xs
xsm
sm
md
lg

Review : Acer Iconia Tab a200 ปรับนิดแต่งหน่อยตามสมัยนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




กลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ขยันออกแท็บเล็ตออกมาชิงตลาด กับรุ่นล่าสุดอย่าง Acer Iconia Tab a200 ที่ทำสเปกรุ่นเก่าอย่าง a500 มาปรับปรุง พร้อมทำดีไซน์ใหม่ ให้ออกมาขายพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 (Ice Cream Sanwich) โดยมีจุดโดดเด่นที่พอร์ตยูเอสบีอเนกประสงค์

การออกแบบและสเปก



ด้วยความที่มีข้อจำกัดในแง่ของขนาดหน้าจอที่ 10.1 นิ้ว และความหนาของพอร์ตยูเอสบี ทำให้ดีไซน์ของตัวเครื่องถูกจำกัด ประกอบกับด้วยความที่เป็นแบรนด์คอมพิวเตอร์ จึงให้ความรู้สึกหนักแน่น แทนความเพรียวบาง โดยมีลูกเล่นที่สีของฝาหลังเป็นหลัก

ด้านหน้า - ที่เห็นเป็นหลักคือหน้าจอทัชสกรียนขนาด 10.1 นิ้ว ที่ให้ความละเอียด 1280 x 800 พิกเซล โดยมีกล้องวิดีโอคอลล์ความละเอียด 2 ล้านพิกเซลอยู่ด้านบน และโลโก้ Iconia อยู่มุมขวาบน ส่วน Acer อยู่ล่างหน้าจอ



ด้านหลัง - ถูกออกแบบให้มีลวดลายตามสไตล์เอเซอร์ โดยมีโลโก้ขนาดใหญ่แปะอยู่ตรงกลาง และมีลำโพงอยู่มุมล่างทั้ง 2 ฝั่งซ้าย และ ขวา



ด้านซ้าย - ประกอบไปด้วยปุ่มเปิดเครื่อง พอร์ตไมโครยูเอสบี สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ พอร์ตยูเอสบีอเนกประสงค์ ที่ใช้ต่อทั้งคีย์บอร์ด เมาส์ จอยเกม แฮนดี้ไดร์ฟ ออปติคัลไดร์ฟ เอ็กเทอร์นอลฮาร์ดดิสก์ ทั้งหลายได้หมด ข้างๆกันที่เป็นลักษณะฝาพลาสติกปิดอยู่ จะเป็นช่องเสียบไมโครเอสดีการ์ดสำหรับเพิ่มหน่วยความจำ และปุ่มรีเซ็ตเครื่อง




ด้านขวา - เป็นช่องเสียบสายชาร์จซึ่งแยกออกมาจากพอร์ตไมโครยูเอสบีปกติ ด้านบน - มีปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มสำหรับล็อกหน้าจอไม่ให้หมุนตามเวลาเอียงเครื่อง



สำหรับสเปกภายในของ Acer Iconia a200 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0.3 ทำงานบนหน่วยประมวลผล Tegra 2 ดูอัลคอร์ 1 GHz หน่วยประมวลผลภาพ Adreno 220 RAM 1 GB เครื่องที่ได้มาทดสอบหน่วยความจำภายใน 16 GB เหลือให้ใช้เก็บข้อมูลราว 12 GB (ส่วนเครื่องที่ขายจะเป็นรุ่น 32GB) รองรับการเชื่อมต่อไวไฟมาตรฐาน 802.11 b/g/n

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



เริ่มต้นกันที่หน้าจอหลักกับอินเตอร์เฟส ที่ผู้ใช้สามารถเลือกนำวิตเจ็ต หรือไอคอนลัดมาใส่ตาม 5 หน้าจอหลัก ซึ่งสามารถแสดงผลได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน โดยมีปุ่มย้อนกลับ โฮม และดูแอปพลิเคชันที่ใช้งานล่าสุดอยู่มุมซ้าย ส่วนมุมขวาก็ยังคงเป็นแถบแจ้งเตือนตามมาตรฐานของแอนดรอยด์แท็บเล็ต



