ศิลปะมีหลายแขนง แต่เครื่องประดับชิ้นเล็ก ที่เปี่ยมไปด้วยความงามในทุกมิติ แถมยังหยิบมาสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน คือเสน่ห์ที่ทำให้ “กลอย-กิตตินุช อมาตยกุล” ลูกสาวคนสวยของ “พีระยศ-กิตติยา อมาตยกุล” จิวเวลรีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรงของเจมส์ พาวิลเลียน หลงใหลและตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จึงเลือกที่จะเดินตามความฝันอย่างมุ่งมั่น
กลอยเล่าอย่างออกรสว่าชอบศิลปะ และงานดีไซน์มาตั้งแต่เด็ก ส่วนหนึ่งอาจเพราะคุณพ่อก็เป็นสถาปนิกมาสายอาร์ตเหมือนกัน ส่วนคุณแม่ถึงจะทำธุรกิจเกี่ยวกับเรียลเอสเตท แต่ก็ชอบพวกเครื่องประดับ ของสวยๆ งามๆ เช่นเดียวกับ น้องสาวฝาแฝด (กิ๊บ-กิตตินาถ) ก็ชอบด้านแฟชั่น
“กลอยอินกับพวกของชิ้นเล็กๆ เช่น งานปั้น ขวดน้ำหอมเล็กๆ อยู่แล้ว แต่ที่เทใจให้จิวเวลรี เพราะมองว่าเป็นผลงานชิ้นงานเล็กๆ ก็จริง แต่มีเสน่ห์ มีรายละเอียด แถมใส่แล้วยังสวยด้วย สมัยเรียนอยู่ Shrewsbury International School กลอยก็จะเลือกวิชาที่ได้ออกแบบ อย่างออกแบบเฟอร์นิเจอร์, ไข่ฟาแบร์เช (ไข่รัสเซีย) ซึ่งผลงานพวกนี้ สุดท้ายก็กลายเป็นพอร์ตฯ ที่กลอยใช้ตอนที่ตัดสินใจเรียนต่อด้านจิวเวลรีดีไซน์ที่ Fashion Institute of Technology (FIT) นิวยอร์ก”
อย่างไรก็ตาม พอต้องจากบ้านไปเรียนต่างแดน กลอยยอมรับว่าช่วงปีแรกค่อนข้างคิดถึงบ้าน โชคดีที่มีน้องสาวฝาแฝดอยู่ข้างกาย เป็นทั้งบัดดี้ และรูมเมต เพราะทั้งคู่เลือกเรียนที่เดียวกันแต่คนละสาขา โดยน้องสาวเลือกไปในสายที่ชอบ อย่างการออกแบบกระเป๋าและรองเท้า
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี กลอยใช้เวลาอีก 1 ปี เติมความรู้ให้ตัวเองครบเครื่องในสายอาชีพที่ชอบ ด้วยการไปเทกคอร์สที่ GIA เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพชรอย่างเจาะลึก พร้อมกับทำงานฟรีแลนซ์ที่ SDC Designs ซึ่งเป็นบริษัทที่ซื้อไลเซนส์ (Licence) จากแบรนด์ต่างๆ แล้วมาให้ดีไซเนอร์ออกแบบ
“ตอนที่ไปทำกลอยได้โจทย์ให้ออกแบบผลงานของ วีรา แวง ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งก็เข้าทาง เพราะเป็นแนวหวานๆ สไตล์ที่เราชอบ แต่ทำได้ไม่นาน เพราะตอนนั้นต้องโฟกัสเรื่องเรียนเป็นหลัก พอเรียนเสร็จก็กลับเมืองไทย แต่กลับมาได้ไม่นานก็ไปเรียนต่อปริญญาโท ครั้งนี้กลอยเลือกเรียนต่อด้าน Luxury Brand Management ที่ Domus Academy (โดมุส อะคาเดมี) มิลาน อีก 1 ปี เพราะมองว่าถ้าความรู้เรื่องธุรกิจด้วยน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
“ช่วงเรียนโทสนุกมาก คือสมัยเรียนที่นิวยอร์กเราก็ชอบไปพิพิธภัณฑ์ ไปงานอีเวนต์ต่างๆ อย่างแฟชั่นวีกก็ไปเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ อยู่แล้ว แต่พอย้ายมาเรียนฝั่งยุโรปก็มีเสน่ห์อีกแบบ เพราะวัฒนธรรมหลากหลายมาก แต่ละเมืองไม่เหมือนกันเลย นอกจากเรียนแล้วยังได้ไปเที่ยวไปเปิดหูเปิดตาหลายเมือง นอกจากอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ไปเวียนนา ออสเตรีย มิวนิก เยอรมนี บูดาเปสต์ ฮังการี” กลอยเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส
นอกจากเรียนหนักเที่ยวเยอะ กลอยยังไม่ลืมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานในต่างแดนติดตัวกลับมาด้วย โดยเธอเลือกไปฝึกงานที่แบรนด์จิวเวลรีแห่งหนึ่งซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องความคราฟต์ของชิ้นงาน
“ตอนนั้นด้วยความที่มาเรียนต่อด้านบริหารจัดการ เลยได้ไปฝึกงานด้านโซเชียลมีเดีย แต่ในฐานะจิวเวลรีเลิฟเวอร์ เราก็มีความสุขที่อยู่กับของสวยๆ จิวเวลรีที่เราชอบ สุดท้ายเลยขอฝึกยาวกว่าที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด เพราะเป็นช่วงที่อยู่รอกิ๊บ ซึ่งไปเรียนที่มิลานเหมือนกัน แต่คนละที่ กลอยเริ่มเรียนก่อนเลยเรียนจบก่อน”
หลังจากคว้าปริญญาโทมาครองได้สมใจ ก็ถึงเวลาเริ่มต้นบันทึกหน้าใหม่ของชีวิต กลอยประเดิมงานแรกในฐานะจิวเวลรีดีไซเนอร์ให้กับเจมส์ พาวิลเลียน แบรนด์จิวเวลรีของไทย
“ตอนแรกกลอยตั้งใจทำพอร์ตฯ ไปสมัครงานที่ เอ-ลิส ซึ่งทำแบรนด์แฟชั่นทั้งของตัวเองและนำเข้าแฟชั่นแบรนด์ดังจากต่างประเทศ แต่พอดีมีคนรู้จัก เขาเห็นพอร์ตฯ ของกลอยมาสายจิวเวลรีมากกว่าเลยแนะนำให้มาที่เจมส์ พาวินเลียนแทน 2 ปีที่ทำงานที่นี่ได้เรียนรู้หลายอย่าง เพราะนอกจากงานดีไซน์ยังได้เข้ามาช่วยส่วนการตลาด การทำ lookbook รวมทั้งเวลามีโปรเจกต์พิเศษก็ได้รับโอกาสให้มาทำ
อย่างล่าสุด เพิ่งเปิดตัว The Exclusive Showroom เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาปรึกษากับจิวเวลรีดีไซเนอร์ได้โดยตรงว่าต้องการเครื่องประดับแบบไหน เพื่อสร้างความยูนีคและตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งกลอยมองว่าเป็นอีกโอกาสที่ท้าทาย เพราะกลอยว่าการทำงานออกแบบที่ดี ไม่ใช่เน้นแค่สไตล์ที่เราชอบ แต่ต้องดูเทรนด์และเข้าใจลูกค้าด้วย ซึ่งกลอยว่าการคุยกับลูกค้าช่วยให้เราเข้าใจและรู้จักลูกค้ามากขึ้น จนบางครั้งอาจช่วยคิดแทนลูกค้าได้ว่า น่าจะชอบหรือไม่ชอบแบบไหน”
สำหรับผลงานที่ภูมิใจที่สุด แน่นอนว่ากลอยยกให้ผลงานการออกแบบคอลเลกชันแรกในชีวิตที่มีชื่อว่า The Sparkles
“จำได้ว่า ช่วงที่จะออกคอลเลกชันคือใกล้ๆ ปีใหม่ กลอยเลยนำแรงบันดาลใจจากตอนไปเวียนนา ซึ่งเป็นช่วงใกล้ปีใหม่เหมือนกัน ความประทับใจที่ไม่ลืมคือ นอกจากพลุสวยๆ บนท้องฟ้า ท่ามกลางบรรยากาศสนุกสนานยังมีเพลงวอลซ์บรรเลง ซึ่งเป็นอะไรที่ยูนีคมากๆ กลอยอยากนำความพิเศษนั้นมาถ่ายทอดในผลงานชิ้นนี้ ซึ่งใช้เวลา 8-9 เดือน ตั้งแต่วางคอนเซ็ปต์ คุยกับช่างกว่าจะออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ ตอนที่มีลูกค้าคนแรกมาซื้อ คือตื่นเต้นมาก จำได้เลยว่าเขามาซื้อเข็มกลัด ซึ่งเป็นหนึ่งในชิ้นไฮไลต์ที่กลอยตั้งใจออกแบบให้ถอดเป็นตุ้มหูได้ เพราะอยากให้ทั้งคอลเลกชันสะท้อนถึงความสนุกสนาน นอกจากสวยแล้วต้องมาพร้อมฟังก์ชัน เป็นเครื่องประดับที่มีลูกเล่นในการใส่ หรืออย่างตุ้มหู ก็ออกแบบให้สามารถใส่ได้ทั้งแบบสั้นและแบบยาว”
