เบื้องหลังกาแฟหอมกรุ่นรสละมุนทุกแก้ว ล้วนแฝงไปด้วยการเดินทางอันน่ามหัศจรรย์ ตั้งแต่การเพาะปลูก หมักบ่ม คั่วและบดอย่างมีชั้นเชิง ไม่ต่างกับชีวิตคนเรา กว่าจะมาอยู่จุดที่รสชาติกลมกล่อมสมกับเป็นกาแฟถ้วยโปรด ต้องใช้เวลาและความอดทนไม่น้อย เช่นเดียวกับเรื่องราวของ "ต่อ-เติมพงศ์ อยู่วิทยา" Partner และ Bussiness Development บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด ผู้บริหารธุรกิจร้านกาแฟแบรนด์ “คาซ่า ลาแปง” (Casa Lapin) กว่าจะบรรจงให้ชีวิตนี้มีรสชาติไม่ต่างจากลาเต้รสกลมกล่อม เขาต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อย่างมีชั้นเชิงมาไม่น้อย
“หลังเรียนจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผมตั้งใจจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ แต่ตอนนั้นเป็นยุควิกฤตเศรษฐกิจปี 40 พอดี ค่าเงินบาทลอยตัว ปอนด์ขยับขึ้นจาก 40 เป็น 90 ผมเลยเปลี่ยนแผนจะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาแทน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป เพราะดันไปสมัครงานทิ้งไว้ที่ฝ่ายการตลาดต่างประเทศของเอสซีจี ซึ่งมีคนมาสัมภาษณ์ก่อนหน้าเป็น 10 คนก็ไม่ได้ ผมก็ไปแบบไม่ได้คิดอะไร บังเอิญผมได้เลยอยู่ทำงานแล้วพักแผนเรียนต่อไว้”
จากนั้นทำงานหาประสบการณ์อยู่ 2 ปี จึงตัดสินใจลาออกเพื่อตามความฝันที่อยากจะเป็นนักธุรกิจ ด้วยความชอบงานด้านบริการเป็นทุนเดิม ผู้บริหารหนุ่มวิสัยทัศน์ไกลเริ่มต้นจากธุรกิจรีสอร์ต ร้านอาหาร กระทั่งก้าวสู่การเป็นซัปพลายเออร์ส่งวัตถุดิบให้ร้านอาหารและร้านกาแฟ ก่อนที่ชีวิตจะพลิกผันเมื่อได้รู้จักกับโลกของกาแฟ และเมล็ดกาแฟได้นำพาให้เขาได้มาเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของคาซ่า ลาแปง
“ผมชอบดื่มกาแฟอยู่แล้ว ช่วงแรกๆ อาจยังไม่รู้จักกาแฟดีพอ ดื่มกาแฟเย็น กาแฟสำเร็จรูปทั่วไปตามประสาหนุ่มออฟฟิศที่มองในแง่ฟังก์ชันที่ได้จากการดื่มเป็นหลัก โชคดีที่ภรรยาผมก็ชอบดื่มกาแฟ เขาเลยพาผมไปชิมกาแฟดีๆ จนเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมค้นพบกาแฟดีๆ หรือที่เรียกว่า “สเปเชียลตี คอฟฟี” (Specialty Coffee) มันมีอะไรมากกว่าแค่กาแฟที่ชงออกมาแล้วเป็นน้ำสีดำๆ รสขมๆ จากวันนั้น ผมเริ่มตระเวนดื่มกาแฟไปเรื่อยๆ พร้อมมองหาโอกาสทางธุรกิจว่า ผมจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโลกของกาแฟได้อย่างไร?”
