สมาร์ทโฟนที่ถูกจับตามองมากที่สุดจากเหล่าผู้นิยมสมาร์ทโฟนไฮเอนท์ในเวลานี้คงหนีไม่พ้น Sony Xperia S ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเรื่อธงหลังจากการเข้าซื้อหุ้นคือจากอีริคสัน ส่งผลให้ต่อไปนี้แบรนด์การทำตลาดของสมาร์ทโฟนจากโซนี อีริคสันในอดีต เหลือเพียงโซนี และกลับเข้ามาเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของโซนี ไทย
Sony Xperia S ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ออกแบบมาได้ครบครัน พร้อมกับการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมของโซนี มาใส่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลแบบเดียวกับหน้าจอ Bravia การนำเทคโนโลยีถ่ายภาพอย่าง Exmor R มาใช้ รวมกับหลายๆฟีเจอร์ทำให้ Xperia S กำลังจะกลายเป็นสมาร์ทโฟนที่มากู้ชีพโซนีก็เป็นได้
แต่ปัญหาสำคัญของ Xperia S ในตลาดตอนนี้คือ มีจำนวนสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด แถมในเวลานี้ ก็มีสมาร์ทโฟนไฮเอนด์จากค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไต้หวัน ที่นำเครื่องสเปกล่าสุดอย่าง Quad Core เข้ามาทำตลาด ซึ่งถ้าโซนี ยังไม่ขยับตัวเพิ่มเติมจากปัจจุบัน คงได้เสียท่าให้เกมการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดสมาร์ทโฟนเป็นแน่
การออกแบบและสเปก
ดีไซน์หลักของ Xperia S ที่กลายเป็นต้นแบบให้แก่เครื่องรุ่นอื่นที่จะออกตามมาในอนาคตอย่าง Xperia U Xperia P และ Xperia Sola เรียกได้ว่าเป็นการโชว์เอกลักษณ์ในการออกแบบของโซนีได้เป็นอย่างดี ไม่เหมือนกับค่ายเกาหลี ที่ออกแบบมาใกล้เคียงกันแทบทุกรุ่น โดย Xperia S ออกวางจำหน่ายด้วยกัน 2 สี คือ ขาว และ ดำ
โดยตัวเครื่อง Xperia S มีขนาดรอบตัวอยู่ที่ มิลลิเมตร น้ำหนัก กรัม โดยเหตุผลที่ทำให้ตัวเครื่องค่อนข้างหนาคือ กล้องความละเอียด 12 ล้านพิกเซล และการฝังแบตเตอรีขนาดใหญ่ไว้ภายใน เพื่อให้รองรับการทำงานหนักของซีพียูดูอัลคอร์กับหน้าจอขนาดใหญ่ได้
ด้านหน้า - พื้นที่ด้านหน้าส่วนใหญ่ยังคงใช้สีดำเป็นหลักในส่วนของกระจกหน้าจอ แม้ว่าจะเป็นในรุ่นสีขาวก็ตาม ไล่จากส่วนบนจะพบกับตราสัญลักษณ์ SONY สีเงินขนาดใหญ่พาดอยู่กึ่งกลาง ถัดลงมาเป็นช่องลำโพงสนทนา โดยเยื้องไปทางขวาจะมีกล้องหน้า ส่วนทางซ้ายจะมีไฟแสดงสถานะอยู่
ถัดลงมาเป็นหน้าจอขนาด 4.3 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล ซึ่งในจุดนี้มีการนำเทคโนโลยี Bravia Mobile Engine มาใช้ขับประสิทธิภาพในการแสดงผล ใต้หน้าจอถ้าสังเกตุดีๆจะมีจุดอยู่ 3 จุดซึ่งเป็นจุดรับสัมผัสในการกดย้อนกลับ โฮม และเมนู ที่มีการแสดงสัญลักษณ์อยู่ในปริซิมใส ที่โซนีคิดค้นมาให้เป็นเสาอากาศรับสัญญาณโทรศัพท์ ถัดลงมาในส่วนล่างจะมีสัญลักษณ์ Xperia แบบนูนต่ำแสดงอยู่
