xs
xsm
sm
md
lg

[เซเลบแฝด] ภิรดา-ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา แฝดสาวสไตล์อาร์ต กอดคอกันโกอินเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


11th Anniversary Celeb Online Magazine
ในโอกาสครบรอบ 11 ปี พบกับสัมภาษณ์พิเศษเซเลบริตี้คู่แฝดที่ประสบความสำเร็จ 11 คู่ ตลอดเดือนตุลาคมนี้

>>หากย้อนไปสักช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ไทยดีไซเนอร์กำลังเริ่มสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก ชื่อของ “ภิรดา” และ “ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา” ดูจะเป็นชื่อที่คุ้นหูในฐานะนักออกแบบรุ่นใหม่ สองสาวที่นอกจากจะเกิดมาพร้อมกันแล้วเธอยังมีไอเดียที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวร่วมมือกันนำพาผลงานของคนไทยภายใต้ชื่อ Trimode สร้างผลงานที่โดดเด่นมีชื่อเสียงทั้งในเมืองไทยและยังไปคว้ารางวัลอื่นๆ มาจากต่างประเทศอีก

“หงส์-ภิรดา” และ “หยก-ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา” แฝดแท้ที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ทั้งสองออกมาลืมตาดูโลกห่างกันเพียง 4 นาที ซึ่งเมื่อสืบไปสืบมานั้นความเป็นแฝดของเธอสองคนส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรมทางครอบครัวคุณแม่ที่ก็มีญาติเป็นฝาแฝดด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้ง “หงส์และหยก” เป็นฝาแฝดที่โตขึ้นมาด้วยความเป็นเพื่อน กอดคอทั้งเล่นและเรียนมาด้วยกัน

“ตั้งแต่เด็กจนโต คุณแม่จับแต่งตัวเหมือนกันตลอดเวลา เราโตกันมาเหมือนเพื่อน เพิ่งจะมาเปลี่ยนสไตล์ของตัวเองตอนโต เริ่มแต่งตัวไม่เหมือนกันตอนวัยรุ่น” หงส์ฝาแฝดผู้พี่เล่าให้เราฟังถึงการถูกเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก

ขณะที่หยกคนน้องก็ช่วยเสริมเรื่องราวความเหมือนความต่างตอนเด็กๆ ว่า “คุณแม่เป็นคนชอบงานฝีมืองานประดิษฐ์ ตอนเด็กๆ คุณแม่ชอบพาไปเลือกผ้า แล้วก็แมตช์ชุดให้เหมือนกัน เวลาไปไหนมาไหนจะแต่งตัวเหมือนกันมาก แต่จะมีสัญลักษณ์นิดหนึ่ง คือ ตอนเด็กๆ หงส์จะใส่กำไรสีฟ้า ส่วนของหยกจะเป็นสีชมพู ซึ่งก็เป็นสีที่ต่างคนต่างชอบอยู่แล้ว”

ดูเหมือนการพูดถึงเรื่องกำไรสีที่เป็นสัญลักษณ์ตอนเด็กๆ จะเป็นเรื่องกระตุ้นความทรงจำให้กับหงส์แฝดผู้พี่ที่นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้และรู้สึกตื่นเต้นเมื่อเล่าย้อนถึงอดีตของสองแฝด “ใช่แล้วค่ะ มีกำไลข้อมือเป็นสัญลักษณ์สีฟ้ากับสีชมพู เคยไปเปิดรูปตอนเด็กๆ เราเหมือนกันจนแยกไม่ออก ไม่รู้ว่าตัวเองในรูปภาพคือคนไหน ก็ต้องพยายามมองดูข้อมือว่าเป็นสีอะไร (หัวเราะ)”

แต่ดูเหมือนว่าความตื่นเต้นในความเป็นแฝดจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับแฝดคู่นี้ เพราะทั้งสองโตมาในโรงเรียนที่มีคู่แฝดเหมือนกัน เรียนชั้นเดียวกันอีกถึง 9 คู่!! ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วถือว่าเป็นจำนวนคู่แฝดที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

หงส์ : “มีเรื่องน่าแปลกใจคือ รุ่นที่เราเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนแวนต์ มีฝาแฝดเยอะมาก จำได้ว่าโรงเรียนเคยจัดเดินแฟชั่นโชว์แฝดด้วย ตอนนั้นมีประมาณ 9 คู่ ถือว่าเป็นรุ่นที่มีฝาแฝดเยอะมาก เราเห็นคู่อื่นเขาเป็นแฝดที่เหมือนกันมากๆ แต่เราไม่ค่อยเหมือนเลยรู้สึกว่าเราเป็นฝาแฝดที่ไม่เหมือน ตอนเรียนก็เรียนคนละห้อง เราไม่เคยเรียนห้องเดียวกันเลย แยกห้องเรียนกันตลอด แต่เรื่องสลับตัวเปลี่ยนห้องเรียน เราก็เคยสลับกันบ้าง อาจารย์ก็ไม่รู้เพราะบางทีอาจารย์เขาก็ไม่ได้คลุกคลีกับเรามาก แต่เพื่อนๆ ก็จะรู้เพราะบุคลิกเราไม่ค่อยเหมือนกัน”

