อย่างที่รู้กันว่าซับแบรนด์อย่าง RAZR เป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ในอดีตอันรุ่งเรื่องของโมโตโรล่าในยุคโทรศัพท์ฝาพับ การนำซับแบรนด์นี้กลับมาใช้ใหม่ เพื่อสื่อถึงความบางเฉียบของสมาร์ทโฟน ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ของโมโตโรล่า จึงทำให้เกิดแอนดรอยด์โฟนที่น่าจับตามองในตลาดเป็นอย่างมาก
ถ้ามองโดยทั่วไปแล้ว สเปกของ Motorola RAZR นั้นแถบไม่แตกต่างจากไฮเอนด์แอนดรอยด์โฟนรุ่นอื่นๆในตลาดมากนัก เพราะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผลดูอัลคอร์ หน้าจอขนาดใหญ่ถึง 4.3 นิ้ว พร้อมใส่ความสามารถในการเชื่อมต่อ 3G ทุกคลื่นความถี่ ไวเลส บลูทูธ เข้ามาให้ใช้กันครบครัน
แต่จุดที่ทำให้ RAZR แตกต่างจากแอนดรอยด์โฟนรุ่นอื่นคงหนีไม่พ้นความบางของตัวเครื่องที่ 7.1 มม. อินเตอร์เฟสการใช้งานเฉพาะตัวที่พัฒนามาจาก 'Moto Blur' การใส่ความสามารถอย่าง 'Moto Cast' ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างระบบคลาวด์ส่วนตัวขึ้นมาใช้งานได้เองผสานกับการใช้งานกับทุกประเภทของไฟล์มัลติมีเดีย และระบบ 'Smart Actions' ที่นำโลเคชันเบส มาใช้ในการประหยัดพลังงาน
การออกแบบและสเปก
ก่อนถึงจะเข้าไปถึงฟีเจอร์ มาดูกันที่การดีไซน์ของ RAZR ซึ่งยังคงจุดเด่นในด้านความแข็งแรง ทนทาน ตามสไตล์ของโมโตโรล่า งานประกอบของเครื่องดูแน่นหนา แม้ว่าตัวเครื่องจะมีขนาด 130.7 x 68.9 x 7.1 มิลลิเมตร โดย 7.1 มม. จะเป็นจุดที่บางที่สุด ส่วนตรงขอบกล้องจะมีความหนาเกือบๆ 1 ซม. ซึ่งดูแล้วไม่บอบบางหรือหักง่ายแน่นอน ส่วนน้ำหนัก 127 กรัม นั้นถ้าถือใช้งานเครื่องเปล่าๆไม่ใส่เคสใดๆ ถือว่าค่อนข้างเบา
ด้านหน้า - ไล่กันจากส่วนบนจะมีแผ่นสแตนเลส ติดแบรนด์ 'Motorola' พาดอยู่บนช่องลำโพงสนทนา ถัดลงมาเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับแสง-ใบหน้า และกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล ถัดลงมาเป็นหน้าจอ Super AMOLED 16 ล้านสี ขนาด 4.3 นิ้ว ความละเอียด qHD (540 x 960 พิกเซล) ซึงใช้วัสดุเป็นกอลิล่ากลาสที่มีความแข็งแรง และป้องกันการขุดขีด ล่างหน้าจอ เป็นปุ่มควบคุมแบบสัมผัส 4 ปุ่ม ใช้สำหรับเรียกใช้งานเมนู กลับหน้าแรก (กดค้างเพื่อแสดงผลหน้าแรกทั้ง 5) ย้อนกลับ และปุ่มค้นหา (กดค้างเพื่อใช้คำสั่งเสียงได้)
ด้านหลัง - พื้นที่ส่วนใหญ่ของด้านหลังจะเป็นเคฟล่า ที่ให้ผิวสัมผัสคล้ายยาง แต่สามารถป้องกันรอดขีดข่าวเบาๆได้ ช่วยให้ตัวเครื่องเป็นรอยได้ยากขึ้น ตรงกลางมีสัญลักษณ์ติดอยู่ ส่วนบนที่นูนขึ้นมาเป็นที่อยู่ของกล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช โดยมีตัวอักษรระบุว่าสามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดสูง (HD) แบบ 1080p ได้ อีกมุมหนึ่งเป็นลำโพง ส่วนขอบล่างของเครื่องมีไมโครโฟนตัวที่ 2 ช่วยตัดเสียงรบกวน