ด้านหลัง - ฝาหลังของ Xperia S มีการเคลื่อบสารพิเศษ ทำให้สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเช็คสิ่งสกปรกออกจากฝาหลังได้ง่ายๆ แม้แต่รอบเขียนของปากกาหมึกซึม โดยในส่วนหลังเครื่องจะประกอบไปด้วยกล้องความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ไฟแฟลชแอลอีดี และลำโพงสเตอริโอ คู่กับไมค์ที่ช่วยในการตัดเสียง
ส่วนล่างจะมีโลโก้ของโซนี ซึ่งยังนำโลโก้ของโซนี อีริคสันเดิมมาใช้อยู่ ถัดลงมาคือพื้นที่ปริซึมใสๆ ที่สามารถส่องทะลุไปด้านหน้าได้ พร้อมกับสัญลักษณ์ Xperia แบบนูนต่ำเช่นเดียวกับด้านหน้า โดยฝาหลังของ Xperia S สามารถดันขึ้นเพื่อเปิดออกมาใส่ซิมการ์ดได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (ตัวเครื่องไม่สามารถถอดแบตฯได้)
ด้านซ้าย - เป็นที่อยู่ของพอร์ตไมโครยูเอสบี ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีฝาปิด โดยใช้พลาสติกยึดกับตัวเครื่อง ด้านขวา - จะมีพอร์ตไมโครHDMI ที่มีฝาปิดเช่นเดียวกับไมโครยูเอสบี ปุ่มปรับระดับเสียงที่อยู่ถัดลงมา และปุ่มชัตเตอร์แบบ 2 จังหวะ
ด้านบน - มีปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มม. ด้านล่าง - เป็นช่องรายสายโทรศัพท์ สำหรับใส่สายคล้อง หรือห้อยตุ๊กตา โดยมีไมโครโฟนสนทนาอยู่ถัดลงไป
สำหรับสเปกภายในของ Sony Xperia S มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Dual Core 1.5 GHz RAM 1GB หน่วยความจำภายใน 32 GB ซึ่งไม่สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้ รองรับการเชื่อมต่อไวไฟ มาตรฐาน 802.11 b/g/n 3G บนคลื่นความถี่ 850 / 900 / 2100 MHz ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 14.4 Mbps มีจีพีเอส บลูทูธ NFC ให้ใช้งานกัน
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
เป็นที่รู้กันว่าอินเตอร์เฟสคือสิ่งที่เข้ามาเพิ่มความสวยงามให้แก่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ใน Xperia S เองก็เช่นเดียวกัน ที่มีอินเตอร์เฟสเฉพาะตัว ที่เน้นลวดลายคลื่นผสานไปกับสีดำที่แฝงความสงบ ซึ่งในจุดนี้โซนี ได้ใส่ธีมมาให้เลือกใช้กันหลายสีแล้วแต่ความชอบของผู้ใช้ ทั้งเขียว ฟ้า น้ำเงิน เหลือง ชมพู ม่วง
เริ่มกันที่หน้าจอล็อกโทรศัพท์ ในส่วนนี้นอกจากใช้ปลดล็อก และกดปิดเสียงแล้ว ยังใช้แสดงผลเวลา วัน ถ้าเปิดใช้งานเครื่องเล่นเพลงอยู่ ก็จะขึ้นแถบควบคุมมาให้ รวมถึงการแจ้งเตือนสถานะต่างๆ อย่างข้อความใหม่ สายที่ไม่ได้รับ และโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ
เมื่อเข้ามาหน้าในจะเจอหน้าพื้นที่ให้ใส่วิตเจ็ต 5 หน้า แน่นอนว่าสามารถเลือกนำวิตเจ็ตต่างๆมาใส่ได้ด้วยตนเอง โดยจะมีแถบไอค่อนลัดด้านล่างให้ สามารถนำแอปพลิเคชันที่ใช้บ่อยๆ ลากมาวางไว้เดี่ยวๆ หรือรวมกันเป็นโฟลเดอร์ 4 แอปฯ ก็ได้ ส่วนตรงกลางไว้เข้าสู่เมนูหลัก