หยก : “หงส์เขาจะเรียบร้อย นิ่งๆ เรียนเก่ง แต่หยกจะซ่าๆ โดนเรียกผู้ปกครองบ่อยๆ จุดที่ทำให้เพื่อนๆ จำได้คงเป็นเรื่องของบุคลิก แต่เวลาเพื่อนโทรศัพท์มาบ้านแล้วได้ยินเสียงเขาจะแยกไม่ออกเลยนะว่าใครรับ ซึ่งเราก็ชอบแกล้งเพื่อนประจำ”

เมื่อถูกเราถามถึงเรื่องจิตสัมผัสของฝาแฝดที่หลายๆ ครั้งเรามักจะได้ยินเรื่องมหัศจรรย์ที่ไม่มีคำอธิบายกับเธอสองคนนั้น เธอตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงน้อยใจเล็กๆ เพราะว่าอยากจะมีฟีลนั้นเหมือนแฝดคู่อื่นเขาบ้าง

หยก : “ชอบมีคนถามเรื่องเซนส์ที่สื่อถึงกันนั้น เราไม่เคยมี จึงรู้สึกว่าอยากมีบ้าง (หัวเราะ) แต่อาจจะมีแค่เรื่องของใจตรงกัน เช่น บังเอิญแต่งตัวมาเหมือนกัน จะทำบางอย่างเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่าเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นได้กับคนที่สนิทกันมากๆ ซึ่งเราก็สนิทกันมากจริงๆ”

หงส์ : “เราอยู่ห้องเดียวกันตั้งแต่เด็ก ที่จริงพอโตหน่อยคุณแม่ก็แยกห้องให้ แต่กลายเป็นว่าห้องนึงพวกเราก็เอาไว้เก็บเสื้อผ้า กระเป๋า แล้วก็ยังมานอนด้วยกันอยู่ดี (หัวเราะ) เริ่มห่างกันจริงๆ คงเป็นช่วงที่ไปเรียนต่อ หงส์ไปเรียนที่อังกฤษ แล้วหยกก็ไปเรียนต่อที่อิตาลี”

และนอกจากความเหมือนทางภายนอกแล้ว แฝดคู่นี้ยังมีความชอบที่เหมือนกันคือเรื่องของ “ศิลปะ” ที่ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูและฝึกฝีมือมาจากครอบครัวตั้งแต่เด็ก โดยทั้งสองเล่าให้ฟังว่านอกจากคุณแม่ที่ชอบด้านงานประดิษฐ์และตัดเย็บแล้ว ยังมีคุณตาที่แม้ว่าอาชีพหลักจะเป็นคุณหมอ แต่ก็มีงานอดิเรกคือการทำเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้าน นอกจากนั้นคุณย่ายังจับเด็กๆ ไปฝึกเพนต์กระจก เพนต์ขวดแก้วจนทำให้ทั้งสองเดินมาบนเส้นทางงานศิลปะ

หงส์ : “เราอาจได้อิทธิพลมาจากคุณแม่ คุณตา คุณย่า ที่ทำให้เราชอบเรื่องของงานศิลปะตอนเอนทรานซ์อยากเรียนอินทีเรียมาก แต่คะแนนไปติดคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เราก็ชอบและทำมันได้ดี เลยมาทางนี้เลย สลับกับหยกที่เขาติวมาทางเครื่องประดับแต่เขาสอบเข้าสาขาอินทีเรียได้”

หยก : “จริงๆ ก่อนหน้านี้เราติวด้านเครื่องประดับมา แต่สอบเข้าเรียนได้สาขาออกแบบตกแต่งภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เหมือนกัน สลับกันเลย (หัวเราะ)”

หลังจากเรียนจบทั้งสองต่างเก็บกักฝีมือ และไฟในการออกแบบไว้อย่างเต็มเปี่ยม มีการส่งผลงานเข้าประกวดและคว้ารางวัลต่างๆ มากมาย จนสุดท้ายได้มาคุยกันว่าควรจะมารวมพลังกันเพื่อสร้างผลงานดีไซน์ให้เป็นที่ประจักษ์ถึงฝีมือคนไทย จึงรวมตัวกันระหว่างสองแฝดและเพื่อนชาย (ชินภานุ อธิชาธนบดี) หุ้นส่วนอีกหนึ่งคน ภายใต้ชื่อ “Trimode” ที่ประกอบด้วย “หงส์-ภิรดา” ผู้รักในงานออกแบบเครื่องประดับ “หยก-ภารดี” ผู้เชี่ยวชาญในงานออกแบบภายในและงานออกแบบผลิตภัณฑ์ และ “นิ-ชินภานุ อธิชาธนบดี” ชอบทดลองและค้นคว้าวัสดุใหม่ๆ เพื่อมาใช้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์