ส่วนที่มีเสริมเข้ามาคือไอคอนลัดให้ผู้ใช้เลือกกันตั้งแต่หน้าปลดล็อกหน้าจอ รวมถึงการกดปุ่มสีเขียวที่อยู่ส่วนล่างตรงกลางหน้าจอ เพื่อเรียกเมนูพิเศษขึ้นมาเลือกปรับระดับเสียง เลือกค้นหา หรือเข้าแอปฯผ่านไอคอนลัดทั้ง 4 รวมถึงการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ที่บุ๊กมาร์คเอาไว้



ถัดจากนั้นก็มีแอปฯในการจัดการไฟล์อย่าง Astro ที่สามารถเรียกข้อมูลจากแฮนดี้ไดร์ฟได้ทันที โปรแกรมฟังวิทยุออนไลน์ Aupeo ตัวจัดการเอกสาร DocsToGo ที่จดโน้ตบนระบบคลาวด์ Evernote และโปรแกรมพื้นฐานทั่วไปอย่างเว็บเบราว์เซอร์ เครื่องคิดเลข ปฏิทิน กล้อง นาฬิกา อีเมล ดูรูปภาพ อ่านอีบุ๊ก แผนที่ มาเก็ต ฟังเพลง ตัดต่อภาพยนตร์ การตั้งค่า เครือข่ายสังคม และ TegraZone



ภายใน Tegra Zone อย่างที่รู้ๆกันว่าจะมีข้อมูลของเกม และแอปพลิเคชัน ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพบนเครื่องที่ใช้หน่วยประมวลผล Tegra ซึ่งสามารถเข้าไปดู และเลือกดาวน์โหลดแอปฯที่ต้องการได้ทันที หลังจากนั้นจะรีไดเรคไปยังหน้าแอนดรอยด์มาเก็ตทีหลัง




ในส่วนของ Media Server เป็นการเปิดใช้งานระบบ DLNA ในการแชร์ภาพ วิดีโอ เพลง จากเครื่องเข้าไปยังเครื่องลูกข่ายอื่นๆในวงเน็ตเวิร์กเดียวกัน ซึ่งตรงจุดนี้จะลิงก์ไปยังการใช้งานระบบ ClearFi ที่เอเซอร์คิดค้นขึ้นมาให้ใช้งานระหว่างอุปกรณ์พกพาในแบรนด์เอเซอร์



SoundHound แอปฯที่ช่วยฟังบทเพลง จะค้นหาชื่อเพลง ชื่อนักรักจากเพลงดังกล่าวออกมา หลังจากนั้นสามารถเข้าไปดูรายละเอียด หรือลิงก์ไปยังยูทูปเพื่อฟังเพลงที่ค้นหาได้ทันที ถือเป็นแอปฯยอดนิยมที่เริ่มดังมาตั้งแต่สมัยยุคแรกของแอนดรอยด์

ส่วนที่เหลืออย่าง Social Jogger ที่ไว้แสดงผลเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ สามารถย้อนกลับไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่แท็บเล็ตรุ่น a100 / a500 ซึ่งความสามารถและ ความสะดวกในการใช้งานแทบไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่าเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น



การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ที่ให้มา มีความเร็วในการประมวลผลมากขึ้นเมื่อเทียบกับแอนดรอยด์ เวอร์ชันก่อนๆ รูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับ Chrome ในพีซีมากขึ้น สามารถเพิ่มหน้าต่างในการท่องเน็ตได้จากส่วนบนสุด เข้าไปตั้งค่าการใช้งานได้ที่มุมขวาบน สามารถแสดงผลแฟลชได้ตามปกติของแอนดรอยด์



ขณะที่โหมดกล้องนั้น เนื่องจากมีให้เพียงกล้องหน้าเท่านั้น ส่งผลให้สามารถใช้ถ่ายตัวเองเป็นหลักเพราะคงไม่มีใครยืนหันหลังถ่ายรูป แต่แน่นอนว่ายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแอปฯวิดีโอคอลล์อื่นๆอย่างสไกป์ ทำให้สามารถสนทนาแบบเห็นหน้าได้ การใช้งานกล้องก็ง่ายๆมีเพียงปุ่มถ่ายรูปสีฟ้าอยู่มุมขวา แถบซูมแบบวงล้อ และเลือกเข้าไปตั้งค่ากล้องได้จากเครื่องหมายตั้งค่าบริเวณนั้น



การตั้งค่าภายใน ICS จะแบ่งแยกออกเป็น 4 ส่วนชัดเจนคือในเรื่องของการเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะเป็นไวไฟ บลูทูธ และข้อมูลการใช้งานดาต้า รวมถึงการเชื่อมต่อรูปแบบอื่นๆ สามารถเข้าไปตั้งได้ในส่วนนี้ ถัดมาคือส่วนของตัวเครื่อง ไว้ตั้งเสียง หน้าจอ จัดการหน่ายความจำ ดูแบตเตอรี และจัดการแอปฯ อีกส่วนหนึ่งคือการตั้งค่าส่วนบุคคล ที่เป็นส่วนในการควบคุมบัญชีผู้ใช้ ตั้งความปลอดภัยในการใช้งาน GPS ใส่รหัสผ่านสำหรับใช้เครื่อง สุดท้ายคือการตั้งค่าระบบ อย่างวันเวลา โหมดนักพัฒนา และดูข้อมูลเครื่อง



Data Usage ที่ให้มาใน ICS คงไม่มีประโยชน์เท่าไหร่เนื่องจากตัวเครื่องไม่สามารถเชื่อมต่อกับ 3G ได้ แต่จะถือว่าเป็นประโยชน์ในกรณีที่นำแอร์การ์ดมาใช้เชื่อมต่อ ทำให้สามารถดูปริมาณข้อมูลที่ใช้งานได้



ในการตั้งค่าวงแหวน ทั้งในหน้าจอล็อก และการใช้งานปกติ สามารถเลือกเข้าไปตั้งได้ที่ Ring ในส่วนของตั้งค่า แน่นอนว่าสามารถเลือกปิดการใช้งาน หรือเลือกแอปฯมาใส่ได้ทั้ง 4 จุดบนวงแหวนได้ง่ายๆทันที

จุดขาย

- จุดขายหลังของ a200 คงหนีไม่พ้นเรื่องของราคาเครื่อง เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ให้มา ด้วยกำหนดราคาขายที่ 12,900 บาท กับรุ่น 32GB
- พอร์ตยูเอสบีสารพัดประโยชน์ที่ให้มา ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้คล่องตัวมากขึ้น
- ระบบ ClearFi ทำให้สามารถส่งต่อภาพ เสียง วิดีโอ ไปเล่นยังอุปกรณ์อื่นๆในเครือข่ายได้
- หน้าจอความละเอียด 1280 x 800 พิกเซล รองรับการเล่นไฟล์มัลติมีเดียแบบไฮเดฟฟินิชัน 720p

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

- ตัวเครื่องค่อนข้างหนา เนื่องจากมีพอร์ตยูเอสบีอยู่ด้วยทำให้ไม่สามารถทำให้ตัวเครื่องบางไปกว่านี้
- ไม่มีเวอร์ชันที่รองรับการใช้งาน 3G ทำให้ต้องหาแอร์การ์ดมาเสียบในพอร์ตยูเอสบี หรือปล่อยไวไฟจากสมาร์ทโฟนแทน ในพื้นที่ที่ไม่มีไวไฟ

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป



ด้วยความที่เป็นแท็บเล็ตหน้าจอ 10 นิ้วที่มาพร้อมกับ Ice Cream Sanwich โดยกำเนิด ทำให้ความสามารถและประสิทธิภาพในการใช้งาน Iconia a200 ถือว่าครอบคลุม และน่าจะตอบโจทย์การใช้งานได้ครบ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการท่องเว็บ มัลติมีเดีย และยิ่งสามารถเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดด้วยแล้ว การใช้ทำงานก็ไม่ยุ่งยากจนเกินไป

ซึ่งด้วยสเปก Tegra2 ที่ให้มากับหน่วยความจำภายใน 32GB แถมยังใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้อีก สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ a200 กลายเป็นอีกหนึ่งแท็บเล็ตที่น่าสนใจ ถ้าไม่คำนึงถึงความบางของตัวเครื่อง และแบรนด์ที่มาจากเหล่าผู้ผลิตโน้ตบุ๊ก

ตัวเลือกอื่น
- Apple iPad 2
- Asus EeePad Tranformer
- Samsung Galaxy Tab 10.1

Company Related Links :
Acer





กำลังโหลดความคิดเห็น