ด้านบน - เป็นที่อยู่ของช่องเสียบหูฟัง และพอร์ตไมโครยูเอสบี สำหรับเสียบสายชาร์จ และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ด้านล่าง - ถูกปล่อยไว้เรียบๆ ด้านซ้าย - ตรงขอบล่างจะมีช่องใส่ซิมการ์ด และไมโครเอสดีการ์ด เนื่องจากตัวเครื่องไม่สามารถถอดฝาหลังเพื่อเปลี่ยนแบตฯได้ ด้านขวา - มีปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง
สำหรับสเปกภายในของ RAZR หรือในชื่อรุ่นว่า XT910 จะใช้หน่วยประมวลผลดูอัลคอร์ 1.2 GHz RAM 1 GB หน่วยความจำภายใน 16 GB ซึ่งจะแบ่งไปใช้สำหรับลงแอปฯ 4 GB เป็น WebTop ในกรณีที่เชื่อมต่อกับฐานคีย์บอร์ดและหน้าจอ 4 GB ทำให้มีพื้นที่เหลือใช้งานภายในราว 8 GB สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้ โดยมีแบตเตอรีขนาด 1780 mAh อยู่ภายใน
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ-ทดสอบประสิทธิภาพ
ในส่วนของฟีเจอร์หลักๆใน RAZR นั้นถือว่าเป็นรุ่นที่มีการพัฒนามาจาก Atrix และ Defy ค่อนข้างมาก ไล่กันตั้งแต่ในส่วนของอินเตอร์เฟสการใช้งาน ที่นำชื่อ Blur ออกไป แต่ยังคงคอนเซปต์การใช้งานที่ง่าย และเป็นไปตามมาตรฐานของแอนดรอยด์ คือมีหน้าจอหลัก 5 หน้าให้ผู้ใช้งานเลือกนำวิตเจ็ตมาใส่เพื่อใช้งาน
โดยวิตเจ็ตหลักๆที่แนะนำให้ใช้คือส่วนของ รายชื่อผู้ติดต่อสำคัญ ที่สามารถกดนิ้วค้างไว้เพื่อดูรายชื่อที่เหลือได้ ตารางนัดหมายที่จะแสดงข้อมูลในวันนั้นๆ การแสดงผลโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่รวมทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เข้าด้วยกัน และวิตเจ็ตสำหรับเปิดปิดการใช้งานเชื่อมต่อต่างๆ โดยในที่นี้สามารถเลือกปิดการใช้งานดาต้าได้ด้วย
การปรับแต่งวิตเจ็ตทำได้โดยการสัมผัสค้างไว้ที่หน้าจอ ผู้ใช้สามารถเลือกใส่วิตเจ็ต ไอคอนลัด สร้างโฟลเดอร์ เปลี่ยนภาพพื้นหลังจากจุดนี้ได้ทันที ในส่วนของการปรับแต่งไอค่อนลัด สามารถเลือกไอคอนมาแทน 3 ไอคอนหลักด้านล่างได้ตามความต้องการยกเว้นริมขวาสุดที่ใช้สำหรับดูแอปพลิเคชันทั้งหมด หรือถ้าต้องการลบไอคอน หรือ วิตเจ็ตให้ทำการลากขึ้นไปยังรูปถังขยะด้านบน
ในจุดนี้ถ้ามีการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ จะมีระบบแจ้งเตือนขึ้นมาว่าจะทำการซิงค์ข้อมูลในรูปแบบใด เช่น การเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ปกติ การซิงค์กับวินโดวส์ มีเดีย เข้าสู่หน่วยความจำภายในเครื่อง และชาร์จไฟเพียงอย่างเดียว
สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาในเครื่องจะประกอบไปด้วย บัญชีผู้ใช้ นาฬิกา เว็บเบราว์เซอร์ เครื่องคิดเลข ปฏิทิน กล้อง รายชื่อผู้ติดต่อ สิ่งที่ดาวน์โหลดมา อีเมล การเข้าถึงไฟล์ ตั้งค่าแฟลช แกลลอรี่ จีเมล ค้นหา ละติจูด แผนที่ แอนดรอยด์มาเก็ต ข้อความ กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต เครื่องเล่นเพลง ข่าวสารพยากรณ์อากาศ โทรศัพท์ Smart Actions โซเชียลโลเคชัน โซเชียลเน็ตเวิร์ก TaskManager สิ่งที่ต้องทำ คำสั่งเสียง และยูทูบ
