xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่ของจึน รัฐบาลแค่หยอดยาหอมแรงงาน ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<strong><font color=#ff9900><em>สภาพอันน่าสลดหดหู่ของบรรดาแรงงานทาสของโรงงานเผาอิฐ ในมณฑลส่านซี ที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข่าวฉาวโฉ่พาดข่าวสื่อโลก ทำให้จีนกุลีกุจอนำกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ที่ถกยืดยื้อมาแสนนาน เข้าสู่สภาตรายางและคลอดออกมาในเดือนถัดมา เพื่อรดน้ำเย็นแก่กระแสวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนบนเวทีแรงงาน---ภาพ/เอเอฟพี</em></font></strong>
ดิ อิโคโนมิสต์ - ชะตากรรมเลวร้ายจากสภาพการจ้างงานที่โหดเหี้ยมเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานในประเทศจีน เป็นเรื่องอื้อฉาวกระฉ่อนไปทั่วโลก รายงานข่าวแพร่สะพัด ล้วนแล้วแต่เรื่องผู้ใช้แรงงานที่ต้องตากตรำกรำงานเหงื่อไหลไคลย้อย, คนงานเดินขบวนประท้วง หรือแม้กระทั่งข่าวฉาวโฉ่แห่งปีนี้ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐไม่เอาผิดการหลอกลวงใช้แรงงานเด็กเยี่ยงทาสในมณฑลส่านซี

ในวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่ของจีนจะมีผลบังคับใช้ แม้ในทางทฤษฎีแล้ว กฎหมายฉบับนี้ จะพลิกผันชะตากรรมของคนงานให้ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ทว่าเนื้อหาสาระของกฎหมาย ก็กำลังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้ายิ่งขึ้นทุกที

เชื่อกันว่า กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่ จะเพิ่มความมั่นคงในอาชีพการงาน โดยลูกจ้าง ซึ่งทำงานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จะได้รับการคุ้มครองจากสัญญาว่าจ้างที่เปิดกว้าง และบริษัทจะต้องแจ้งล่วงหน้าให้ทราบ ก่อนลงมือปลดใครก็ตาม ขณะฝ่ายนายจ้างพากันหวาดผวาไปตาม ๆ กันว่า ในอนาคต เห็นทีจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างก้อนโตกว่าเดิม

ทว่าก็มีหลายคนวิจารณ์โจมตีกฎหมายฉบับนี้ บางคนกล่าวหาว่า จะทำให้จีนถอยหลังเข้าคลอง กลับไปสู่ยุค “ชามข้าวเหล็ก” วันคืนในสมัยท่านประธานเหมาเจ๋อตง ที่เจ้าหน้าที่คนงานมีงานทำตลอดชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศทรุดโทรม เพราะขาดแรงจูงใจ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง กลับมองตรงข้ามกัน โดยเห็นว่า กฎหมายจะทำให้สหภาพ แรงงานต่าง ๆ ซึ่งรัฐเป็นผู้ควบคุม มีความแข็งแกร่ง แต่แทบไม่ช่วยอะไรคนงานที่ถูกกดขี่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่ของจีนมีช่องโหว่ ซึ่งบริษัทต่าง ๆ กำลังช่วงชิงแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว สื่อมวลชนจีนพูดถึงวิธีการมากมายที่บรรดาบริษัทพยายามเล่นตุกติกกับกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะกรณีหัวเหว่ยบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมสื่อสาร ที่มีชื่อเสียงของจีน ตกเป็นเป้าสนใจเป็นพิเศษ หลังถูกกล่าวหาว่า ทางบริษัทได้ขอให้พนักงานราว 7,000 คน ที่ทำงานนานกว่า 8 ปี ลาออก เพื่อแข่งกันกรอกใบสมัครจ้างงานระยะสั้นกันใหม่ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พนักงานเหล่านี้ กลายสภาพเป็นพนักงานที่เพิ่งถูกว่าจ้างใหม่

กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่ยังส่งผลดีต่อสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีน หรือ ACFTU ซึ่งรวมสหภาพแรงงานที่มีอยู่ในประเทศทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และในความเป็นจริงแล้วก็คือแขนข้างหนึ่งของรัฐบาลนั่นเอง ภายหลังจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา อำนาจของสมาพันธ์ฯทรุดโทรมลง เนื่องจากการล่มสลายของอุตสาหกรรมรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนเติบโตเบ่งบาน

หลังจากพยายามเกลี้ยกล่อมให้หัวเหว่ยพิจารณาแก้ไขแผนการดังกล่าว แต่อีกฝ่ายยืนยันว่าไม่ได้เลี่ยงกฎหมาย ต่อมา สหพันธ์ฯ จึงออกประกาศเตือนเสียงเข้มไม่ให้บริษัทอื่นๆ เอาเยี่ยงอย่างในการลอยแพพนักงาน ก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามสร้างสังคมโซเชียลลิสต์ที่มีความผสานกลมกลืน

