การมาของ ICONIA TAB A510 คงจะเปรียบเหมือนรุ่นไมเนอร์เชนจ์ของแท็บเล็ตขนาด 10.1 นิ้ว ภายใต้แบรนด์เอเซอร์ ที่ทำการอัปเกรดชิปหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่เป็น Tegra 3 พร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 ดังนั้นความสามารถของ A500 และ A510 จึงไม่แตกต่างกันมากนัก จะเน้นไปในมุมของการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ตัวเครื่องมากกว่า
ในจุดนี้เอเซอร์พยายามชูความร่วมมือกับโอลิมปิกในการที่เข้าไปสนับสนุน ส่งผลให้มีตราโอลิมปิกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่อง เพิ่มความรู้สึกให้เหมือนเป็นรุ่นพิเศษ โดยในรุ่นใหม่ขนาด 10 นิ้วนีจะมีด้วยกัน 2 รุ่นคือ A510 และ A511 แตกต่างกันที่รองรับเฉพาะไวไฟ และ ไวไฟ+3G
การออกแบบและสเปก
ในแง่ของการออกแบบ A510 นั้นถือว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจาก A500 อย่างเห็นได้ชัด ด้วยรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงกัน ปรับเพิ่มด้วยขนาดให้ดูบางขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับตัดพอร์ตขนาดใหญ่อย่างยูเอสบีออกไป ทำให้สามารถทำขนาดได้บางลง ด้วยขนาดตัวเครื่อง 260 x 175 x 10.95 มิลลิเมตร น้ำหนัก 685 กรัม วางจำหน่ายด้วยกันสองสีคือ เทา และ ดำ
ด้านหน้า - เอเซอร์เรียกชื่อหน้าจอที่นำมาใช้ว่า Soda-Lime HD Display ให้ความละเอียดหน้าจอ 1280 x 800 พิกเซล ขนาด 10 นิ้ว โดยมีกล้องหน้าความละเอียด 1 ล้านพิกเซลอยู่บริเวณขอบบน ที่เยื้องไปทางฝั่งขวาจะเป็นตักอักษรสกรีนชื่อรุ่น ICONIA TAB และมีสัญลักษณ์เอเซอร์อยู่กึ่งกลางส่วนล่างหน้าจอ
ขณะที่ด้านหลังมีการสกรีนสัญลักษณ์เอเซอร์ และโลโก้กีฬาโอลิมปิกเข้าไป เนื่องจากเอเซอร์ถือเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์หลักของการแข่งขัน โดยพื้นผิวส่วนใหญ่จะให้สัมผัสฝืดๆจากลายจุดถี่ๆที่พื้นผิว ซึ่งจะมีกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซลอยู่ที่ส่วนบนของเครื่อง ภายในบรรจุแบตเตอรีขนาด 9,800 mAh เอาไว้
ส่วนพอร์ตการเชื่อมต่อและปุ่มรอบเครื่องไล่จากฝั่งซ้ายประกอบไปด้วยปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ฝั่งขวามีพอร์ต MicroHDMI และช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด (ซิมการ์ดสำหรับรุ่น A511) ซึ่งในส่วนนี้จะมีฝาพลาสติกปิดอยู่ ด้านบน มีปุ่มล็อกการหมุนหน้าจอ ปุ่มปรับระดับเสียง และไมโครโฟน ด้านล่างมุมซ้ายขวา เป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอ โดยตรงกึ่งกลางมีพอร์ตไมโครยูเสอบี และปุ่มรีเซ็ตเครื่อง
สำหรับสเปกภายในของ Acer Iconia Tab a510 มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Nvidia Tegra 3 ซึ่งเป็นควอดคอร์ความเร็ว 1.3 GHz RAM 1 GB ให้หน่วยความจำภายใน 32 GB รองรับไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติม ในส่วนของการเชื่อมต่อรองรับบลูทูธ ไวไฟ จีพีเอส ซึ่งในรุ่น a511 จะสามารถใส่ซิมการ์ดเพื่อเชื่อมต่อการใช้งาน 3G ได้
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ในส่วนของอินเตอร์เฟส และฟีเจอร์นั้น แทบไม่มีความแตกต่างจากในรุ่น A200 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพราะเป็น Acer UI ที่มีเพิ่มความสามารถของวงแหวนขึ้นมา และเนื่องจากปัจจุบันเครื่องรุ่นเก่าก็สามารถอัปเกรดเป็นแอนดรอยด์ 4.0 (Ice Cream Sanwich) เหมือนกัน ส่งผลให้ความสามารถหลักๆแทบไม่แตกต่างจากเดิม