หยก : “ตอนมารวมตัวกันตอนนั้นเพราะต่างคนต่างมีผลงาน แม้ว่าผลงานของเราจะเป็นคนละแนว แต่เมื่อลองมาคุยกัน ไอเดียของเราคล้ายกัน ก็เลยรวมกันทำเป็น “Trimode Studio” ทำงานออกแบบและงานเครื่องประดับ”

หงส์ : “เราเริ่มทำไตรโหมดมาด้วยกัน แต่ ณ ปัจจุบัน เราโตขึ้น ไตรโหมดจึงแยกออกเป็น สองบริษัท คือ Trimode Studio ทำงานในส่วนของดีไซน์เซอร์วิสและงานอินทีเรีย ส่วน “Trimode Accessories” ซึ่งหงส์เป็นไดเรกเตอร์อยู่ ทำเกี่ยวกับสินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ และสินค้าไลฟ์สไตล์ ตอนนี้นอกจาก Trimode จะมีวางขายในประเทศไทยแล้วก็ยังมีที่ต่างประเทศ อย่างเกาหลี ฝรั่งเศส ฮ่องกง ซึ่งเราพยายามที่จะผลักดันส่งออกให้ได้เยอะๆ กำลังลองหาช่องทางใหม่ๆ อีก เพราะเราอยากผลักดันจิวเวลรีดีไซน์ของไทยให้เป็นที่รู้จัก

รวมไปถึง “A Found by Trimode” แบรนด์ที่เราได้ไอเดียจากการลงพื้นที่ในชุมชน เราอยากนำสินค้าเหล่านั้นมาต่อยอด ซึ่งเราเข้าไปช่วยดูให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ”

หยก : “ดูเรื่องของงานอินทีเรีย สัดส่วนงานของบริษัทเรียกได้ว่า 90% เป็นงานอินทีเรีย ส่วนใหญ่งานจะเป็นเรื่องแฟชั่นรีเทลกับร้านอาหาร ปีหน้าก็เตรียมเห็นผลงานดีไซน์เซอร์วิสที่เน้นเป็นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ด้วย ตอนนี้วงการอินทีเรียบูมมาก เราเน้นเป็นงานคอนแทกต์เข้าตามโครงการต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ โปรเจกต์ใหญ่ๆ ล่าสุดก็อย่างเช่น โซน คิวเรเตอร์ (Qurator) ที่ ดิเอ็มควอเทียร์ ที่เป็นศูนย์รวมผลงานดีไซเนอร์ไทยที่มากที่สุด ซึ่งทางเราเป็นผู้ออกแบบผังโซนนี้ และโซนฟู้ดฮอลล์ด้วย”

งานแต่ละงานที่ Trimode ทำสังเกตได้ว่ามักจะมีคาแรกเตอร์ของความเป็น Trimode อยู่ด้วย โดยคาแรกเตอร์ที่คนจำได้ก็น่าจะเป็นการสอดแทรกแนวคิดความเป็นไทย เส้นสายและอารมณ์ที่ทำให้คนจดจำได้ และคาแรกเตอร์นั้นยังเป็นคาแรกเตอร์สุดอาร์ตของสองสาวฝาแฝดอีกด้วย

Same Same But Different

:: รูปลักษณ์ภายนอก
ภายนอกจุดสังเกตก็คือ “หงส์” แฝดผู้พี่มีแผลเป็นจางๆ ที่แก้มขวา ซึ่งเกิดจากการเล่นกันของสองฝาแฝดนั่นเอง โดย “หยก” ผู้สร้างวีรกรรมนั้นเล่าให้เราฟังว่า “ตอนนั้นเล่นเกมโหดมันฮา จำลองกันในบ้าน เอาเก้าอี้มาวางแล้วก็กระโดดๆ ไปตามเก้าอี้ ปรากฏว่าหงส์ไม่กระโดดไปข้างหน้า ประกอบกับหยกกระโดดตามมาพอดี เลยชนกัน หยกตกลงมาหน้ากระแทกกับมุมห้อง แตกต้องไปเย็บที่โรงพยาบาล ตอนเด็กๆ เห็นชัดนะ แต่โตขึ้นมามองไม่ค่อยชัดแล้ว”

:: ลักษณะนิสัย
แม้กายภาพภายนอกจะคล้ายกัน แต่เรื่องของลักษณะนิสัยก็แตกต่างกันบ้าง อย่างบุคลิกภายนอกของแฝดผู้พี่ ‘หงส์’ จะดูแมนๆ นิดๆ แต่นิสัยภายในกลับเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อน รอบคอบ จดจำได้ดีทุกเรื่อง ส่วน ‘หยก’ แฝดคนน้องจะเป็นแนวซ่าๆ รักสนุก :: Text by FLASH
กำลังโหลดความคิดเห็น