แต่ไม่ว่าสหพันธ์ฯ จะออกมาโฆษณาชวนเชื่ออย่างใด แทบไม่มีใครเชื่อว่า สหพันธ์ฯ จะออกมาเป็นผู้ปกป้องสิทธิของคนงานได้ และสหภาพแรงงานอิสระ ก็ยังคงมีสภาพเป็นองค์กรผิดกฎหมายตามเดิม ขณะที่รัฐบาลไม่มีแผนนำสิทธิในการนัดหยุดงาน มาปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่ หลังจากยกเลิกไปในปี 2525 เนื่องจากเห็นตัวอย่างการเคลื่อนไหวหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานเสรีโซลิแดริตี้ในโปแลนด์ นอกจากนั้นในสายตาของรัฐบาลปักกิ่งแล้ว สหพันธ์ฯ มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมประท้วงของคนงานต่างหาก

วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ได้แก่ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่กำลังกระเพื่อมวงกว้างในจีนว่า ประเทศเร่งรุดไปสู่ระบบทุนนิยมอย่างร้อนแรงเกินไป เสียงวิจารณ์ยิ่งกระหึ่มในเดือนมิถุนายน หลังมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมณฑลส่านซี อนุญาตให้เจ้าของกิจการเตาเผาอิฐในชนบท ล่อลวงประชาชนหลายร้อยคน รวมทั้งเด็กมาทำงานในสภาพเยี่ยงทาส แม้กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่มีการอภิปรายถกเถียงกันในหมู่ประชาชนมานาน ก่อนที่เรื่องนี้จะแดงโร่ขึ้นมา แต่นักวิจารณ์ชี้ว่า รัฐบาลเร่งนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในสภนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเพียงสภาตรายางเมื่อเดือนมิถุนายน ก็เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นของประชาชนต่อข่าวล่อลวงแรงงานทาส

นาย ตงเป่าหัว จากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แห่งอีสต์ ไชน่า นักวิจารณ์ฝีปากกล้าที่สุดคนหนึ่งต่อกฎหมายแรงงานฉบับนี้ ผู้มีส่วนช่วยร่างกฎหมายแรงงานฉบับแรกของจีนเมื่อปี 2537 ชี้จุดบกพร่องอันหนึ่งของกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ว่า มิได้ปรับปรุงสภาพการจ้างงานของแรงงานอพยพจากชนบท ซึ่งมีจำนวนหลายสิบล้านคนแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือในชนบทส่วนใหญ่ของประเทศ และตกเป็นเหยื่อถูกว่าจ้างแรงงานภายใต้เงื่อนไขที่แย่ บ่อยครั้งที่สุด โดยที่สหภาพแรงงานของทางการเอง ไม่ได้สร้างเครือข่ายในหมู่คนงานประเภทนี้ อีกทั้งกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ก็ไม่เห็นจะช่วยเหลือแรงงานทาสในมณฑลส่านซีได้เลย คนงานเหล่านี้ได้รับความทุกข์ยาก มิใช่จากการขาดความคุ้มครองทางกฎหมาย แต่จากการบังคับใช้กฎหมายในระดับเลว

นาย ตง ชี้ว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่จะไม่ทำให้ปัญหาด้านแรงงานลดลง หลังจากปัญหาด้านแรงงาน เช่นการนัดหยุดงาน กลายเป็นเรื่องธรรมดาขึ้นเรื่อย ๆในสังคมจีนช่วงไม่นานมานี้

แม้สหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีนจะออกมาปรามบริษัทต่าง ๆ เสียงดังลั่น นักวิจารณ์ก็เชื่อว่า หลาย ๆบริษัท จะยังคงพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายต่อไป หรือ เพิกเฉยเอาเสียดื้อ ๆ แต่นายตงแย้งว่า ปัญหาแรงงานในจีนอาจพบจุดจบเหมือนอย่างฝรั่งเศส เมื่อเศรษฐกิจของฝรั่งเศสในเวลานี้ กำลังมึนตึ้บ กับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆที่มีราคาสูง ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการจ้างงาน และกำลังมึนตึ้บกับการนัดหยุดงาน ที่มีความพยายามปฏิรูปสิทธิประโยชน์เหล่านี้ เป็นเชื้อปะทุ

และในสภาพการณ์เช่นนั้น จะเป็นผลกรรมที่ “ น่าสยดสยองที่สุด” สำหรับจีน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนย่อมจะต้องเห็นพ้องด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น