ในเวลานั้นต่อยอมรับว่าธุรกิจร้านกาแฟไม่เคยอยู่ในหัวเขามาก่อน เพราะมองว่าเป็นโจทย์ที่ยาก เขาจึงเริ่มต้นศึกษาต้นตอของกาแฟ ตั้งแต่เฟ้นหาเมล็ดกาแฟคุณภาพ หรือที่เรียกว่า กาแฟสาร (Green Coffee Beans)
“ผมเริ่มมองหาโมเดลธุรกิจที่เป็นไปได้ พอคำนวณดูแล้วว่าน่าสนใจ ผมตัดสินใจไปเซอร์เวย์ไร่กาแฟที่ภาคเหนือ ตั้งแต่การปลูกเมล็ดกาแฟ ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตของเกษตรกรว่าต้องทำงานบนที่สูง เพราะต้องปลูกในป่า ในที่เย็น ต้องใส่เสื้อกันหนาวทำงาน อาชีพปลูกกาแฟจึงเหมือนการได้ท่องเที่ยวไปในตัว” ต่อเล่าความประทับใจ
จากความชอบที่นำมาสู่ธุรกิจใหม่ ชักนำให้เขารู้จักกับ "ต๋อง-สุรพันธ์ ทันตา" สถาปนิกผู้ผันตัวมาเป็นผู้ก่อตั้งร้านกาแฟชื่อดัง "คาซ่า ลาแปง"
“ผมเจอกับคุณต๋องที่คาซ่า ลาแปง สาขาสุขุมวิท 49 คุยกันถูกคอจนเริ่มสนิทสนม เพราะคุณต๋องได้นำเมล็ดกาแฟไทยของผมไปลองใช้ที่ร้านด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งเราไปเชียงใหม่ด้วยกัน ขากลับตอนนั่งอยู่บนเครื่องแกชวนผมมาทำงานด้วยกัน ผมก็ตอบตกลงทันที ช่วงแรกผมช่วยดูเรื่องระบบ จนกระทั่งตอนหลังกลายเป็นหุ้นส่วน”
ต่อยอมรับว่าแม้จะตั้งต้นจากความรักในกาแฟ แต่พอได้สัมผัสธุรกิจร้านกาแฟซึ่งมีการแข่งขันสูง เขาต้องทำการบ้านหนักมาก
“ก่อนหน้านี้ผมชงกาแฟไม่เป็น ก็มาหัดชงในร้านนี้แหละ มีความสุขทุกครั้งที่ชง ผมถึงยกให้อาชีพบาริสตาเป็นอาชีพที่มีเสน่ห์ นอกจากจะได้ชงกาแฟอร่อยๆ ยังได้เจอผู้คนที่หลากหลาย ยังได้เล่าเรื่องราวของกาแฟผ่านกาแฟที่ชง ตอนนี้ผมอินกับกาแฟมากเรียกว่าอยู่ในสายเลือดเลย (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้ถ้ามีโอกาสเดินทาง ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ผมต้องไปตามหาร้านกาแฟก่อนเลย แต่ผมอาจจะต่างจาก Cafe hopper ทั่วไปคือ ผมไม่ได้เน้นที่บรรยากาศของร้าน แต่เน้นที่รสชาติของกาแฟเป็นหลัก”
ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมกาแฟไทยจึงยังไม่สามารถไปสร้างชื่อในต่างประเทศได้นั้น ต่อสะท้อนมุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้องเริ่มจากการสร้างฐานในประเทศให้แข็งแรงก่อน
“เพื่อยกระดับแบรนด์กาแฟไทยไปสู่สากล คาซ่า ลาแปง ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท คอฟฟี่ โปรเจคท์ จำกัด มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจกาแฟเป็นหลัก ได้ร่วมกับบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด ตอนนี้มีแผนจะขยายคาซ่า ลาแปง ไปสิงคโปร์ โซล โตเกียว และไทเป”
