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า โครงการกองทุนหมู่บ้าน SML และ โอทอป เป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาล ที่จะช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและรับมือกับวิกฤตการเงินโลกได้

รองนายกฯ ยังกล่าวย้ำถึงปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณที่เกิดความล่าช้า ว่า มาจากงบลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) และงบประมาณที่เบิกจ่ายไปแล้ว จากบัญชีกลาง แต่ยังคงค้างอยู่ที่หน่วยงานท้องถิ่น

ทั้งนี้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง จะเข้าไปดูแลในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับขู่เพิ่มเติมว่า หากพบว่าหน่วยงานใดเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ก็อาจจะมีผลต่อการพิจารณางบประมาณในปีถัดไป

ส่วนแผนการพยุงตลาดหุ้น นายโอฬาร กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนมีข้อยุติร่วมกันในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นอยู่แล้ว 3 กองทุน ที่มีวงเงินรวม 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะรองรับการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยได้ รวมถึงสามารถรองรับต่อกรณีที่นักลงทุนต่างชาติจะเทขายหุ้นได้จนถึงสิ้นปีนี้

หากตลาดหุ้นไทยไม่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงต่ำกว่า 10% ติดต่อกัน 2 เดือน วงเงินดังกล่าวก็น่าจะเพียงพอ พร้อมระบุว่าทั้ง 3 กองทุนที่มีการจัดตั้งอยู่แล้ว ประกอบด้วย กองทุนที่จัดตั้งโดยความร่วมมือของ บลจ.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งเริ่มเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นบ้างแล้ว

กองทุนที่จัดตั้งโดยธนาคารพาณิชย์, ธนาคารออมสิน และ ตลท.วงเงิน 7 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนที่จัดตั้งโดยการรวมตัวกันของ บริษัทจดทะเบียน 25 แห่ง วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้เริ่มเข้าไปซื้อหุ้นบ้างแล้วประมาณ 2 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น