โดยในส่วนนี้ผู้ใช้สามารถกดค้างที่แอปฯเพื่อส่งไอค่อนลัดไปยังหน้าจอหลัก หรือเพิ่ม Group แบ่งตามประเภทของแอปฯ หรือแม้แต่สามารถซ่อนแอปฯที่ไม่อยากให้คนอื่นเข้าได้ด้วย อีกจุดที่น่าสนใจคือสามารถเอียงเครื่องเพื่อใช้งานเมนูในแนวนอนได้ด้วย
ความสามารถของ Blur ที่เหลือมาใน RAZR หลักๆคงหนีไม่พ้นระบบการซิงค์ข้อมูลกับบัญชีการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อีเมลขององค์กร อีเมลทั่วไป เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ เว็บไซต์ฝากรูป โปรแกรมแชต และยูทูบ ทำให้การใช้งานฟีเจอร์ต่างๆในเครื่องสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ออนไลน์ได้ด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดของ RAZR คงหนีไม่พ้นระบบ Moto Cast ที่เหมือนกับเป็นการสร้างคลาวด์เซิฟเวอร์ส่วนตัวไว้บนคอมพิวเตอร์ของตัวเอง โดยใช้บัญชีอีเมล หลังจากนั้นมาล็อกอินเข้าใช้งานที่สมาร์ทโฟน ทั้งคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ก็จะสามารถเข้าถึงไฟล์มัลติมีเดียต่างๆที่ตั้งแชร์ไว้ได้ ซึ่งตรงจุดนี้สามารถประยุกต์ไว้ใช้ในกรณีที่ลืมไฟล์ไว้ที่คอมพ์ที่ออฟฟิศ หรือที่บ้าน ถ้าได้ตั้งค่าให้แชร์ไฟล์ที่ต้องการไว้ และเครื่องเปิดอยู่ ก็จะสามารถเข้าถึงไฟล์เหล่านั้นได้ทันที
ภานในแกลลอรี สามารถเลือกได้ว่าจะดูภาพ-วิดีโอ จากกล้องภายในเครื่อง หรือจากอัลบั้มของเพื่อนในเครือข่ายสังคม และรูปภาพที่อยู่บน Moto Cast นอกจากนี้การถ่ายภาพยังมีการบันทึกพิกัดทิ้งไว้ พร้อมกับความสามารถแชร์รูปผ่านวิธีการต่างๆ ทั้งเครือข่ายสังคม โปรแกรมแชต และอีเมล
ถัดมาในส่วนของเครื่องเล่นเพลง ก็สามารถเลือกได้ว่าจะเล่นเพลงจากในเครื่อง ผ่าน Podcast วิทยุผ่านอินเทอร์เน็ต หรือจากเซอร์เวอร์ DLNA ของเครือข่ายไวเลสที่เชื่อมต่ออยู่ ความพิเศษของเครื่องเล่นเพลงใน โมโตฯ ที่มีมาตั้งแต่สมัย Defy คือการแสดงเนื้อร้องของเพลง และเข้าไปดูรายละเอียดของศิลปิน แชร์เพลงที่ฟังไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่มีข้อแม้ว่าตัวเครื่องต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา
การตั้งค่าในส่วนของเครื่องเล่นเพลงยังมีที่น่าสนใจคือระบบเสียง ที่สามารถตั้งไว้ให้เป็น เสียงสามมิติ โฮมเธียร์เตอร์ เวทีแสดงสด หรือปรับแต่งตามความต้องการได้ด้วยตนเอง ในส่วนของอีควอไลเซอร์ก็มีให้เลือกแบบเบสหนักมาก เบสนิดหน่อย ธรรมดา เสียงใส หรือเน้นเสียงนักร้องก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถตั้งเวลาปิดเครื่องเล่นเพลง เปิด-ปิดการดาวน์โหลดข้อมูลนักร้อง และเข้าไปตั้งค่าการแชร์ไฟล์มัลติมีเดียผ่านระบบ DLNA ได้ในจุดนี้
แอปฯที่ติดมาในเครื่องและน่าสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้น Smart Actions ที่ทางโมโตฯภูมิใจว่าจะช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 50% ถ้ามีการตั้งค่าที่ถูกต้อง ก่อนหน้านี้ผู้ใช้แอนดรอยด์หลายคนอาจคุ้นเคยกับแอปฯ Locale ที่ใช้พิกัดจีพีเอส ในการจดจำและตั้งค่าต่างๆของเครื่องตามแต่ละที่อยู่ แต่ Smart Actions เหนือกว่านั้นตรงที่บางคำสั่งไม่ต้องยึดคิดกับพิกัด
วิธีการใช้งานที่ง่ายที่สุด เริ่มต้นเลยคือกดเครื่องหมายบวกที่มุมขวาบน หลังจากนั้นเลือกการตั้งค่าจากตัวอย่าง เลือกกฏ ตามสถานที่ หรือ ประเภทที่ต้องการ หลังจากนั้นผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกเพิ่มชุดคำสั่ง ให้ปรับลดเสียง ลดความาว่างหน้าจอ ปิดจีพีเอส เลิกใช้การเชื่อมต่อดาต้า เป็นต้น ทั้งนี้ ถ้าไม่ต้องการใ้ช้ชุดคำสั่งใด ก็สามารถกดเพื่อยกเลิกชั่วขณะได้
ดังนั้น แอปฯนี้จะช่วยได้ทั้งการประหยัดแบตเตอรี ลดค่าใช้งานดาต้า (ถ้าไม่ได้ใช้แบบไม่จำกัด) ช่วบปรับระบบเสียงตามสถานที่ อย่างเวลาอยู่ที่ทำงาน ไม่ต้องการเปิดเสียงก็ตั้งให้เมื่อเข้าในพื้นที่นี้แล้วใช้ระบบสั่นเป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถตั้งให้เปิดแอปฯอ่านข่าวในตอนเช้า ตั้งค่าแบบโคตรประหยัดแบตฯ หรือประยุกต์ใช้ตามไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้เอง
Task จะเป็นบันทึกสิ่งที่ต้องทำ ที่สามารถใส่รายละเอียด วัน เวลา สถานที่ ตั้งเตือน เลือกระดับความสำคัญได้ เมื่อสิ่งใดทำเสร็จแล้วก็สามารถกดติ้กถูกเพื่อให้ทราบว่าทำไปแล้วได้
Task Manager เป็นแอปฯที่ช่วยจัดการแอปพลิเคชันบางตัวที่มีการทำงานเบื้องหลังที่ไม่จำเป็น สามารถกดสั่งได้ว่าถ้าเปิดแอปฯนี้ เมื่อเลิกใช้แล้วให้ปิดแอปฯทันที ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ RAM ในเครื่องไม่ถูกใช้ไปกับแอปฯที่ไม่จำเป็น ซึ่งส่งผลให้การตอบสนองของเครื่องช้าลง
คำสั่งเสียงที่มีมาให้ การตอบรับคำสั่งถือว่าค่อนข้างง่าย เพียงแต่ในการใช้งานอาจต้องปรับรายชื่อ เพลยลิส ให้กลายเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยเบื้องต้นสามารถสั่งให้โทร ส่งข้อความ เข้าแอปฯ ดูรายชื่อ โทรซ้ำ สั่งเล่นเพลง ได้
Social Location เป็นแอปฯที่นำสถานที่เด่นๆในเครือข่ายสังคมมาให้ผู้ใช้ได้ค้นหาสถานที่ใกล้ตัว อย่างเช่นในหัวข้อร้านกาแฟ เมื่อเข้าไปก็จะแสดงร้านกาแฟในสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น Starbuck เนื่องจามีฐานข้อมูลที่ค่อนข้างแน่นอนในหลายๆประเทศ