โดยตัววิตเจ็ตที่น่าสนใจคือแถบควบคุมการทำงานต่างๆของเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิด การเชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ ปรับความสว่างหน้าจอ เปิดใช้ดาต้า เสียง จีพีเอส ซิงค์ โหมดเครื่องบิน แชร์ไวไฟ และตั้งค่าการโรมมิ่งได้จากส่วนนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีในส่วนของการประหยัดพลังงาน การแสดงผลไทม์สแคปเป็นต้น
ในส่วนของไทม์สแคป TimeScape จะเป็นแถบที่รวมข้อมูลใหม่ๆทั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์ก อีเมล ข้อความ การเล่นเพลง รูปภาพ โฟร์สแควร์ เข้ามาไว้รวมกันให้เลือกดูรวม หรือแยกแต่ละประเภทก็ได้ โดยการแสดงผลจะใช้นิ้วลากขึ้นลงเพื่อเลื่อน กดเข้าไปเพื่อดูรายละเอียดแบบเต็มๆ
สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาในเครื่อง ก็จะเป็นแอปพลิเคชันของแอนดรอยด์โฟนทั่วไป เพียงแต่ในบางแอปฯ มีการปรับแต่งการใช้งานให้เป็นอารยะธรรมโซนีมากขึ้น ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดแอปฯต่างๆที่น่าสนใจได้ต่อไป ทั้งนี้ ในหน้าจอเมนู สามารถกดที่สี่เหลี่ยมมุมขวาล่างเพื่อเคลื่อนย้ายแอปฯได้ ส่วนมุมขวาเป็นรูปแบบการจัดเรียง
ก่อนอื่นผู้ใช้งานโซนี ที่คิดว่าจำนวนหน่วยความจำในตัวเครื่องที่ให้มา 32GB นั้นไม่เพียงพอ ทางโซนี ได้ร่วมมือกันทาง Box.net ให้ผู้ใช้งานโซนี สามารถสมัคร และรับฟรีหน่วยความจำบนคลาวด์ 50 GB โดยหลักการทำงาก็คล้ายๆกับทาง Dropbox ที่ให้ผู้ใช้ฝากไฟล์เข้าไปไว้ในระบบ และเรียกใช้จากอุปกรณ์ที่หลากหลายได้
ตัวนาฬิกา นอกจากใช้ตั้งนาฬิกาปลุก ที่เลือกตั้งเฉพาะวันได้ ก็ยังมีในส่วนของเวลาโลก ที่สามารถกดเปรียบเทียบช่วงเวลา กลางวัน- กลางคืนไ้ด้ และก็ยังมีนาฬิกาจับเวลา และนับเวลาถอยหลักให้ได้เลือกใช้กัน ในจุดนี้ถ้าต้องการนำเวลาต่างประเทศมาไว้ที่หน้าจอหลักก็สามารถเลือกได้
โหมดเครื่องเล่นเพลง มีการจัดเรียงเพลงที่เลือกดูได้ทั้งชื่อเพลง อัลบั้ม ชื่อศิลปิน ตามเพลยลิสต์ นอกจากนี้ยังสามารถกดให้ตัวแอปฯ หาข้อมูลเพลงจากคลังข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นก็จมีหน้าปกอัลบั้ม มาให้ใช้กัน แน่นอนว่าสามารถปรับใช้ในแนวนอนได้ด้วย
ก่อนออกจากโหมดเพลง โซนี ได้มีการนำระบบ LiveWare Manager ที่มีความสามารถในการตรวจจับอุปกร์เสริมที่เช่อมต่อเข้ามาในเครื่อง ทั้งหูฟัง ที่ชาร์จ บลูทูธ และสาย HDMI ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกตั้งได้ว่า เมื่อเสียบอุปกรณ์ใดๆเข้ามา จะให้เริ่มการทำงานของแอปฯในเครื่องหรือไม่
โดยในการเสียบสาย HDMI เชื่อมต่อกับจอ ก็จะมีโหมดที่เรียกว่า TV Launcher ขึ้นมาให้สามารถเลือกใช้งานแอปฯเฉพาะอย่างเล่นเน็ต ดูยูทูป เปิดอัลบั้มภาพ เข้าเฟซบุ๊ก อีเมล ที่สามารถใส่เพิ่มเข้ามาได้ ซึ่งในมุมซ้ายบนจะมีแถบเครื่องเล่นเพลงขึ้นมาให้กดเล่นได้ทันที