อย่างไรก็ตาม ในความสนุกของเนื้องานที่รัก ย่อมมาพร้อมความท้าทายให้ต้องข้ามผ่าน “ช่วงแรกๆ ที่มาทำงาน ประสบการณ์ยังน้อย ก็ต้องศึกษาเยอะ การสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญ เพราะเราต้องทำงานกับหลายฝ่าย อย่างเวลาคุยกับช่างก็ต้องคุยให้เคลียร์ เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ใกล้เคียงกับไอเดียมากที่สุด ส่วนเรื่องสไตล์การออกแบบ โชคดีที่แม้ภาพจำของ เจมส์ พาวิลเลียน คืองานจิวเวลรีที่ดูอลังการ หรูหรา แต่ก็มีชิ้นงานแบบเล็กๆ น่ารัก ใส่กลางวันง่ายๆ ด้วย ทำให้โจทย์ในการออกแบบไม่ได้ไกลตัวเรา”
กลอยย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องไม่หยุดพัฒนาและหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เสมอ “แรงบันดาลใจของกลอยส่วนใหญ่มาจากการเดินทาง ไปดูงานศิลปะ สถาปัตยกรรม หรืออย่างช่วงโควิด-19 ที่เดินทางไม่ได้ แต่งานออกแบบหยุดไม่ได้ กลอยก็อาศัยสังเกตสิ่งรอบตัว ยกตัวอย่างเวลาไปว่ายน้ำที่รูฟท็อปเห็นท้องฟ้าเปลี่ยนสี หรือดวงดาวเต็มฟ้า ก็หยิบมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชิ้นงาน โดยใช้พลอยหลากสีสันมาแทนสีของท้องฟ้า หรือความระยิบยับของดวงดาวนั่นเอง”
นอกจากการท่องเที่ยว อีกหนึ่งงานอดิเรกที่กลอยเห็นแล้วราวกับต้องมนต์คือ ของวินเทจ โดยเฉพาะ จานของ WEDGWOOD
“ชอบตั้งแต่ยังไม่ฮิต จริงๆ เริ่มมาจากชอบของวินเทจก่อน เริ่มจากเครื่องประดับมาถึงจาน ขวดน้ำหอม แก้วเจียระไนเล็กๆ สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศ กลอยชอบไปซื้อตาม flea market ทุกครั้งที่ไป รู้สึกเหมือนได้ไปผจญภัยหาสมบัติ ทุกวันนี้ถ้าอยู่ว่างๆ ก็จะเอาจานมาเพนต์ หรือเอาสร้อยเก่าคุณแม่มาร้อย กลอยว่าเสน่ห์ของของวินเทจ คือ รายละเอียดที่เยอะแต่สวย แต่แม้จะชอบสไตล์วินเทจ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแต่งตัวสไตล์วินเทจนะ อย่างมากก็มีเแค่เครื่องประดับเฉยๆ” กลอยถือโอกาสออกตัวถึงสไตล์การแต่งตัว
ถ่ายทอดความเป็นสายอาร์ตมาตั้งแต่ต้นจนจบแบบนี้ อดถามไม่ได้ว่าใครคือศิลปินโปรดที่เธอชอบ กลอยเฉลยว่า “มีหลายคนในใจ แต่ยกให้โมเนต์ ชอบการใช้สีที่ทำให้เกิดภาพแนวอิมเพรสชันนิสต์ อีกคนที่ชอบ คือ Jean-Honore Fragonard (ฟราโกนาร์ด) ซึ่งเป็นศิลปินในยุคศตวรรษที่ 18 เอกลักษณ์ของเขาคือ ชอบวาดภาพแนวฟุ้งๆ ใช้สีพาสเทล”
สำหรับอนาคต กลอยทิ้งท้ายว่า ยังสนุกและอยากเรียนรู้งานที่ทำไปอีกพักใหญ่ ส่วนแผนอนาคตไกลๆ ที่เล็งไว้คือ ตั้งใจว่าถ้าน้องสาวทำแบรนด์กระเป๋า จะเอาความถนัดและความรู้ที่มี มาช่วยน้องสาวออกแบบฮาร์ดแวร์ของกระเป๋า เพื่อให้แบรนด์มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร