ซินหัว – ทนายความปักกิ่ง ฝันโกยกำไรเพิ่ม หลังกฎหมายจ้างงานมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคม ชี้ลูกจ้างฟ้องนายจ้างเพิ่ม หลายบริษัทปรับตัวจ้างทนาย ช่วยแนะนำการบริหารใต้กรอบกฎหมายใหม่
“ฉันมั่นใจว่ากรณีฟ้องร้องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่” หยางฮุ่ย ทนายความหญิงแห่งมหานครปักกิ่ง ผู้คร่ำหวอดในวงการคดีแพ่งกล่าว
กฎหมายจ้างงานฉบับใหม่ ในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องการเซ็นสัญญาจ้างงาน ช่วยยกระดับการปกป้องสิทธิของลูกจ้าง ขณะเดียวกันก็เพิ่มภาระรับผิดชอบให้กับนายจ้าง “ฉันเชื่อว่าลูกจ้าง จะหันมาพึ่งกฎหมายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับนายจ้างมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่เกื้อหนุนลูกจ้างในหลายด้าน” หยางกล่าว
เมื่อเทียบกับกฎหมายจ้างงานฉบับปี 1995 กฎหมายฉบับใหม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และรัดกุมมากขึ้น อาทิการเซ็นสัญญาในกฎหมายทั้ง 2 ฉบับระบุว่า ต้องมีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ทว่าฉบับใหม่มีรายละเอียดพูดถึง ระยะเวลาการจ้างงานในสัญญา และกล่าวถึงบทลงโทษหากนายจ้างฝ่าฝืน
“มิตรสหายหลายคนที่ศาลแพ่ง บอกฉันว่า กฎหมายฉบับใหม่ช่วยให้การทำงานของพวกเขาง่ายขึ้น เนื่องจากมีความชัดเจนในหลายประเด็น” หยางเผย
เกาเฟิง ทนาย ผู้เปี่ยมด้วยประสบการณ์ในคดีเกี่ยวกับการบริหารแรงงาน กล่าวว่า “แม้กฎหมายฉบับใหม่จะมีความก้าวหน้าสูง ทว่าในกรณีที่อาจก่อความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างได้ง่ายๆ กลับมิได้มีการบัญญัติหรือกล่าวถึง ลูกจ้างส่วนมากถูกนายจ้างบังคับย้ายสถานที่ทำงาน ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายไม่ได้ระบุอะไรชัดเจน ฉะนั้นจึงยากที่จะตัดสินว่า นายจ้างละเมิดกฎหมายหรือไม่ เมื่อเขาสั่งย้ายลูกจ้างไปยังสาขาอื่น โดยลูกจ้างปราศจากความยินยอม”
“ผมหวังว่า กฎหมายใหม่นี้จะส่งผลให้ธุรกิจของผมดีขึ้น แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังไว้สูงจนเกินไป” เกากล่าว
อย่างไรก็ตาม กฎหมายจ้างงานที่มีความยาวถึง 98 มาตราได้สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับทนายอย่างเช่นเกาแล้ว เนื่องจากวิสาหกิจหลายแห่งได้จ้างเกาเป็นที่ปรึกษา ปรับเปลี่ยนการทำสัญญาจ้าง และระบบบริหารบุคคลให้เป็นไปตามข้อบังคับในกฎหมาย
ขณะที่ทนายอีกส่วนหนึ่งก็ถูกจ้างเพื่อหาช่องโหว่ของกฎหมาย ซึ่งนายจ้างสามารถใช้หลบเลี่ยงได้