เริ่มกันที่หน้าจอหลักตามรูปแบบของ ICS กล่าวคือเป็นหน้าจอโล่งให้นำวิตเจ็ตมาใส่ โดยมุมซ้ายล่างมีปุ่มย้อนกลับ โฮม และเรียกดูแอปฯที่เปิดใช้งาน ส่วนมุมขวาล่างก็จะเป็นแถบแสดงสถานะ เวลา เข้าสู่การตั้งค่าด่วน แบตเตอรีเป็นต้น ซึ่งความพิเศษของ Acer UI คือมีวงแหวนพิเศษที่เรียกใช้จากปุ่มวงกลมเขียวๆตรงกลางล่างหน้าจอ
เมื่อเรียกขึ้นมาก็จะมีแถบให้ปรับเสียงอยู่ฝั่งซ้าย ตรงกลางเป็นไอค่อนลัด 4 ทิศทาง ส่วนฝั่งขวาเป็นหน้าเว็บไซต์ที่ทำการบุ๊กมาร์คไว้ ซึ่งไอค่อนลัดเหล่านี้สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ในส่วนของ Ring ซึ่งในส่วนของวงแหวนนี้ก็จะมีให้เลือกขณะปลดล็อกหน้าจอด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาจะครอบคลุมการใช้งานทั่วๆไปทั้งหมด ไม่ว่าจะการจัดการไฟล์ สแกนบาร์โค้ด เว็บเบราว์เซอร์ เครื่องคิดเลข ปฏิทิน กล้อง ระบบแชร์มีเดีย นาฬิกา อีเมล ดูรูปภาพ แอปฯอ่านอีบุ๊ก แผนที่ ตัดต่อวิดีโอ เพลง ตัดจัดการเอกสาร บันทึกเสียง แอปฯค้าหาชื่อเพลง และยูทูปเป็นต้น
ในการใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ เนื่องจากเป็นเวอร์ชันของแท็บเล็ต รูปแบบการใช้งานจะค่อนข้างคล้ายคลึงกับใช้งานบนคอมพิวเตอร์ ใช้งานแฟลชได้ ความลื่นใหลในการใช้งานถือว่าติดนิ้วดี มีระบบ Incognito สำหรับท่องเว็บแบบไร้ตัวตน พร้อมระบบบุ๊กมาร์คให้ใช้งานตามปกติ
ตัวจัดการไฟล์อย่าง ASTRO File Manager เข้ามาช่วยจัดการไฟล์ในเครื่อง รวมถึงกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับแฟลชไดร์ฟ หรือ ฮาร์ดดิสก์ภายนอก ก็สามารถเข้ามาจัดการไฟล์จากในแอปฯดังกล่าวได้
ส่วนของการใช้งานกล้อง ยังเป็นเวอร์ชันเดิมๆของเอเซอร์ เน้นความง่ายในการใช้งาน มีปุ่มชัตเตอร์สีฟ้า ที่มีวงล้อสำหรับกดซูม โดยมีไอค่อนสลับกล้องหน้าหลัง และเข้าสู่การตั้งค่ากล้องอื่นๆ ส่วนการเปลี่ยนโหมดบันทึกภาพจะอยู่ที่มุมขวาล่างจากภาพนิ่ง ภาพวิดีโอ และภาพพาโนรามา
สำหรับ LumiRead ถือว่าเป็นแอปฯสำหรับอ่านอีบุ๊กที่น่าสนใจตัวหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถเปิดอ่านไฟล์ หลังจากนั้นสามารถเน้ประโยค หรือทำแถบดำแล้วค้นหาข้อมูลของคำดังกล่าวได้ หรือจะแชร์ข้อมูลดังกล่าวไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์กก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังสามารถปรับขนาดตัวอักษร ความสว่างหน้าจอ การเว้นช่องไฟของตัวอักษรได้
ขณะที่ในส่วนของ ClearFi แฟนๆผู้ใช้งานคอมพ์เอเซอร์ คงจะคุ้นๆกันดีกว่าเป็นแอปฯสำหรับแชร์ไฟล์ผ่านระบบ DLNA ที่ทำงานร่วมกับ Media Server ที่ใช้แชร์คอนเทนต์อย่างวิดีโอ ภาพ เพลง ไปยังอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่ออยู่ภายในเครือข่ายเดียวกันนั่นเอง
นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้งานอีเมล ยูทูป เข้าแอปฯในส่วนของ Nvidia Tegra Zone เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร และเข้าไปดาวน์โหลดเกมที่ใช้หน่วยประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าทีมงานได้ทำการทดลองดาวน์โหลดเกมต่างๆมาลองใช้งานกัน การตอบสนองของเกมที่ใช้การประมวลผลสูงๆ ภาพสวยๆ ก็สามารถเล่นได้อย่างลื่นไหลดี ไม่มีอาการกระตุกให้เห็น แต่เพียงว่าขนาดหน้าจอใหญ่ ทำให้ปุ่มบังคับใหญ่ตามไปด้วย อาจไม่สะดวกกับคนที่มือเล็ก
