xs
xsm
sm
md
lg

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 2) / ดร.กฤษฎา เสกตระกูล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



HIGHLIGHTS :
•โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 2) ยังมีอีกหลายมุมมองที่น่าสนใจ จึงนำมาสรุปเพิ่มเติมในบทความตอนนี้ 3 ประเด็น คือ 1) ลักษณะการอยู่อาศัยของผู้คนจาก “เมืองหลัก” ไปสู่ “เมืองรอง” 2) ลักษณะการออกแบบสถานที่ทำงานเพื่อรองรับ “Social Distancing” และ 3) ลักษณะการซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านของชำในยุค “Social Distancing”


โลกหลังวิกฤติ Covid-19 ในบทความตอนที่ 1 นั้นได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นฐานในชีวิตและสังคมของมนุษย์ ที่จะเปลี่ยนแปลงไป 8 ประการ ซึ่งนอกเหนือจาก 8 ประการที่กล่าวถึงไปนั้น ยังมีอีกหลายมุมมองที่น่าสนใจ จากบรรดากูรูในวิชาชีพต่างๆ ว่าพวกเขามองโลก (ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของพวกเขา) หลังวิกฤติ Covid-19 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จึงนำมาสรุปให้เห็นประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจได้ดังนี้

1) ลักษณะการอยู่อาศัยของผู้คนจาก “เมืองหลัก” ไปสู่ “เมืองรอง”

บทความ “Cities after Coronavirus ; how covid-19 could radically after urban life.” ของ Jack Shenker (The Guardian, 26 มีนาคม 2563) อธิบายไว้ว่า “เมือง” เป็นพัฒนาการที่มนุษย์สร้างขึ้น เนื่องจากต้องอยู่ร่วมกัน อยู่ใกล้ชิดกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน เมืองใหญ่ทุกวันนี้โตขึ้นมาก เพราะมีคนอพยพโยกย้ายเข้าสู่เมืองมากขึ้น แต่เหตุการณ์ Covid-19 ทำให้คนต้องอยู่ห่างๆ กัน ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ผู้คนอาจตัดสินใจย้ายไปสู่ “เมืองรอง” ซึ่งเล็กกว่ามากขึ้น เพื่อลดความแออัด และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันก็ยังทำได้เนื่องจากมีเทคโนโลยีช่วยได้ มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดหมู่บ้านใหม่ๆ ขึ้นในเมืองรอง เกิดการยกระดับเส้นทางคมนาคมขนส่งขึ้นมาใหม่ในเมืองรอง ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของเส้นทางคมนาคมเดิมไปอย่างสิ้นเชิง

2) ลักษณะการออกแบบสถานที่ทำงานเพื่อรองรับ “Social Distancing”

บทความ “10 ways covid-19 could change office design.” ของ Harry Kretchmer (www.weforum.org, 20 เมษายน 2563) สรุปไว้ว่า เมื่อคนต้องกลับมาทำงานหลังการระบาดรุนแรงผ่านไป ความหวาดกลัวการแพร่เชื้อระหว่างกัน การต้องรักษาระยะห่างทางสังคมในที่ทำงาน จะมีความต้องการออกแบบที่ทำงาน ที่นั่งของพนักงานลักษณะใหม่ เช่น ในรูปแบบที่เรียกว่า “Six Feet Office” คือออกแบบให้ที่นั่งห่างกันประมาณ 6 ฟุต (หรือประมาณ 1.82 เมตร) ที่ต่อไปหลายๆ องค์กรอาจออกมาเป็นข้อกำหนดในการปรับปรุงพื้นที่สำนักงาน นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ปูกระดาษบนพื้นโต๊ะทำงาน พอสิ้นวันก็ดึงออกไปทิ้งเพื่อลดการแพร่เชื้อ หรือรูปแบบการออกแบบที่ทำงานก่อนเกิด Covid-19 มีความนิยมแบบเปิดโล่งมากขึ้นก็จะหันมาปรับให้มีลักษณะปิดเพื่อป้องกันมากขึ้น (Closed – plan working) มีการเสนอให้ภายในที่ทำงานต้องเพิ่มสัญลักษณ์ (More signs) เพื่อเตือนและบอกการรักษาระยะห่างมากขึ้น รวมทั้งการมีป้ายกำหนดทิศทางเพื่อลดการเดินแบบสับสน ทำให้เกิดการชนและแพร่เชื้อได้ เป็นการออกแบบที่เรียกว่า “Contactless Pathways” ซึ่งต้องจัดให้มีเทคโนโลยีที่สนับสนุน อุปกรณ์ที่มีส่วนช่วยป้องกัน อากาศถ่ายเท และวิธีการทักทายแบบใหม่ ๆ เป็นต้น

3) ลักษณะการซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำในยุค “Social Distancing”

บทความของ Katie Jackson ที่ลงใน www.today.com เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 เรื่อง “8 ways coronavirus may change how we shop at the grocery store forever.” สรุปประเด็นสำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันในยุค “Social Distancing” จะเปลี่ยนไปจากเดิมดังนี้

•ลูกค้าจะมีจำนวนครั้งมาที่ร้านน้อยลง (Shoppers will make fewer trips to the store) เพราะคนยังหวาดกลัวกับการแพร่ระบาดของเชื้อ จะลดจำนวนครั้งที่มาเท่าที่จำเป็น ซึ่งต่างจากเดิมแวะมาเมื่อใดก็ได้

•ลูกค้าจะซื้อของทีละมากๆ เพื่อเก็บไว้ในตู้เย็นและครัวมากกว่าเดิม (People will stock up) เมื่อมาที่ร้านในจำนวนน้อยลง คนก็จะซื้อพวกอาหารและสินค้าจำเป็นคราวละมากๆ โดยอาจจะเก็บไว้ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนจะออกมาเติมอีกครั้ง

•ลูกค้าจะซื้ออย่างมีเหตุผลและมีแผนการมากขึ้น (Goodbye browsing, hello planning) ที่ผ่านมาการเดินในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีของมากมายก็เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง สามารถใช้เวลาค่อยๆ คิดได้ อาจเจอสินค้าบางอย่างที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนว่าจะซื้อ แต่พบการส่งเสริมการตลาดที่เย้ายวนใจก็เกิดการซื้อเพิ่มได้ แต่ยุคที่ต้องรักษาระยะห่าง ลูกค้าจะเริ่มวางแผนมากขึ้น มี Checklist ที่ทำให้พุ่งตรงไปยังชั้นที่ขายของนั้นโดยตรง

•ลูกค้าจะใช้บริการส่งของถึงบ้านมากขึ้น (Curbside pick up and online ordering will be big) ลูกค้าอีกเป็นจำนวนมากจะยอมปรับพฤติกรรมสั่งของชำทาง online และให้มาส่งถึงบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการออกนอกบ้าน ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ หันมาพัฒนาและปรับปรุงบริการนี้

•ลูกค้าต้องการใช้บริการจุดชำระเงินและนำของกลับด้วยตนเองมากขึ้น และไม่สนใจจุดทดลองสินค้า (So long to samples and self-serve stations) เพื่อลดโอกาสสัมผัสเชื้อจากจุดที่มีการให้ทดลองสินค้า หรือจุดชำระเงิน

•ลูกค้าจะนิยมสินค้าที่คงความสดไว้ได้นาน (Long lasting produce will be popular) ความต้องการสินค้า เช่น ผลไม้ประเภทเก็บรักษาไว้ได้นานจะมีมากขึ้น เพราะดีต่อสุขภาพและสอดคล้องกับเวลาที่ไม่ต้องออกมาชอปปิงบ่อยๆ

•ลูกค้าจะซื้อสินค้าประเภทอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องมากขึ้น (Frozen foods and canned foods will be favored) ซึ่งสัมพันธ์กับระยะเวลาที่อยู่บ้านนานขึ้น ประกอบกับสินค้าเหล่านี้ค่อนข้างมีน้ำหนัก จึงต้องการซื้อในปริมาณมากๆ เพื่อเก็บไว้

•ลูกค้าจะหันมานิยมไปร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น (Smaller stores are making comeback) ร้านค้าของชำขนาดเล็กใกล้บ้านจะกลับมาเป็นที่นิยม เพราะถูกคาดหมายว่าผู้คนจะไม่เข้าไปแออัดและรอคิวการซื้อของ การชำระเงินเหมือนร้านใหญ่

ไม่น่าเชื่อว่าไวรัสตัวเล็กๆ นี้จะสามารถบังคับและเปลี่ยนชีวิตในอนาคตของมนุษยชาติได้มากขนาดนี้ ซึ่งยังเป็นที่น่าสนใจมากว่า ยังมีมุมมองอะไรและอย่างไรอีกที่ไวรัส Covid-19 นี้จะมาเปลี่ยนแปลงชีวิต ธุรกิจ และสังคมของพวกเรา ซึ่งสามารถติดตามได้ในบทความห้องเรียนผู้ประกอบการ www.set.or.th/enterprise

Credit : The Guardian, weforum.org, today.com
โดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่มา : https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=6938


กำลังโหลดความคิดเห็น