ตัวอย่างการเสียบสายเชื่อมต่อกับจอ LCD สามารถเปิดใช้งานเว็บไซต์ขนาดใหญ่ ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ความละเอียดสูงได้ทันที ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ถ้าเป็นโทรทัศน์รุ่นใหม่ๆ สามารถใช้รีโมทในการควบคุมการทำงานของโหมดนี้ได้ทันที
การเปิดใช้งานเว็บเบราว์เซอร์บนเครื่อง สามารถใช้งาไนได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน รองรับการใช้งานแฟลช ซึ่งความเร็วในการเปิดใช้ถือว่าตอบสนองการใช้งานได้ดี จากสเปกที่สูง และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั่นเอง
เมื่อ Xperia S มาพร้อมกับหน้าจอขนาดใหญ่ และหน่วยประมวลผลความเร็วสูง ก็จำเป็นต้องมีโหมดประหยัดพลังงานมาให้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถเลือกตั้งได้ว่า จะให้เริ่มโหมดประหยัดพลังงานเมื่อแบตเตอรีเหลือต่ำกว่ากี่ % หรือเลือกเปิดใช้ตามช่วงเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการตัดการเชื่อมต่อ ปรับความสว่างหน้าจอ ปิดการซิงค์
การใช้งานอีเมล ที่มากับเครื่องจะใช้การแสดงผลหัวอีเมล และเนื้อความบางส่วนในหน้าแรก เมื่อกดเข้าไปก็จะโหลดข้อความทั้งหมดมา สามารถกดตอบกลับ หรือส่งต่อได้ง่ายๆ โดยในส่วนตั้งค่าก็จะมีให้ตั้งชื่อ ลายเซ็น ความถี่ในการเช็คข้อมูล รูปแบบการแจ้งเตือน
ตารางปฏิทินใน Xperia S สามารถเลือกดูได้ทั้งแบบรายเดือน รายสัปดาห์ และวัน โดยให้ซิงค์ข้อมูลจากในอีเมล หรือแม้แต่ในเฟซบุ๊กก็ได้ ดังนั้น จะไม่ทำให้ผู้ใช้พลาดวันเกิดของเพื่อนๆ หรือนัดหมายสำคัญต่างๆ แน่นอนว่าเมื่อเพิ่มตารางนัดในนี้ ก็จะซิงค์เข้าไปในอีเมลอัตโนมัติเช่นเดียวกัน
TrackID เป็นแอปฯ ที่ไว้ใช้ในการค้นหารายชื่อเพลง ชื่อนักร้อง โดยใช้แทร็กจากเสียงเพลง เมื่อค้นหาเจอแล้วถ้าใช้งานในต่างประเทศสามารถกดเข้าไปดาวน์โหลดได้เลย (ในไทยยังไม่เปิดใช้) กดแชร์ไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์ก ค้นหาในยูทูปได้ และยังสามารถเลือกดูชาร์จเพลงยอดนิยมในไทยได้
โหมดโทรศัพท์ใน Xperia S จะใช้รูปแบบการเดาสุ่มเบอร์จากตัวเลข และตัวอักษรได้ ทำให้สามารถกดดูรายชื่อได้ง่าย และสะดวกขึ้น ขณะเดียวกันในหน้าจอสนทนา ก็จะแสดงชื่อ เบอร์ และเวลาที่ใช้สนทนา โดยในหน้าจอสามารถกดเข้าไปดูรายชื่อผู้ติดต่อ เปิดลำโพง ปิดไมค์ และเรียกปุ่มกดขึ้นมา และมีปุ่มวางสายขนาดใหญ่อยู่ล่างสุด
นอกจากนี้ก็ยังมีแอปฯย่อยๆ อย่าง News ที่ทางโซนีจะนำแอปพลิเคชันใหม่ๆที่น่าสนใจมาแนะนำ Playnow เป็นแหล่งดาวน์โหลดคอนเทนต์เสริมของโซนี Update Center ไว้ตรวจสอบการอัปเดตเวอร์ชันของเครื่อง โดยสามารถอัปเดตแบบ OTA (Over The Air) ได้ในบางเวอร์ชัน และบางเวอร์ชันจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับพีซี
และเนื่องจากยังไม่เป็นแอนดรอยด์ 4.0 ทำให้ต้องมีการเพิ่มโหมด Data Moniter ไว้ช่วยแจ้งเตือนเมื่อใช้ปริมาณดาต้าไปถึงจำนวนที่กำหนดไว้ ช่วยให้ผู้ที่ใช้แพกเกจแบบนับปริมาณข้อมูล ไม่เกิดปัญหา โหมดวิทยุจำเป็นต้องใช้ร่วมกับหูฟัง และระบบ Connected Devices ที่นำ DLNA มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์เครือข่ายอื่นๆในวงเดียวกัน
มาถึงโหมดถ่ายภาพที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของเครื่องรุ่นนี้ จากความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ที่สามารถบันทึกวิดีโอความละเอียดสูงระดับ 1080p ได้ โดยมีการนำเทคโนโลยี Exmor R มาช่วยเพิ่มความคมชัดของภาพ โดยโหมดการใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นแบบอัตโนมัติ รองรับการตรวจจับรอยยิ้ม ใช้ถ่ายภาพพาโนราม่า รวมถึงภาพ 3D ก็ได้ด้วย
ทั้งนี้ ความพิเศษของกล้องโซนีคือ โหมดเปิดกล้องและถ่ายภาพความเร็วสูง โดยการกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ในมุมที่ต้องการ เมื่อเปิดโปรแกรมขึ้นมา โฟกัสเสร็จก็จะทำการถ่ายทันที ทำให้ไม่พลาดช็อตสำคัญที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และถือว่าเป็นการถ่ายรูปบนสมาร์ทโฟนที่เร็วที่สุดในปัจจุบัน
การเรียกดูภาพในอัลบั้มของ Xperia S นั้น มีโหมดที่เชื่อมต่อกับเฟซบุ๊ก ทำให้เรียกดูอัลบั้มภาพในเฟซบุ๊กได้ทันที (จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต) ขณะเดียวกันก็สามารถเล่นไฟล์วิดีโอจากหมวดนี้ได้เช่นเดียวกัน
ในส่วนของการตั้งค่าจะมีเพิ่มเข้ามานอกเหนือจากการตั้งค่าปกติของแอนดรอยด์คือเรื่องของ Xperia ส่วนอื่นๆก็คล้ายๆกับเครื่องรุ่นอื่นๆในตลาดอย่างการตั้งค่าการเชื่อมต่อ โทรศัพท์ เสียง หน้าจอ ความปลอดภัย จัดการแอปฯ ตั้งบัญชีผู้ใช้ หน่วยความจำ ภาษา คำสั่งเสียง โดยรุ่นนี้จะมาพร้อมกับแอนดรอยด์ 2.3.7 ที่สามารถอัปเกรดเป็น 4.0 ได้ในอนาคต
ภายใน Xperia จะมีให้เลือกตั้งค่าการเชื่อมต่อยูเอสบี เพื่อซิงค์ข้อมูล ตั้งค่าการเชื่อมต่อกับเฟซบุ๊ก ตั้งค่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการแต่ละค่าย นอกจากนี้ในส่วนของหน้าจอ ก็จะมีโหมด Mobile Bravia Engine ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแสดงผลของวิดีโอ ทั้งนี้ในส่วนของหน้าจอล็อกสกรีน ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้แจ้งเตือนสิ่งใดบ้าง
นอกจากนี้ก็ยังมีการเชื่อมต่อแบบ NFC ระบบช่วยขับเสียง xLoud ช่วยเพิ่มพลังเสียงให้กับลำโพงภายในเครื่อง ขณะที่หน่วยความจำภายในที่ให้มาอยู่ที่ 32GB นั้น จะเหลือพื้นที่ให้ใช้เก็บข้อมูลราว 25 GB ส่วนที่เหลือถูกแบ่งไปลง ROM และแอปพลิเคชัน
ส่วนของการเชื่อมต่อกับพีซีนั้น จะมี Sony PC Companion ที่ไว้ควบคุมการเชื่อมต่อทั้งการอัปเดตเฟิร์มแวร์ จัดการรายชื่อผู้ติดต่อ ซิงค์ข้อมูลมัลติมีเดีย สำรองข้อมูลจากสมาร์ทโฟนไปไว้ในคอมพิวเตอร์ ส่วนผู้ใช้งาน OS X จะเป็นซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Sony Bridge for mac แทน ซึ่งมีความสามารถคล้ายๆกัน แต่สามารถซิงค์เพลงกับ iTunes และภาพกับ iPhoto ได้
จุดขาย
- กล้องความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ที่มีเทคโนโยลี Exmor R ช่วยให้ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น และการจับโฟกัสที่รวดเร็ว
- โหมดถ่ายภาพเร็ว เพียงกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ และวางกล้องในมุมที่ต้องการ โดยไม่ต้องปลดล็อกเครื่อง
- โหมดตอบรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอก ที่สามารถตั้งได้ว่า เมื่อเสียบหูฟัง สายชาร์จ สายHDMI หรือแม้แต่หูฟังบลูทูธ จะให้รันแอปพลิเคชันตัวใดขึ้นมาทันที
- มี NFC รองรับการใช้งานในอนาคต หน้าจอความละเอียดสูง 720p
- TimeScape ไว้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิรืก และสนับสนุน Playstation Store ในอนาคต
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ฝาหลังที่ให้มาเพื่อเปิดใส่ซิมการ์ดเพียงอย่างเดียวค่อนข้างหลุดออกง่าย ทำให้เวลากระทบฝาหลังในมุมเฉียงขึ้น จะส่งผลให้ฝาหลังหลุดออกจากเครื่องได้ ในจุดนี้น่าจะนำช่องใส่ซิมการ์ดมาไว้ข้างตัวเครื่อง และเป็นฝาหลังแบบไม่สามารถแกะได้ไปเลยดีกว่า
- เนื่องจากตัวเครื่องใช้หน่วยประมวลผลดูอัลคอร์ 1.5 GHz และยังมีหน้าจอขนาด 4.3 นิ้ว ส่งผลให้กินพลังงานมาก ทำให้อาจใช้งานได้ไม่ถึงวัน ถ้าเชื่อมต่อ 3G / Wi-Fi
- ไม่มีเซ็นเซอร์ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ
- ปุ่มกดเมนู ย้อนกลับ และกลับสู่หน้าแรก ที่เป็นระบบสัมผัส กดยากเป็นบางครั้ง
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
ด้วยประสิทธิภาพและความสามารถกับราคาเปิดตัวที่ 17,900 บาท ซึ่งถือว่าไม่สูงจนเกินไปนั้น ทำให้ความต้องการของ Sony Xperia S ในตลาดมีค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องการผลิตสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้ในตลาดมีเครื่องรุ่นใหม่อย่าง HTC One X ที่เป็นควอดคอร์ เข้ามาวางจำหน่ายแล้ว จึงอาจส่งผลให้ความนิยมของ Xperia S ตกลงไปเพราะผู้บริโภคในระดับไฮเอนด์เพิ่มเงินราว 4,000 บาท ก็จะได้เครื่องซึ่อที่ใหม่กว่า
แต่ถ้ามองแล้วการใช้งานของผู้ใช้ทั่วๆไป ก็สามารถบอกได้ว่า Xperia S สามารถตอบสนองการทำงานได้แทบทุกอย่างที่สมาร์ทโฟนในโลกปัจจุบันทำได้ ซึ่งถ้าจะซื้อเพื่อใช้ยาวๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียว (ถ้าหาของได้)
ตัวเลือกอื่น
- Samsung Galaxy S2
- HTC One X
- iPhone 4S
Company Related Links :
Sony Mobile