สำหรับแหล่งปลูกกาแฟสำคัญของโลกที่ทุกคนรู้จักคือ แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ แต่ระยะหลังเริ่มมีแหล่งปลูกใหม่ๆ อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว พม่า และไทย ซึ่งมีจุดเด่นมาก เพราะประเทศไทยโด่งดังในฐานะต้นกำเนิดอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกอยู่แล้ว
“ไทยมีศักยภาพในการปลูก คั่ว และชงกาแฟได้ทัดเทียมระดับโลก อย่างปีนี้เป็นปีแรกที่บาริสตาไทยคว้าอันดับ 13 ของโลกมาครองได้สำเร็จ ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำให้ประเทศไทยมีกาแฟอะราบิกามาขยายพันธุ์ เมื่อบวกกับการคั่วและทักษะการชงที่ดี ทำให้เราเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟไทยที่อร่อยไม่แพ้ใคร และยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปลูกกาแฟเองและมีร้านกาแฟที่ดีเป็นของตัวเอง ต่างจากเชนร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ของโลก ล้วนไม่ใช่ประเทศผู้ปลูกกาแฟเอง
ชวนคุยเรื่องหนักๆ มาหอมปากหอมคอ ถือโอกาสคุยเรื่องไลฟ์สไตล์วันว่างกันบ้าง
“ผมเป็นคนทำงานหนักมาก แต่ระยะหลังพยายามหาสมดุลให้ชีวิตด้วยการออกกำลังกาย เข้ายิมฯ 2 วัน/สัปดาห์ และตีกอล์ฟ 2 วัน/สัปดาห์ ควบคู่กับการดูแลเรื่องอาหาร กินผักผลไม้เยอะๆ กินเนื้อสัตว์ให้น้อยๆ ส่วนวิธีพักสมองของผมคือออกกำลังกาย เพราะเวลาอยู่ในยิมฯ จะไม่คิดเรื่องงาน ทำให้ไม่เครียด ส่วนสุขภาพที่ได้มาถือเป็นของแถม ผมเพิ่งเริ่มทำจริงจัง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากแต่ก่อนสมัยเด็กผมชอบกีฬามาก เล่นทุกอย่าง แต่พอทำงานเวลาน้อยลงก็ค่อยๆ เลิกไปทีละอย่าง”
นอกจากนี้ การเดินทางยังเป็นอีกสิ่งที่รัก แต่ด้วยเงื่อนของเวลาทำให้ไม่สามารถตามใจตัวเองได้
“ผมชอบเดินทางนะ แต่ด้วยหน้าที่การงานที่ค่อนข้างรัดตัว ผมเป็นพวกเพอร์เฟกชันนิสต์ ทำให้การเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ทุกปีผมจะไปร่วมงานแฟร์เกี่ยวกับกาแฟ แต่ส่วนใหญ่จะไปแค่ในเอเชีย ส่วนเวลากับครอบครัว ผมโชคดีที่ภรรยาเป็นคอกาแฟเหมือนกัน เลยมักจูงกันไปหากาแฟอร่อยๆ ดื่ม แล้วได้มีหัวข้อสนทนาที่จะคุยกัน” ต่อเล่าอย่างอารมณ์ดี
หากเปรียบตัวเองเป็นกาแฟสักถ้วย ต่อบอกว่า “ผมคงเป็นลาเต้รสกลมกล่อม เพราะลาเต้เป็นส่วนผสมของเอสเพรสโซที่เปรียบเหมือนตัวผมเวลาการทำงานที่ค่อนข้างจริงจัง แต่ก็ถูกเบลนด์รสชาติด้วยโฟมนมที่หอมและนุ่ม ทำให้ชีวิตไม่ขมเกินไป 4 ปีก่อนที่ผมจะมาเริ่มออกกำลังกาย ผมทำงานหนักมาก เคยเครียดจนต้องเข้าโรงพยาบาล ตอนนั้นผมเริ่มคิดว่าชีวิตไม่ลาเต้แล้ว เป็นเอสเพรสโซเพียวๆ เลยต้องหันมาปรับสมดุล จนตอนนี้ชีวิตเป็นลาเต้รสกลมกล่อม เมนูโปรดที่ผมสั่งเป็นประจำครับ”