ทีนี้มาดูในส่วนของการตั้งค่ากัน แม้ว่าตัวเครื่องจะเป็นแอนดรอยด์เวอร์ชัน 2.3.5 แต่ทางโมโตฯเองก็ได้มีการใส่ฟีเจอร์ที่ไว้ควบคุมปริมาณการใช้งานาต้า (Data Manager) มาให้ด้วย ส่วนอื่นๆก็ไม่แตกต่างจากแอนดรอยด์รุ่นอื่นในท้องตลาด ที่มีให้ตั้งค่าไล่ตั้งแต่การเชื่อมต่อ โทรศัพท์ เสียง หน้าจอ ดูแบตฯ HDMI โลเคชันและความปลอดภัย บัญชีผู้ใช้ จัดการแอปฯ หน่วยความจำ ภาษา คำสั่งเสียง วันเวลา แน่นอนว่า RAZR มาพร้อมฟีเจอร์ในการเป็นโมบายฮ็อตสป็อตด้วย
อย่างที่เกริ่นไปว่า Data Manager สามารถควบคุมการใช้งานดาต้าได้นั้น กล่าวคือเมื่อเข้ามาภายในฟีเจอร์นี้ ผู้ใช้สามารถเลือกตั้งได้เลยว่า จะให้เครื่องใช้งานดาต้าผ่านเครือข่ายมือถือหรือไม่ เปิดการใช้งานดาต้าขณะโรมมิ่งหรือไม่ และการใช้งานดาต้าเบื้องหลัง ที่สามารถเลือกปิดได้ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปดูว่าในช่วงที่ผ่านมาใช้งานดาต้าไปจำนวนเท่าใด ซึ่งจะแสดงเป็นกราฟแท่ง แต่ถ้าต้องการดูว่าใช้งานประเภทใดไปบ้าง ก็จะเป็นกราฟวงกลมแบ่งตามประเภทการใช้งานให้ดูกัน
ขณะที่ Data Saver ที่เมื่อเปิดใช้งานจะเข้าไปจำกัดการเชื่อมต่อผ่านเว็บเบราว์เซอร์ แกลลอรี อีเมล และมาเก็ต ให้ทำงานเมื่อเชื่อมต่อกับไวไฟ ส่วนเครือข่ายสังคม ก็สามารถเลือกให้เชื่อมต่อเฉพาะตอนใช้ไวไฟได้เช่นเดียวกัน และยังมีส่วนที่ให้ผู้ใช้เข้าไปปรับการซิงค์ข้อมูลอีเมลให้ประหยัดมากขึ้นได้ด้วย
การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน สามารถใช้งานแฟลชได้ แสดงผลได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน ความรู้สึกขณะใช้งานลื่นไหลดี และยังมีฟีเจอร์ในการใช้งานแบบไม่ระบุตัวตน สลับหน้าเว็บที่เปิดได้ตามปกติ
โหมดกล้องของ RAZR ทำออกมาให้ใช้งานค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน กล่าวคือมีปุ่มให้กดเข้าไปปรับแต่งค่าอย่าง ความละเอียดรูป บันทึกพิกัด เลือกฉาก ใส่เอฟเฟกต์ ปรับความสว่าง แฟลช เท่านั้น มุมขวาก็จะเป็นปุ่มชัตเตอร์ ที่มีปุ่มให้เลือกสลับกล้องหน้า-หลัง และโหมดวิดีโอ
ทดสอบประสิทธิภาพเครื่องด้วย Quadrant คะแนนออกมาอยู่ที่ 1444 คะแนน ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย เกือบเท่ากับหน่วยประมวลผลแบบคอร์เดียว ขณะที่ BenchMarkPi อยู่ที่ 594 AnTuTu 2.5 ได้ 5,969 คะแนน NeoCore ได้ 59.5 FPS ส่วน NenaMark 1 และ 2 ได้ที่ 48 และ 27.4 FPS ตามลำดับ ตัวหน้าจอสามารถรับสัมผัสได้ 10 จุดพร้อมกัน
จากความละเอียดหน้าจอแบบ qHD ทำให้หน่วยประมวลผลดูอัลคอร์ และการ์ดจอที่ใช้ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการแสดงผลไม่ได้ลดลง ในการทดสอบสามารถเล่นไฟล์ความละเอียด 1080p ได้สบายๆ เกมในแอนดรอยด์มาเก็ตแบบความละเอียดสูงไม่ต้องพูดถึง เพราะสามารถเล่นได้ทุกเกมแน่นอน ดังนั้นสเปกเท่านี้ถือว่าเกินพอในการใช้งานแล้ว
จุดขาย
- ความบางของตัวเครื่อง ที่มาพร้อมกับความแข็งแกร็งสไตล์โมโตฯ หน้าจอกอลิล่ากลาส ฝาหลังเคฟล่า แม้จะมีส่วนกล้องที่ยื่นออกมา แต่ช่วยทำให้สามารถจับเครื่องได้ถนัดขึ้น ไม่กลัวตก
- ฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับบริการโดยรวม 'MotoCast' 'Smart Actions' 'Data Saver' ช่วยเพิ่มความง่ายในการใช้งาน
- สเปกภายในอยู่ในระดับไฮเอนด์ เพียงแต่ยังต้องรอการอัปเกรดเป็นแอนดรอยด์ 4.0 ที่จะเพิ่มความสามารถให้มากขึ้น
- แบตเตอรี 1780 mAh ที่ให้มา สามารถใช้งานได้แบบไม่ต้องกลัวหมดระหว่างวัน (ใช้งานทั่วๆไป ต่อ 3G ตลอดเวลา เปิดซิงค์อีเมล โซเชียลเน็ตเวิร์ก)
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- หน้าจอ SuperAMOLED ให้สีสดใส แต่จอติดเหลืองเวลาลดความสว่างหน้าจอลง ทำให้ถ้าต้องการจอขาวๆ ต้องเปิดความสว่างสูงสุด (แต่ก็ยังออกเหลืองนิดๆ) ซึ่งเครื่องล็อตแรกๆที่ทีมงานเช็คดูเป็นหมดกันเกือบหมดทุกเครื่อง
- การโฟกัสในโหมดกล้อง ยังมีจังหวะที่ไม่ลงตัว ภาพที่ถ่ายในเวลากลางวันแสงจะค่อนข้างเพี้ยนเล็กน้อย และไม่มีให้ปรับ White Balance แต่คาดว่าเป็นที่ความผิดพลาดของเฟิร์มแวร์ เพราะเปรียบเทียบกับวิดีโอความละเอียดสูงที่ออกมา ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์แบบ
- ตัวเครื่องขาดฟังก์ชัน NFC ทำให้เมื่อเทรนด์การใช้ NFC เข้ามาในไทย (อาจไม่ใช่ปีนี้) ผู้บริโภคอาจต้องเปลี่ยนเครื่องที่รองรับ
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
RAZR กับราคาเปิดตัว 18,900 บาท ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่เปิดตัวในปลายปีที่แล้วได้ค่อนข้างหน้าสนใจ จากชื่อชั้นความเป็นแบรนด์โมโตโรล่า สเปกของตัวเครื่องที่เปิดออกมาถือว่าอยู่ในระดับสูง เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้กลายเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในระดับราคาเกือบ 2 หมื่นบาท
ในเรื่องของดีไซน์ ผู้ที่ต้องการเครื่องหน้าจอใหญ่ พร้อมกับความบางและความแข็งแรง ถือว่าเป็นตัวเลือกในอันดับต้นๆได้เลย เพียงแต่อุปกรณ์เสริมอย่างเคส อาจหายากในตลาดเล็กน้อย เนื่องจากสินค้ายังไม่ค่อยแมส ในแง่ของบริการหลังการขาย ดำเนินการณ์โดย SIS ที่เรียกว่าเป็นผู้กุมตลาดสมาร์ทโฟนในไทย ที่มีความเชี่ยวชาญสูง
ถ้าตัดความต้องการเรื่อง NFC ออกไปเชื่อว่า RAZR เป็นเครื่องที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ครบครัน และยังได้รับความยืนยันว่าสามารถอัปเกรดเป็น แอนดรอยด์ 4.0 ภายในไตรมาสนี้ ยิ่งทำให้ความน่าสนใจของ RAZR เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบัน ธุรกิจโมบิลิตี้ของโมโตโรล่า กำลังมาอยู่ใต้ธงของกูเกิลแล้ว ถ้าต้องการเครื่องดีกว่านี้ก็จะเป็นในแง่ของ 3D มากกว่า
ตัวเลือกอื่น
- Samsung Galaxy Nexus 19,900
- HTC Sensation XE 18,900
- iPhone 4S เริ่มต้น 21,700
Company Related Links :
Motorola