ส่วนของการตั้งค่า ก็เป็นไปตามปกติของ ICS ที่มีให้เลือกตั้งค่าการเชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ ดูปริมาณการใช้งานดาต้า เข้าไปตั้งค่า VPN ส่วนการตั้งค่าดีไวส์ก็จะเป็นการปรับเสียง ตั้งหน้าจอ ดูหน่วยความจำ สถานะแบตเตอรี จัดการแอปฯ ตั้งค่าบัญชีผู้ใช้ ระบบจีพีเอส ความปลอดภัย ภาษา การสำรองข้อมูล วันเวลา ส่วนของนักพัฒนา และข้อมูลทั่วไปของแท็บเล็ต
ในส่วนของผลการทดสอบ A510 ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 3881 และ 11088 ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark2 ได้เฟรมเรต 53.2 An3DmarkXL ได้ 38722 คะแนน โดยรวมถือว่าคะแนนออกมาค่อนข้างสูงตามสเปกที่ให้มาเลยทีเดียว
จุดขาย
- แท็บเล็ต ขนาด 10 นิ้ว ประสิทธิภาพสูง ที่รองรับการใช้งานได้ค่อนข้างครบครัน
- ความพิเศษของ Usb Connecter บน ICS ที่ช่วยให้ต่อพ่วงกับอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น
- ระยะเวลาการใช้งานมากกว่า 10 ชั่วโมงขึ้นไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน
- เนื่องจากใช้ Tegra 3 ทำให้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ของ Nvidia ที่เป็นเกมจำนวนมากได้
- มีพอร์ต MicroHDMI ให้สามารถเชื่อมต่อกับจอภาพได้ทันที
- เพิ่มหน่วยบันทึกข้อมูลจากไมโครเอสดีการ์ดได้
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ตัวเครื่องแม้จะมีการออกแบบให้บางลง แต่ด้วยความที่หน้าจอมีขนาดใหญ่ ทำให้การพกพาค่อนข้างยาก
- ฝาหลังค่อนข้างลื่น ทำให้จับมือเดียวไม่ค่อยถนัด และจากน้ำหนัก 685 กรัม ใช้ไปนานๆ ก็เมื่อมือเหมือนกัน
- อินเตอร์เฟสของ Acer Ui ไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่
- แม้ว่าจะมีพอร์ตไมโครยูเอสบี แต่ในการชาร์จไฟยังต้องใช้หัวแบบเฉพาะในช่องเดียวกันที่มีความยาวหัว และเหลี่ยมแตกต่างจากขนาดมาตรฐาน
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
กับกลุ่มผู้ใช้งานที่เน้นการเสพย์ข้อมูล และใช้งานมัลติมีเดีย Acer A510 ถือเป็นอีกหนึ่งแท็บเล็ตที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้งานได้ครบครันเพราะตัวเครื่องรองรับความสามารถโดยรวมของแอนดรอยด์ 4.0 แทบทั้งหมด เพียงแต่ด้วยความที่เป็นสไตล์เอเซอร์ ทำให้โดยเฉลี่ยๆแล้วไม่มีความโดดเด่นจากแท็บเล็ตหลายๆแบรนด์ในตลาด
โดยในส่วนของการใช้งานนั้น A510 รองรับการใช้งานทั้งในแง่ของการทำงานเอกสาร เนื่องจากมีการแถบสายไมโครยูเอสบี-ยูเอสบี ร่วมกับความสามารถในงานใช้งานอุปกรณ์ต่อพ่วงของ ICS ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อกับเมาส์ คีย์บอร์ด แฮนดี้ไดร์ฟ ฯลฯ ผ่านพอร์ตไมโครยูเอสบีได้ ซึ่งปัจจุบันโปรแกรมจัดการเอกสารต่างๆในกูเกิล เพลย์ก็มีเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ
กลับกันในแง่ของมัลติมีเดียนั้น จากความแรงของหน่วยประมวลผล Tegra 3 ทำให้ไม่ต้องกังวลในด้านการเล่นไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูงทั้งในตัวเครื่อง และการต่อออกจอภาพผ่านพอร์ตไมโครเอชดีเอ็มไอ จึงหายกังวลได้ ส่วนการใช้งานท่องเว็บไซต์ด้วยขนาดหน้าจอ 10 นิ้ว และเว็บเบราว์เซอร์ที่ให้มาถือว่าใช้งานได้ลื่นไหลดี
สำหรับ Acer ICONIA TAB A510 Olympic Edition ราคาเริ่มต้นที่ 15,900 บาท และ Acer ICONIA TAB A511 Olympic Edition ราคาเริ่มต้นที่ 18,900 บาท พร้อมฟรีรับประกันอุบัติเหตุ โจรกรรม และ ก่อการร้าย 1 ปี และ International Warranty ฟรี 1 ปี
ตัวเลือกอื่น
- ASUS Transformer Prime
- iPad 2
- Samsung Galaxy Tab 10.1
Company Related Links :
Acer